“ลุงไพศาล” ฟันเปรี้ยง “กวิ้น-รุ้ง” ลิเกลวงโลก กิน “มาม่า-นม-โอวัลติน” ไม่มีทางตาย อย่านำไปเทียบ คานธี “อดีตรองอธิการ มธ.” แนะดู “หมอลำแบงค์” เป็นตัวอย่างได้ประกัน “อดีตเพื่อนทอน” เล่านิยายแพะแกนนำราษฎร กับ “ลี้ภัยล้มเจ้า”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 เม.ย. 64) จากกรณีที่ แกนนำม็อบราษฎร 2563 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เรียกร้องต่อความอยุติธรรมด้วยการอดอาหาร โดยมีการอ้างถึงการอดอาหารของมหาตมะ คานธี นั้น
ต่อมา เฟซบุ๊ก Paisal Puchmongkol ของ นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“เลิกเล่นลิเกลวงโลกหลอกเด็กกันได้แล้ว!!!! มาม่าก็ดี นมก็ดี โอวัลตินก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นอาหาร!!!! แม้น้ำเกลือก็เป็นอาหาร!!! ถ้ายังเสพของเหล่านี้ ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่า อดอาหาร!!!!!
แม้การกินอาหารเช้า เที่ยง และเว้นในยามวิกาล ก็ไม่ใช่การอดอาหาร!!! เป็นแค่การเว้นการกินเป็นบางมื้อ ซึ่งผู้ที่ต้องการลดความอ้วน หรือต้องการรักษาโรคบางชนิด หรือแม้แต่สามเณรน้อยก็ปฏิบัติกันโดยทั่วไป!!!! พวกลูกคู่ พอได้แล้วครับ คนรู้ทันกันหมดแล้ว!!!! แผนการที่คิดจะหากินกับศพโดยอุ่นเครื่องปลุกกระแสมาเป็นระยะๆ นั้น มีแต่จะหลงหลอกตัวเอง!!!
เพราะคนทั้งหลายย่อมทราบและรู้ทันเป็นอย่างดี ว่า ไม่มีใครอดตายในเรื่องนี้หรอก และการกระทำเช่นนี้ ก็ไม่มีทางกดดันศาลสถิตยุติธรรมได้เลย มีแต่จะเกิดความสมเพชเวทนา และการเย้ยหยันเท่านั้น
และอย่าแอบอ้างไปเปรียบเทียบกับการอดอาหารของมหาตมะ คานธี เลย
อายเขา!!!! เพราะมหาตมะ คานธี นั้น ได้อดอาหารเพื่อประเทศชาติและมาตุภูมิของตน ให้พ้นจากแอกอันหนักของอังกฤษ ที่สวมให้กับชาวอินเดียทั้งประเทศ ไม่ได้อดอาหารเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนคนเดียว เหมือนที่ทำกันอยู่
หยุดเถิด เสียเวลาเปล่า”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ของเพนกวิน ทนายความคณะก้าวหน้า และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เพนกวินขอปฏิเสธที่จะร่วมอยู่ในขบวนการพิจารณาคดี และขอถอนทนายความออกจากการพิจารณาคดี ด้วยเหตุผลว่า ไม่ได้รับโอกาสตามสิทธิที่จะหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
มารดาของเพนกวินก็ยังคงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ให้เหตุผลว่า เพนกวินสุขภาพไม่ดี เป็นโรคหอบหืด เมื่ออดอาหาร ร่างกายอ่อนแอ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และได้ยื่นเงื่อนไขว่า หากได้รับการปล่อยตัว จะนำเพนกวินเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพนกวินมีความสบายใจ และสามารถจำกัดบริเวณไม่ให้ออกไปนอกเขตโรงพยาบาล เมื่อสุขภาพดีเหมือนเดิมแล้ว ศาลจะสั่งให้กลับมาจำคุกต่อก็ได้
ศาลอาญายังคงยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ด้วยเหตุผลเดิม คือ ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ในขณะที่ เพจคณะราษฎร วานนี้ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ช่วยกันเตือนศาลให้ทำตามกฎหมาย” ประหนึ่งว่า การที่ศาลยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวิน เป็นการไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบไม่ยอมเข้าใจเสียทีว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งยังไม่สิ้นสุด ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในทุกกรณี โดยไม่ต้องมีการวินิจฉัยใดๆ
ตรงข้าม กฎหมายได้ระบุหลักเกณฑ์ให้ศาลวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยไว้อย่างชัดเจน
ในที่นี้ จึงต้องขอนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 และ 108/1 มาให้ดูกันอีกครั้งดังนี้
มาตรา ๑๐๘ ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(๑) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(๒) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(๓) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(๔) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(๕) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(๖) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(๗) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
มาตรา ๑๐๘/๑ การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
ที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ศาลจะต้องวินิจฉัยตามกรอบนี้ นั่นคือ ตามมาตรา 108 และ 108/1 เช่น มีพยานหลักฐานที่ปรากฏค่อนข้างชัด และเชื่อว่าอาจจะหลบหนี หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น ซึ่งก็คือการไปทำผิดตามมาตรา 112 และ 116 อีก ตามที่ทนายความให้สัมภาษณ์ เพนกวินมีคดีเฉพาะตามมาตรา 112 ร่วม 20 คดีแล้ว
ดังนั้น การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา 108 และ 108/1 ด้งกล่าว ไม่ใช่ไม่ทำตามกฎหมายแต่อย่างใด
ความจริง เมื่อนึกถึงหลักมนุษยธรรม ก็ยอมรับว่า อยากให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินเหมือนกัน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวิธีอดอาหารประท้วง แต่ต้องด้วยวิธีใดก็ตามที่จะทำให้ศาลเชื่อว่า จำเลยจะไม่ออกไปทำผิดอีก และจะไม่หลบหนี เช่นเดียวกับที่หมอลำแบงก์ที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว
ตัวอย่างกรณีของหมอลำแบงค์ แสดงว่า การขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงอย่ามุ่งแต่จะเอาชนะคะคาน ลดทิฐิลง อย่าทำตามความต้องการของนักการเมืองบางกลุ่ม บางคน เพราะเขาไม่ได้มาร่วมติดคุกด้วย
การต่อสู้เพื่อให้ประเทศดีขึ้น สังคมดีขึ้น ไม่ต้องใช้วิธี หมิ่น ล้อเลียน และย่ำยีองค์พระมหากษัตริย์ และไม่จำเป็นต้องยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่ทำได้มากมาย หากมีความหวังดีต่อประเทศชาติจริง
อย่าได้ลืมว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แสดงเจตนาชัดว่า จะไม่ยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ต้องการล้ม หรือจะเรียกว่าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนภารกิจมาเป็นการค้นหาความบกพร่องในการทำงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงการขุดคุ้ยหาข้อมูล การทุจริตคอร์รัปชัน (หากมี) รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่ต้องรอให้บทเฉพาะกาลหมดอายุลง รับประกันว่า จะได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นมากมาย
นี่เป็นความเห็นที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และอยู่บนพื้นฐานของความไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิด และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกิดด้วยประการทั้งปวง.”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol ของนายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตเพื่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“แพะ กับคนเลี้ยงแพะ ผมมีโอกาสอยู่ในเรือนจำในช่วงเวลาหนึ่งจากคดีก่อการร้าย เอาเข้าจริงคือถูกถอนประกัน เหมือนคณะราษฎรนั่นละครับ
มีผู้ต้องขัง (นักโทษ) มาคุยกับผมมากพอสมควร หลายคนบอกตัวเองเป็น “แพะ” รับบาปคนอื่น น้อยนักจะยืนหยัดว่าตนเองผิด แพะรับบาปมีอยู่จริง และเป็นข้อบกพร่องหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ยังไม่สามารถปฏิรูปกฎหมายได้
มีประเด็นน่าสนใจ คือ แพะ ย้อม แพะ กรณีคณะราษฎร ถ้ามองในเชิง รัฐศาสตร์การเมือง เหมือนเขาเป็น “แพะ” ของความคิด และความเชื่อจากทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งคนเลี้ยงแพะ หนีออกนอกประเทศ ทำให้แพะถูกจับเข้ากรง แพะในกรงก็บอกคนเลี้ยงไม่ผิด ตัวที่ผิดคือ “กฎหมาย” “กฎหมายกลายเป็นแพะของคนเลี้ยงแพะและของแพะอีกชั้นหนึ่ง”
พอแพะถูกจับเข้ากรง คนเลี้ยงแพะและแพะเอง ก็พยายาม รณรงค์ว่า ที่ถูกจับเพราะ กฎหมายผิด ไม่ใช่แพะผิด หมายถึง โยนความคิดให้กฎหมายเป็น “แพะ” แล้ววิธีการรณรงค์คือ แพะอดกินอาหารแพะ
ผมว่า แพะไม่ได้รับบาป แค่ชั้นเดียวหรอก แพะในกรง ยังถูกคนเลี้ยงนอกกรงผสมสีย้อมแพะอีกชั้นหนึ่งด้วย มันเหมือนเข้าตาจน แพะหนีไม่รอด เพราะถูกจับแล้วปล่อยหลายครั้งสุดท้ายเลยถูกเข้าคอกยาว แต่ไปโทษคนจับ ไปโทษกฎหมาย ไม่โทษตัวเอง โดยอ้าง เสรีภาพ ทำอะไรก็ได้ สุดท้าย คนเลี้ยงแพะใช้เงื่อนไขแพะไม่กิน..... มาต่อรองกับคนนอกฟาร์มให้ปล่อยตัวแพะ
เผลอๆ แอบคิดว่า เป็นแพะจากอเมริกาหรือไม่ด้วยซ้ำไปโอ้ย เบื่อเรื่องแพะ
สุดท้ายก็คนเลี้ยงแกะ หรือไม่ก็คนขี่หลังเสือ ลงไม่ได้ ลงไม่เป็น”
แน่นอน, เรื่องแกนนำคณะราษฎร อย่าง เพนกวิน รุ้ง และพวก ไม่ได้ประกันตัว เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็น “เกม” ที่ถูกกำหนดมาแล้ว หรือไม่ และบังเอิญว่า ศาลไม่มีทางเลือก จึงทำให้เรื่องนี้ไปเข้าทาง
เห็นได้จากแกนนำคณะราษฎร และอีแอบอยู่เบื้องหลัง น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า การทำผิด เมื่อถูกปล่อยตัว แล้วไปทำผิดซ้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก (เพนกวิน มีคดี ม.112 ถึง 20 คดี) ในที่สุดศาลอาจไม่ให้ประกันตัว อย่าบอกนะว่า ในฝ่ายพวกเขาไม่มีนักกฎหมายมือดี เพราะดูเหมือนระดับอาจารย์ทั้งนั้น
ดังนั้น หมากเกมนี้ จึงต้องการให้ผู้คนในสังคมไทย และสังคมโลกเห็นว่า เมื่อเป็นคดีแบบนี้ ศาลจะไม่ให้ประกัน หรือ มีคนนอกสั่งมา อย่างที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ใน กมธ.การกฎหมายฯ งับเอาข้อมูลเท็จจาก “สมศักดิ์ เจียม” ล้มเจ้าตัวพ่อ มาหารือใน กมธ. เพื่อเรียกประธานศาลฎีกา มาชี้แจง จนถูกหลายฝ่ายออกมาห้ามปรามว่า ไม่มีอำนาจ เพราะกฎหมายแบ่งแยกอำนาจกันชัดเจน ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับตุลาการ เห็นหรือยังว่า มีความพยายามจะเล่นเกมป้ายสีเจ้า แทรกแซงศาลหรือไม่
เหมือนวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก อ้างอิงเท็จ ของฝ่าย “ล้มเจ้า” ที่พยายามจะบิดเบือนว่า เจ้าแทรกแซงทางการเมืองมาตลอดและทำมานานแล้ว แต่ถูกจับได้เสียก่อน
แต่ปรากฏว่า เกมมีคนนอกสั่ง ไม่ได้ผลตามคาดหมาย ก็เลยหันมาเล่นเกมใหม่ ด้วยการให้แกนนำบางคนอดอาหาร เพื่อที่จะตีวัวกระทบคราด ว่า กลุ่มคนที่ไม่ให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎร ที่ต้องคดี ม.112 อำมหิตแค่ไหน ซึ่งถ้าเกิดมีเหตุไม่คาดฝัน (อาจมีคนแอบหวัง) แกนนำเสียชีวิต หมากเกมนี้ก็จะถูกขยายผลไปทั่วโลกทันที
แล้วก็ยิ่งชัดเจน เมื่อมีการนำไปเปรียบเทียบกับ “คานธี” เห็นหรือยังว่า ใครกันแน่ที่ “อำมหิต” และถ้าไม่รู้เท่าทันเกม คิดดูว่าใครจะตกเป็น “แพะ” รับบาปความอำมหิตจากเกมนี้!?