xs
xsm
sm
md
lg

“หมอลำแบงค์”คืนชีวิต “เพนกวิน”ยังชนกำแพง !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม - พริษฐ์ ชิวารักษ์
เมืองไทย 360 องศา


เห็นความเคลื่อนไหวในสื่อโซเชียลฯ ของกลุ่มโพสต์ข้อความถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ผู้ต้องหาคดี 112 หลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปติวัฒน์ สาหรายแย้ม หรือ "หมอลำแบงค์" ให้สัมภาษณ์หลังศาลให้ประกันตัวชั่วคราวว่า "ผมเหมือนตายแล้วได้คืนชีพ ทำให้ต้องรับเงื่อนไขของศาลที่ห้ามชุมนุม ห้ามพูดถึงสถาบันฯ"

โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อเวลา 21.30 น. กลุ่มเพื่อนหมอลำแบงค์ จังหวัดขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมผูกแขนเอิ้นขวัญ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยมีเงื่อนไขห้ามไปร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันฯ

แน่นอนว่า นี่คือการลิ้มรสของอิสรภาพของ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการละเมิดพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมข้อหาอื่นอีกหลายคดี แต่เขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาระหว่างการต่อสู้คดี ขณะที่ที่เหลืออีกกว่ายี่สิบคน ศาลยกคำร้องต้องถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

แม้จะเป็นอิสรภาพแบบชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดี แต่อย่างน้อยการได้ “ลิ้มรสอิสรภาพ”แม้จะเพียงแค่สักกี่วันก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ อย่างไรก็ดีเพื่อทบทวนความจำ ก็ต้องย้อนแบ็กกราวด์ที่มาก่อนที่เขาจะได้รับการประกันตัวออกมา เนื่องจากได้ยืนยันและรับเงื่อนไขต่อศาลว่าหากได้รับการประกันตัวออกมาจะไม่เคลื่อนไหวชุมนุม และไม่พูดจาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะใช้เวลาระหว่างนี้ประกอบอาชีพโดยสุจริตตามปกติต่อไป หากผิดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ก็ยินดีให้ศาลถอนประกันได้

ก็ตามที่ทราบกันว่า นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์”ได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 9 เมษายน ดังกล่าว ขณะจำเลยที่เหลือ ที่เป็นชุดเดียวกัน เช่น นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน”และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่แม้ตอนแรกจะยืนยันต่อศาลว่า จะไม่เคลื่อนไหวหรือพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตอนหลังได้มีการเคลื่อนไหวบางอย่างจนศาลยกคำร้อง

ในส่วนของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 แม้จะให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนขอปล่อยชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ศาลนัดสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อ 287/2564 จำเลยที่ 4 และที่ 7 และ ทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีเพียงจำเลยที่ 3 และทนายความจำเลยที่ 3 เท่านั้น ที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ และรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 8 เมษายน 2564

ทั้งทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 นำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนข้อความเพิ่มเติม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ระบุว่า "ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 22 ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา" กับมีพฤติการณ์ จะไม่ยอมไปกำหนดวันนัดสืบพยาน ที่ศูนย์นัดความ และยื่นคำร้องขอถอนทนายความ ทำให้การกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ข้อความและคำแถลงของ จำเลยที่ 4 และที่ 7 ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ต่อศาลได้ ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 4 และที่ 7 ชั่วคราว ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 และที่ 7

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีของ สองจำเลย คือ นายจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แม้คราวนี้จะได้ไม่ได้รับการประกันตัว จะด้วยเกิดการเปลี่ยนใจจากข้อมูลจาก “ทนายความ”ที่ผิดพลาดหรือ อาจเกรงจะ “เสียแนวทาง”หลักการของตัวเองก็สุดแล้วแต่ จึงมีการเปลี่ยนใจ หักเหในนาทีสุดท้ายก็ตาม แต่ก็เริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าหากต้องการได้รับการประกันตัวออกมา ควรต้องมีวิธีการอย่างไร ดังกรณีของ “หมอลำแบงค์”เป็นตัวอย่างหรือไม่

ขณะที่ต้องงโฟกัสไปที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน”ที่ตามข้อมูลบอกว่า ได้อดอาหารมาร่วมเดือนแล้ว แม้หลายคนจะมองว่า “ไม่สุดจริง”เพราะยังดื่มนม น้ำเกลือแร่ และน้ำ ไม่เหมือนนักต่อสู้บางคนที่ “ดื่มแต่น้ำ”เท่านั้น แต่ประเด็นก็คือ เขายังเลือกใช้วิธีแบบนี้มาต่อรองกับศาล กดดันให้ได้รับการประกันตัว ซึ่งไม่น่าจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากท่าทียังอ้างถึงสิทธิของจำเลย ที่ย้ำว่า ตัวเองยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินคดีให้มีความผิด ซึ่งก็อาจจะใช่ แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด เป็นความจริงแค่เสี้ยวเดียว เพราะต้องพิจารณาในองค์ประกอบอื่นด้วย เพราะหากปล่อยไปแล้วยังกระทำในลักษณะเดิม สร้างความวุ่นวายปั่นปวน ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัวได้

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาจากสังคมภายนอกแล้ว แทบจะไม่มีใครสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขาเลย ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอารมณ์ทั่วไปยามนี้แล้ว ต่อให้อดอาหารไปอีกหลายเดือน มันก็ยิ่งเหมือนกับเดินชนกำแพงมีแต่ทางตันสถานเดียว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น