xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้วันนี้-ไม่ออกบัลลังก์ - พท.ตั้งวอร์รูมลุ้นปมแก้รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ลุ้น “ศาล รธน.” นัดลงมติปมแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ เผยไม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย รอผลผ่านเอกสารข่าว “เพื่อไทย” ตั้งวอร์รูมร่วมฝ่ายค้าน “สุทิน” รับไม่สบายใจ ยังไม่ฟันธงผลออกทางลบ "คำนูณ" ชี้หากศาลฯคว่ำ “รธน.60” เป็น “อมตะ” แต่ยังเชื่อรัฐสภามีอำนาจ

วานนี้ (10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ซึ่งมีกำหนดนัดประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันนี้ (11 มี.ค.) ซึ่งการพิจารณาคำร้องดังกล่าวจะไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เป็นเพียงการประชุมภายในเท่านั้น และหลังจากได้ผลการพิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งรายละเอียดของการพิจารณาและมติเป็นเอกสารข่าว (Press release) ให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ

ทั้งนี้ไม่ได้มีการจัดเตรียมสถานที่เหมือนวันที่องค์คณะตุลาการจะออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย และโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการติดตั้งแผงรั้วเหล็ก หรือเตรียมกำลังเสริมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพิเศษแต่อย่างใด มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามปกติเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานว่า จะมีกลุ่มการเมืองใดๆมาเคลื่อนไหว ในบริเวณศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 มี.ค. เวลา 11.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย จะมีการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดท่าทีและการดำเนินการหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า คงคาดเดายากว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ข้อกังวลบางฝ่ายที่กลัวว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นคงไม่ใช่ เพราะเรายืนยันแล้วว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวด 1 และ 2 ส่วนความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคนที่กังวลจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นอีก 38 มาตรา ทำให้กระทบเรื่องพระราชอำนาจนั้น เรื่องนี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เคยลงมติไปแล้ว แม้ฝั่งเขาจะมีเสียงมากกว่า กลับโหวตแพ้ ดังนั้นข้อคิดเห็นนี้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ ฟังไม่ขึ้น

“ส่วนตัวไม่ค่อยสบายใจ นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญขอฟังความเห็นจากบุคคลที่มีแนวคิดที่ไม่ค่อยอยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้ฟังความเห็นบุคคลอื่นๆอย่างรอบด้าน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ตรงนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ค่อยสบายใจ และน่ากังวล” นายสุทิน ระบุ

เมื่อถามว่าหากผลคำวินิจฉัยออกมาทางลบจริงๆ พรรคเพื่อไทยเตรียมแนวทางที่จะไปแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะสู้ต่อ แต่จะสู้อย่างไรคงต้องนำไปปรึกษากับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และภาคประชาชนว่าจะเอาอย่างไร ในเมื่อทางที่เราจะเดินนั้น แคบลง ส่วนจะแก้รายมาตราหรือไม่นั้น คงต้องไปดูกันอีกที ถ้าสมมุติเราอยากจะแก้ไขมาตรานี้ แต่เขาไม่ยอมให้แก้ไข คงแก้ไขไม่ได้อยู่ดี

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้เตรียมการอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงๆ ขอรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าดูแนวทางแล้วน่าจะออกมาได้หลายทาง อาทิ 1.วินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้มาตรา 256 ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือ 2.วินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่มีเงื่อนไขต้องทำประชามติถามความเห็นชอบประชาชนก่อน ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การจะทำประชามตินั้น ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเสร็จสิ้นวาระ 3 แล้วเท่านั้น ไม่สามารถทำประชามติก่อนวาระ 3 ได้

อีกด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจว่า เชื่อว่าแนวคำวินิจฉัยมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกระบุว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้ และผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ การแก้ไขจะเดินหน้าตามกระบวนการ คือลงมติวาระ 3 และเป็นไปตามทิศทางของข้อแนะนำในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ซึ่งระบุว่าต้องผ่านการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ และแนวทางที่สอง ระบุว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ ทำไม่ได้ ผลที่ตามมา จะทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่เฉพาะจบในขั้นตอนของวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้เท่านั้น

นายคำนูณ ระบุด้วยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเสนอต่อประชาชนลงประชามติ จะไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ตลอดอายุของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรให้ปฏิบัติตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีคำถามในทฤษฎีกฎหมายมหาชน ที่บอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจสูงสุดทำได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อจำกัด แต่จะกลายเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะข้อจำกัดอำนาจที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเคยอนุญาตให้ใช้เองจากการประชามติ

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยในแนวทางที่รัฐสภาไร้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น