พรรคร่วมฝ่ายค้านส่งความเห็น 7 หน้า ยันศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีอำนาจแก้ไข รธน.ได้ ชี้ตรรกะ “ไพบูลย์” อันตราย จะแก้ รธน.ได้ต้องรัฐประหารอย่างเดียว วอนศาลวินิจฉัยเป็นบวกลดปัญหาบ้านเมืองวุ่นวาย
วันนี้ (3 มี.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายธงชาติ รัตนวิชา พรรคประชาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอส่งบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยนายประเสริฐกล่าวว่า ทางพรรคฝ่ายค้านเห็นว่าศาลฯ ได้มีการขอความเห็นจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จำนวน 4 คน จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย จึงได้ขอส่งบันทึกถ้อยคำเป็นข้อมูลต่อศาลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคิดว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะทันต่อการที่สภาจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค.
นายประเสริฐยังกล่าวด้วยว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าหากการตั้งสมาชิกสภาร่างไม่สามารถเป็นไปได้จะทำอย่างไร เพราะเราคาดหวังไว้ว่างรัฐสภาน่าจะผ่านวาระ 3 ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนเรียกร้อง รัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะเห็นด้วยกับการผ่านวาระ 3
ด้านนายชัยธวัชกล่าวว่า เราเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา รัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงห้ามแก้ไขแล้วไปกระทบต่อระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐเท่านั้น ดังนั้น การแก้ไขโดยให้มี ส.ส.ร. จึงอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นเดียวกับกระบวนการ ขั้นตอนก็ยังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ จึงได้ให้ความเห็นในบันทึกที่ส่งศาลในวันนี้ว่า การเสนอแก้ไขในลักษณะที่กระทำอยู่สามารถทำได้ และเป็นอำนาจของรัฐสภา โดยในอดีตตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ก็มีการทำในลักษณะนี้และนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. มีรัฐธรรมนูญ 2540 จึงยืนยันในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านว่ารัฐสภามีอำนาจ ไม่เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
“ในญัตติที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน และสมาชิกวุฒิสภายื่น ไม่ได้พูดแค่อำนาจรัฐสภา แต่พูดแม้กระทั่งการจำกัดอำนาจของประชาชนที่จะออกเสียงลงประชามติว่าจะให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ อันนี้เป็นอันตรายมาก หมายความว่าถ้าญัตตินี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับความเห็นที่ไพบูลย์กับคณะยื่น จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในระบบรัฐสภาภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยได้เลย จะแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บัญญัติไว้ว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น แม้แต่การทำประชามติในญัตติของนายไพบูลย์ การจะถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ทำไม่ได้ เพราะจะเป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ตรรกะแบบนี้อันตรายมาก”
ด้านนายสงครามกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ห้ามไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และ 2 เรายืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไข จึงไม่ใช่เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ และพรรคฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการเตรียมแผน 2 กรณีที่ไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.ได้ เพราะมองว่าบรรยากาศในการประชุมกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น ตัวแทนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ส.ว.ถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแล้วเหมือนมีความจริงใจในการแก้ไขอย่างที่บางพรรคการเมืองเคยหาเสียงไว้ และอย่างที่นายกฯ บอกว่าจะมีการมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็คิดว่าบ้านเมืองจะไปได้ การปรองดองก็จะเกิดขึ้นถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการยื่นศาลให้วินิจฉัยในเรื่องนี้ ก็รู้สึกเสียใจเสียดาย ยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองในทางบวก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 ราย คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ยื่นหนังสือความเห็นต่อกรณีดังกล่าวก่อนที่ศาลฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 4 มี.ค.