xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.ลากยาว ดับฝันม็อบป่วน-ลุงตู่ลอยตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา



ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีมติเสียงข้างมาก วันที่ 11 มีนาคม วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อน ว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ว่าจะเห็นชอบหรือไม่”

ก็ถือว่ามีความชัดเจน สรุปก็คือว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่ว่า “หากจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับต้องถามความเห็นประชาชน (ลงประชามติ) ก่อน และหลังจากยกร่างเสร็จแล้วก็ให้ไปถามประชาชน (ประชามติ) อีกรอบ ว่าจะให้ความเห็นชอบตามที่ยกร่างมาหรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2) เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในความหมายแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถามว่า “รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ทำได้ แต่ต้องเริ่มจากถามประชาชนก่อน ว่ายอมให้ยกร่างใหม่หรือไม่ และเมื่อร่างเสร็จแล้ว ก็ให้ถามประชาชนอีกครั้งว่า เห็นด้วยหรือไม่ ความหมายประมาณนี้

ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 60) โดยเสนอแก้ไข มาตรา 256(1) เพื่อเปิดทางนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างใหม่ และรัฐสภาก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแปรญัตติตามขั้นตอน ผ่านวาระสอง และเตรียมลงมติในวาระ 3 ในสมัยประชุมวิสามัญ วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ทำให้เป็นไปได้ว่าต้องระงับเอาไว้ก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า แม้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ยกร่างฉบับใหม่ได้ แต่ต้องรอถามประชาชน (ลงประชามติ) ก่อน

แต่สิ่งที่น่าพิจารณากัน ก็คือ ทางพรรคการเมืองทั้งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่เสนอให้ยกร่างใหม่ (เว้นหมวด 1 และ2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์) จะเดินต่ออย่างไรต่อไป เพราะเมื่อออกรูปนี้ หากจะแก้ไขทั้งฉบับก็ต้องนับหนึ่งใหม่ นั่นคือ ต้องลงประชามติก่อน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องรอกฎหมายการออกเสียงลงประชามติที่ยังค้างอยู่ในสภา ยังพิจารณากันไม่เสร็จสิ้น แม้ว่าคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่หากจะมีการลงประชามติ ก็ต้องให้กฎหมายดังกล่าวออกมามีผลบังคับใช้เสียก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบทำความเข้าใจก็ต้องบอกว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนแบบคอขาดบาดตาย ที่ต้องดำเนินการให้ได้ เพราะถือว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อประชาชนในแบบที่ว่า หากไม่แก้ไขแล้วชาวบ้านจะถึงขึ้นอดอยาก ยากเข็ญ หรือหากแก้ไขแล้วจะทำให้มีเศรษฐกิจดี มีรายได้เพิ่มขึ้นมาทันตาอะไรประมาณนั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ ชาวบ้านอาจจะรู้สึก “เฉยๆ” ก็ได้

แต่ที่เห็นดิ้นรนกันแบบทุรนทุรายก็เห็นจะเป็นพรรคการเมืองเท่านั้น และการแก้ไขก็เป็นเรื่องประโยชน์และอำนาจของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดหากมีการแก้ไข

ขณะเดียวกัน หากจะว่าไปแล้วความต้องการที่จะให้แก้ไขจริงๆ ก็มีเพียงสองสามมาตรา เท่านั้น ที่เกี่ยวพันกับประโยชน์ของตัวเอง ก็คือ ต้องการแก้ไขเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ที่ต้องการให้มีสองใบแบบเดิม นั่นคือ แบบบัญชีรายชื่อ (พรรค) และ แบบ ส.ส.เขต รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอำนาจของ ส.ว.

อย่างไรก็ดี ในเรื่องหลังที่เกี่ยวกับ ส.ว.นั้น ในปัจจุบันที่มีการปลุกกระแสโจมตีว่า เป็นเครื่องมือเผด็จการ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งจาก คสช. มาจำนวน 250 คน ที่มีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่เป็นเพียงกำหนดในบทเฉพาะกาล แค่ 5 ปี และยังเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะสิ้นสภาพไปแล้ว แต่ถึงอย่างไร เมื่อยังไม่ครบกำหนด 5 ปี ส.ว.พวกนี้ ก็ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯได้อีกครั้ง เพราะวาระของสภาผู้แทนชุดนี้ มีวาระ 4 ปี แต่ในความเป็นจริงก็ขึ้นอยู่สภาผู้แทนเป็นหลัก หากพรรคการเมืองสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.อยู่แล้ว

เมื่อผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ นั่นคือ ต้องทำประชามติก่อนยกร่าง และหลังยกร่างเสร็จ หากคิดจะร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งถือว่าต้องใช้เวลานาน เหมือนกับเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น เชื่อว่า พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงอีกบางพรรค อาจจะใช้วิธีเสนอแก้ไขรายมาตรา

นั่นคือ มาตราที่เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งสองใบ และเกี่ยวกับที่มาและอำนาจ ส.ว. ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีการเตรียมการสำหรับการเสนอแก้ไขในแนวทางนี้เอาไว้แล้ว แต่ก็ต้องล่าช้าออกไป หรือไม่สำเร็จก็ได้ เพราะถึงอย่างไรต้องใช้เสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ในการเห็นชอบ ซึ่งเวลานี้บรรยากาศเปลี่ยนไป จากเดิมก่อนหน้านี้ที่มีแรงกดดันจากภายนอกสูง โดยเฉพาะจาก “ม็อบสามนิ้ว” แต่เมื่อม็อบขาลงเละเทะ มันถึงบอกว่าทุกอย่างต้องประเมินกันใหม่

แต่อีกด้านหนึ่ง หากมองในมุมของแรงกดดันจากภายนอกโดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่พยายามจะสร้างกระแสป่วน โดยเตรียมยกเงื่อนไขในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นในการยกระดับการเคลื่อนไหว โดยพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกลุ่มอำนาจในปัจจุบันก็ทำได้ไม่ถนัด เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่า “รัฐสภามีอำนาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เพียงแต่ต้องถามประชาชนก่อน ถือว่า เป็นการ “ให้อำนาจประชาชนสูงสุดในการสถาปนา” ซึ่งหากมองในมุมนี้ถือว่า “หงายเงิบ” ไปเหมือนกัน

เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ออกมาอีกทางหนึ่ง นั่นคือ แบบที่ว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ แบบนี้แหละที่ส่อเค้าวุ่นแน่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อออกรูปนี้ ก็น่าจะโล่งใจไปชั่วขณะ เพราะโยนไปให้ประชาชนตัดสินใจ “ลอยตัว” สบายไป หรือหากพรรคการเมืองจะแก้ไขแบบรายมาตรา ก็ทำได้เลย เพียงแต่ต้องใช้เวลาไปอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้น นาทีนี้แม้ว่าในที่สุด เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะยังต้องเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าจะเป็นแบบไหน ร่างใหม่ทั้งฉบับก็ต้องถามประชาชนก่อน หรือรายมาตรา ซึ่งมีทั้งเป็นไปได้ และเป็นไม่ได้ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.สนับสนุน แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว !!



กำลังโหลดความคิดเห็น