xs
xsm
sm
md
lg

“โม่งสามนิ้ว” ป่วน ดิสเครดิตศาล !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล - รังสิมันต์ โรม
เมืองไทย 360 องศา



ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ กับ “แผนร้าย” ของคนที่เรียกว่า “ไอ้โม่ง” ที่ชักใยกลุ่ม “ม็อบสามนิ้ว” ที่เป็นพวก “แกนนำเด็กๆ” ออกมาเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่ามีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และแม้ว่าที่ผ่านมาบรรดาแกนนำม็อบจะถูกดำเนินคดี และศาลยกคำร้องไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากจำเลยพวกนี้มีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวกฎหมาย กระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว นั่นคือ มีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิม โดยเฉพาะพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันฯ อยู่ตลอดเวลา

ล่าสุด พวกเขาก็ได้เปลี่ยนเป้าหมายการโจมตี พุ่งมาที่ “สถาบันศาล” ซึ่งหลายคนก็ย่อมดูออกว่ามีเจตนา “กระทบชิ่ง” ไปถึงใคร
ก่อนหน้านี้ ความเคลื่อนไหวในลักษณะ “ดิสเครดิตศาล” เริ่มเห็นภาพชัดจากการโพสต์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาคดีความผิดตาม มาตรา 112 ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ที่อ้างรายงานลอยๆ แบบ “ไร้หลักฐาน” ว่า ที่ประชุมศาลมีการถกเถียงกันในเรื่อง “ใบสั่ง” ห้ามประกันตัวแกนนำม็อบสามนิ้ว
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกล มีลักษณะเหมือนกับ “ไอดอล” ของพวกแกนนำม็อบสามนิ้ว และหลายเรื่องมาจากการให้ข้อมูลจากเขา แต่คนในสังคมมองว่าเป็นลักษณะของการป้อนข้อมูลบิดเบือน จงใจใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการโพสต์ดังกล่าวของนายสมศักดิ์ ในโลกโซเชียลฯ โดยเฉพาะในหมู่ “สาวกสามนิ้ว” ต่างมีการแชร์ข้อความดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง
จนต่อมา โฆษกศาลยุติธรรม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล ต้องออกมาชี้แจงว่า การประชุมใหญ่ของศาลฎีกา จะมีวาระพิจารณาอยู่ 2 ประเภท คือ ภารกิจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการประชุมใหญ่ที่มีการกล่าวว่าเป็นการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น จะเป็นครั้งล่าสุด ที่มีการกำหนดวาระการประชุมไว้เพียง 2 วาระ คือ การพิจารณาคัดเลือกกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการ
“และอีกวาระ เป็นการพิจารณาข้อกฎหมายในคดีที่จะต้องอาศัยการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยมีผู้พิพากษาที่ปฏิบัติงานในศาลฎีกาเข้าประชุมจำนวน 245 คน ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ และเป็นการประชุมลับ ซึ่งไม่มีการพูดคุยหรือหารือกันเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด อีกทั้งในวันดังกล่าวได้มีการลงคะแนนลับของผู้พิพากษาในศาลฎีกา เพื่อเลือกกรรมการสรรหาฯ โดยไม่มีการลงมติในเรื่องอื่นใดอีกทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องราวตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลฯ จึงไม่เป็นความจริง เป็นการบิดเบือน และให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ศาลเป็นคู่กรณีกับฝ่ายต่างๆ” โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ
อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ยังมีการขยายความต่อเนื่อง ล่าสุด นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็นกรรมาธิการ กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงที่สภาโดยพยายามอ้างรายงานในที่ประชุมศาลฎีกา ว่า “มีการสอบถามถึงเรื่องไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา (จำเลย) โดยมีการอ้างว่าประธานศาลฎีกา ระบุว่า มีบุคคลภายนอกสั่งมา” แม้ว่าในการแถลงดังกล่าวจะพยายามเลี่ยงว่า ที่ผ่านมา มีการแถลงชี้แจงจากโฆษกศาลยุติธรรมไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ระบุว่า เป็นการชี้แจงที่สั้นเกินไป
ในฐานะ ส.ส.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบทุกดุลอำนาจ รวมทั้งศาลว่าได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระหรือไม่ จึงได้นำประเด็นนี้ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ขอให้เชิญประธานศาลฎีกา หรือตัวแทนมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เบื้องต้นท่าทีโดยรวม ยังไม่มีใครปฏิเสธ ต่างเห็นว่าเป็นประเด็นใหญ่ และเรื่องนี้ยังเป็นโอกาสดี ถ้าศาลจะมาชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัย
“เรื่องนี้ยังต้องนำหารือต่อกรรมาธิการอีกครั้ง เพราะกรรมาธิการยังไม่มีมติว่าจะรับ หรือไม่รับ จะมีการพิจารณาเรื่องของผมในวันที่ 1 เม.ย. คงต้องติดตามกันต่อไป เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจกับสังคม และเป็นโอกาสอันดีหากศาลชี้แจง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ต่อความเป็นอิสระของศาล หากประชาชนไม่เชื่อถือ ก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้” นายรังสิมันต์ โรม กล่าว
แน่นอนว่า แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ว่า นี่เป็นความพยายามขยายความ และสร้างกระแส เพื่อดิสเครดิตศาลยุติธรรม โดยดึงศาลลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของคนพวกนี้ก็จะเข้าใจความเชื่อมโยงกันได้ไม่ยาก และถือว่า “แผนตื้นมาก” เพราะในการแถลงของ นายรังสิมันต์ ก็เพียงแค่ “ตีปี๊บ” ไม่ได้หวังผลให้ประธานศาลฎีกาต้องมาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการแต่อย่างใด เพราะเขาก็บอกอยู่แล้วว่า ที่ประชุมกรรมาธิการยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่เป้าหมายที่ต้องการก็คือมุ่งไปที่ศาล ต้องการดิสเครดิตนั่นเอง ลักษณะก็ไม่ต่างจากการ “พูดโพล่งขึ้นมาแบบลอยๆ” เพื่อทำลายโดยอ้างเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น
อีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับการ “แบล็กเมล์” หรือ “บีบบังคับศาล” กรณีที่ยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี ของบรรดาแกนนำสามนิ้ว โดยพยายามอ้างว่า คนพวกนี้ “ไม่มีเจตนาหลบหนี” แต่ความหมายก็คือ “หากประกันตัวออกไปแล้วยังไม่หยุดพฤติกรรมจาบจ้วง ย่ำยีความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่” ต่างหาก รวมไปถึงคนพวกนี้ไม่หยุดเคลื่อนไหวที่ท้าทายกฎหมาย สร้างความวุ่นวาย ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจของศาลที่สามารถใช้ดุลพินิจได้
และที่ผ่านมา จำเลยบางคนยังมีพฤติกรรมที่ละเมิดอำนาจศาล มีพฤติกรรมเหิมเกริมในห้องพิจารณาคดี จากกรณีตัวอย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” จนถูกสั่งขังเป็นเวลา 15 วันมาแล้ว และมีการอดอาหาร แต่ดื่มน้ำ นม และน้ำเกลือแร่ จนกว่าศาลจะให้ประกันตัว ซึ่งมองว่าเป็นการต่อรองศาล
ดังนั้น พิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของพวกเขาที่สอดรับกัน รับลูกดันเป็นทอดๆ แต่ก็มองออกได้ไม่ยากว่าเจตนาคือ “ดิสเครดิตศาล” ดึงศาลยุติธรรมลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง อีกทั้งยังมีเจตนาอันโหดร้าย นั่นคือ ต้องการ “กระทบชิ่ง” ไปถึงใคร อีกด้วย !!



กำลังโหลดความคิดเห็น