xs
xsm
sm
md
lg

“โรม” รับลูก “สมศักดิ์ เจียม” จ่อคุย กมธ.เชิญ ปธ.ศาลฎีกา แจงคนนอกสั่งคดี 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล จ่อหารือ กมธ.กฎหมายฯ เชิญ ปธ.ศาลฎีกาชี้เเจงปมความเป็นอิสระของศาล หลัง “สมศักดิ์ เจียม” โพสต์เฟซบุ๊กอ้างมีบุคคลภายนอกสั่งคดี ม.112 พร้อมเผยตรวจสอบผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติดี ขอ จนท.อย่ายืนชิดตอนขึ้นศาล ย้ำควรได้ประกัน

วันนี้ (31 มี.ค.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นสืบเนื่องจากนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสร์ ที่หลบหนีคดีไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อ้างว่านางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ถูกตั้งคำถามจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าเพราะเหตุใดจึงยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎร เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน จะไม่ให้ปล่อยตัวได้อย่างไร โดยประธานศาลฎีกาตอบว่า “มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที” ขณะที่การออกมาแถลงชี้แจงแทนโดยโฆษกศาลยุติธรรมก็ไม่มีเหตุผลรองรับมากเพียงพอ จนเกิดเป็นคำถามว่าศาลทำหน้าที่เป็นอิสระหรือไม่ และข้อกล่าวหาที่ได้รับก็ไม่รู้ว่ามีมูลความจริงเพียงใด

นายรังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นมีเพียงการชี้แจงอธิบายอย่างสั้นและไม่มีรายละเอียดพอ โดยเราในฐานะสภาผู้แทนราษฎรที่จะใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติตรวจสอบ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจกับสังคมได้ และเป็นโอกาสอันดีหากศาลชี้แจงได้ และยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่เพราะเป็นเรื่องความเป็นอิสระของศาล

“นี่คือโอกาสที่ศาลยุติธรรมจะได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการและสังคม จึงได้เสนอให้ กมธ.เชิญนางเมทินี ชโลธร ประธานฎีกา หรือผู้แทนมาชี้เเจงข้อเท็จจริง หากศาลสามารถชี้แจงโดยสิ้นข้อสงสัยก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.กฎหมายฯ ยังไม่มีมติว่าจะรับหรือไม่ โดยจะหารือในวันพรุ่งนี้ (1 เม.ย.) อีกครั้ง ซึ่ง กมธ.กฎหมายฯ จะต้องทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบเพื่อแก้ไขข้อสงสัยให้แก่ประชาชนให้กระจ่าง และเป็นประโยชน์ต่อบทบาทและภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการอย่างเต็มที่”


นายรังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ความเป็นอิสระของศาลถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากประชาชนไม่เชื่อถือ ความยุติธรรมก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่ว่าสภาใหญ่กว่าศาล หรือศาลใหญ่กว่า แต่คณะกรรมาธิการฯ สามารถเรียกมาชี้แจงได้ซึ่งเป็นตามอำนาจทางรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่สามารถบังคับมาได้

นอกจากนี้ รังสิมันต์ยังได้กล่าวถึงผลหลังจากที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนได้พูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายจุตภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 ถึงความเป็นอยู่และสภาพชีวิตในเรือนจำ โดยระบุว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ตามมาตรฐานของเรือนจำเหมือนกับผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับนายจตุภัทร์ผ่านวิดีโอคอลประมาณ 1 นาที แต่ไฟดับก่อนจึงไม่ได้พูดอะไรต่อ โดยตนได้สอบถามเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานเรือนจำที่ปฏิบัติเหมือนกันทุกคน ส่วนประเด็นการตรวจโควิด-19 รอบค่ำนั้นคงไม่มีแล้ว เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิ และเรือนจำจะนำไปปรับปรุงต่อไป

ขณะเดียวกันยังได้พูดคุยกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ สอบถามถึงวิธีการคุมตัวผู้ต้องขังไปขึ้นศาลว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จึงต้องยืนอยู่ในระยะประชิด พร้อมกับเสนอขอให้อยู่ในระยะสายตาได้หรือไม่ เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องได้ยินการสนทนาที่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยทางรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือ

สำหรับกรณีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ทางกรมราชทัณฑ์เองก็มีความกังวลถึงสภาพร่างกายของนายพริษฐ์ที่อ่อนแอจากการอดอาหาร ส่วนตัวจึงมองว่าทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมขัง และขอให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิการประกันตัวออกมา เพราะการประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่าข้อกล่าวหาต่างๆ จะหมดไป ส่วนใหญ่ที่เห็นผู้ได้รับการประกันตัวไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขอลี้ภัย และจากประสบการณ์ส่วนตัวเคยเห็นผู้ต้องขังที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน สุดท้ายก็ยอมรับสารภาพแต่ไม่ใช่เพราะยอมรับว่ากระทำผิด เพียงแต่กระบวนการทำให้ต้องยอมจำนนซึ่งแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือไม่

“ที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มคนที่เรียกร้องและต่อสู้ทางประชาธิปไตยหลบหนีคดี กระบวนการที่ต้องให้เขาสารภาพโดยความจำนน เราเรียกว่าความยุติธรรมหรือเปล่า ผมคิดว่าเราควรให้เขาได้สิทธิและเสรีภาพ และสู้คดีอย่างเต็มที่” นายรังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง วานนี้ (30 มี.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงกรณีที่ปรากฏข้อความเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลเฟซบุ๊กบิดเบือนเกี่ยวกับการไม่ให้ประกันตัวแกนนำม็อบคณะราษฎร จนทำให้ประชาชนหมดศรัทธาซึ่งพาดพิงถึงการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาว่า การประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจะมีวาระพิจารณาอยู่ 2 ประเภท คือ ภารกิจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการประชุมใหญ่ที่มีการกล่าวว่าเป็นการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นจะเป็นครั้งล่าสุดที่มีการกำหนดวาระการประชุมไว้เพียงวาระการพิจารณาคัดเลือกกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการและวาระอื่นเป็นการพิจารณาข้อกฎหมายในคดีที่จะต้องอาศัยการลงมติของที่ประชุมใหญ่

ศาลฎีกาโดยมีผู้พิพากษาที่ปฏิบัติงานในศาลฎีกาเข้าประชุม จำนวน 245 คน ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้และเป็นการประชุมลับ ซึ่งไม่มีการพูดคุยหรือหารือกันเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด อีกทั้งในวันดังกล่าวได้มีการลงคะแนนลับของผู้พิพากษาในศาลฎีกาเพื่อเลือกกรรมการสรรหาๆ โดยไม่มีการลงมติในเรื่องอื่นใดอีกทั้งสิ้น

ดังนั้น เรื่องราวตามที่มีการเผยแพรในสื่อโซเชียลจึงไม่เป็นความจริง เป็นการบิดเบือนและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ศาลเป็นคู่กรณีกับฝ่ายต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น