ข่าวปนคน คนปนข่าว
**เส้นทางแกนนำเยาวรุ่น 3 นิ้ว รวมคดีแล้วงานนี้ยาวไป ขณะที่ “เพนกวิน” ดิ้นอีกเฮือก ขออดข้าวประท้วงในคุก จะปลุกขึ้นมั้ย ?
มีความชัดเจนถึงเส้นทางของแกนนำม็อบคณะราษฎร เมื่อศาลได้รวมสำนวนคดีในส่วนของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 4 คน กับสำนวนในส่วนของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” กับพวกรวม 18 คนแล้ว เป็นคดีเดียวกัน
จากนี้ไปคงมองกันได้ว่า บรรดาเหล่าแกนนำ “เยาวรุ่น” ตามภาษา “พระมหาเทวีเจ้า” เน็ตไอดอลว่าไว้ ก็คงวนๆ เวียนๆ สู้คดีกันยาวไป แต่ละคนก็เป็นคดีความกันไม่ใช่น้อย นี่ก็ต้องดูกันไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ระหว่างนี้ กลุ่มที่ถูกคุมขังก็ต้องพยายามแสดงสัญลักษณ์สื่อออกมาให้พรรคพวกข้างนอกได้รับรู้ อย่างเช่น “เพนกวิน” ประกาศอดอาหารประท้วงความไม่เป็นธรรม จะทำจนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว
พลันที่ “ชาว 3 นิ้ว” ทราบข่าวก็พากันเป็นห่วง หัวอกคนเป็นแม่ อย่าง “สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์” มารดาเพนกวิน ถึงกับรู้สึกตกใจมาก เพราะกังวลเรื่องสุขภาพลูกชายอยู่แล้ว
ว่ากันว่า “เพนกวิน” ได้พูดคุยกับแม่ว่าในขณะที่อยู่ในเรือนจำไม่รู้ว่าจะต้องแสดงสัญลักษณ์การเรียกร้องอย่างไร จึงเลือกวิธีนี้ เพราะเป็นหนึ่งในสันติวิธี
นี่ก็ต้องดูว่า หลังจาก “เพนกวิน” นอนคุก ประกาศอดข้าวประท้วงนี้จะปลุกม็อบที่อยู่ในสถานการณ์ง่อนแง่นเต็มที ที่ขาดผู้นำ ไหนจะบรรดา “เซเลบ-แม่เลี้ยง” ยังทะเลาะกันเรื่อง “เงินบริจาค” จะปลุกขึ้นมั้ย
ดูๆ ไปแล้วชั่วโมงนี้ ม็อบ 3 นิ้ว ก็น่าจะปลุกยากหน่อย อาจจะมีความเคลื่อนไหวมวลชนอยู่บ้าง ก็เชื่อว่า ไม่ระคายผิว “รัฐบาลลุงตู่” แถมจะเป็นคุณต่อรัฐบาลอีกต่างหาก ที่ยิ่งเคลื่อนไหวก็ยิ่งสะท้อนว่า ความกักขฬะไร้เหตุผลของม็อบ ทำให้สังคมมองรัฐบาลดีขึ้น
ขณะที่ แกนนำเยาวรุ่นส่วนใหญ่ ถูก “บ่วงคดี” รัดคอเกือบหมดแล้ว กดดันให้สังคมประณาม บรรดา “ผู้ใหญ่” อีแอบที่อยู่เบื้องหลังเด็กที่ยังเสวยสุขนั้น จะถูกกลุ่มที่เคยเชียร์เลิกสนับสนุนในที่สุด
นี่ย่อมไม่ใช่การเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม หากเป็นเรื่องของกฎหมายที่กำลังดำเนินไปตามตัวบท
ผู้ใหญ่ 3 นิ้ววันนี้ ดูเด็กๆ เดินเข้าคุกอย่างใจดำอำมหิต มีใครบ้าง? นี่คงไม่ต้องให้เอ่ย..ก็รู้ๆ กันดีทั้งนั้น
** เกมแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกช่องไหนล้วนเข้าทาง “ลุงตู่” ยิ่งม็อบ 3 นิ้ว หันมาร่วมกดดันยิ่งสำเร็จยาก
จากกรณีที่ประธานรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) ทำได้หรือไม่นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เป็นคำวินิจฉัยฉบับย่อ แค่ประมาณ 4 บรรทัด ที่ทำให้นักกฎหมาย และสมาชิกรัฐสภาตีความแตกต่างกันไป จนกลายเป็นประเด็น “ดรามา” ที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย
ส.ส.พลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ผู้เสนอญัตตินี้ต่อสภา เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สภากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งผ่านวาระ 2 และกำลังจะพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ถ้าจะแก้ต้องกลับไปตั้งต้นที่การทำประชามติก่อน
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วน เห็นว่า สามารถเดินหน้าลงมติวาระ 3 ได้ ถ้าผ่านแล้วจึงไปทำประชามติ ว่า จะให้มี ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่ ... เพราะการแก้มาตรา 256 ยังถือว่าเป็นการแก้รายมาตราที่รัฐธรรมนูญให้ทำได้
แม้แต่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำตัวโลว์โปรไฟล์ หายหน้าหายตาไปนาน ยังออกมาแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกคนมองตรงกันว่า อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะครอบคลุมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้จะไม่ครบทุกหมวดก็ตาม เป็นอำนาจของประชาชน...
สิ่งที่รัฐสภากำลังดำเนินการมาจนถึงการโหวตวาระ 3 ถือว่ายังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่า จะมีกลไกในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรเท่านั้น การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงประชามติ หลังโหวตวาระ 3 ผ่านแล้ว ซึ่งตรงกับคำวินิจฉัย ที่ให้ทำประชามติก่อนมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ประชาชนต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่...
“อภิสิทธิ์” บอกว่า การที่มีคนพยายามตีความว่า ต้องทำประชามติ ก่อนมีการแก้มาตรา 256 ทำให้เกิดคำถามว่า อำนาจแก้รัฐธรรมนูญ เป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ ทำได้ 2 วิธี คือ ทำตามมาตรา 256 ที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ และตามมาตรา 166 ซึ่งเป็นอำนาจของ ครม. ดังนั้น ใครที่ตีความว่าสภาต้องถามประชาชนก่อน จึงมีคำถามว่า สภาจะเอาอำนาจอะไรไปทำประชามติ และถ้าบอกว่า สภาไม่ต้องทำ ให้ ครม.ทำ ก็มีคำถามว่าโดยหลักการ สภาบังคับ ครม.ได้หรือไม่ และถ้า ครม.บอกว่าไม่ทำ ก็มีคำถามอีกว่าไม่เป็นการผิดหลักการหรือ เพราะกลายเป็นว่าอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไปอยู่ในมือของครม. จึงเห็นว่าการไปตีความว่าต้องทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการนั้น ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มออกมาแล้ว โดยมีใจความสำคัญว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องอยู่ภายในกรอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี หมวด 15/1 เปิดช่องยกร่างใหม่ เป็นการแก้หลักการสำคัญที่ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครอง มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนจัดทำร่าง ว่า อยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่ แล้วจึงมาดำเนินการยกร่าง เมื่อเสร็จก็ต้องทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาว่าเห็นชอบหรือไม่
แต่ปัญหาข้อถกเถียงเรื่องจะต้องทำประชามติก่อนเริ่มต้นแก้ไข หรือเดินหน้าโหวตวาระ 3 เมื่อผ่านแล้วจึงทำประชามติ ก็ยังคงมีความเห็นต่างกันอยู่ ยังไม่มีข้อยุติ
ต้องไม่ลืมว่า ในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ของการแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีปัจจัยอื่นที่มาเกี่ยวข้องอยู่ ...อย่างกฎหมายการทำประชามติ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสภา ยังไม่เสร็จ... หรือถ้ามีการโหวตวาระ 3 ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะผ่านฉลุย เพราะมีสัญญาณจาก ส.ว.บางส่วนออกมาแล้วว่าจะต้อง “คว่ำ” ด้วยเห็นว่าการให้ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อไปยกร่างใหม่นั้น เหมือน “ตีเช็คเปล่า” ไม่รู้ว่า ส.ส.ร.จะไปแก้หมวดใด มาตราใดบ้าง อาจจะไปแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็เป็นได้
ครั้นจะไปแก้รายมาตรา อย่างเช่น แก้เรื่องบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวกลับไปเป็น 2 ใบ หรือมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. โอกาสที่จะสำเร็จยิ่งริบหรี่
ที่ผ่านมานั้น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เหมือนอยู่ในสภาพ “ลอยตัว” ไม่เคยออกมาขวางการแก้รัฐธรรมนูญ มีแต่บอกว่าเป็นเรื่องของสภาที่จะไปดำเนินการ จะทำอย่างไรก็ไปว่ากันมา
การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดอยู่นี้ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ล้วนเข้าทาง “ลุงตู่” ทั้งสิ้น เพราะขั้นตอนการทำประชามตินั้น ต้องใช้เวลา และเมื่อถึงเวลาการทำประชามติกันจริงๆ ก็ใช่ว่าจะผ่านไปได้โดยง่าย เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า นักการเมืองต้องการแก้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ที่สำคัญคือ ยังหวาดระแวงกันว่า จะมีการแก้ หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่
ยิ่ง “ม็อบสามนิ้ว” หันกลับมาร่วมเคลื่อนไหว กดดันให้แก้ ยิ่งเข้าทางลุงตู่ !!