xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : เสี่ยงล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ตอน เสี่ยงล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญ!?



การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเวลานี่ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกได้เลยว่า สมาชิกรัฐสภาจะได้โหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระสามในเดือนหน้านี้หรือไม่ เพราะหากศาลล้มกระดาน แก้ไขรัฐธรรมนูญ เสียก่อน ทุกอย่างที่ทำกันมา ก็จบเห่ รูดม่าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และตอนนี้ มีชัย ฤชุพันธ์ ชื่อนี้ ต้องจับตากันไว้ เพราะอาจจะเป็น คนที่กุมความเป็นไปของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในครั้งนี้ ว่าสุดท้ายแล้ว จะเดินหน้าต่อไปได้ หรือจะต้องสะดุดกลางคัน หงายหลังกันหมด

หลังจากที่ ที่ประชุมใหญ่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีคำสั่งให้รับคำร้องคดีที่ สมาชิกรัฐสภาลงมติ เห็นชอบให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

พร้อมกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำสั่งให้ นายมีชัย และอีกสามคน สามด็อกเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน คือ นายอุดม รัฐอมฤต -นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ทำหนังสือตอบกลับประเด็นคำถามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่งให้ทั้งสี่คน ตอบมายังศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันพุธที่ 3 มีนาคม

ก่อนที่ศาลจะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดวันลงมติ และตัดสินคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญกันต่อไป ที่คาดว่า คดีนี้ อาจจะจบภายในไม่เกินเดือนมีนาคม ก็ได้

แต่ในสี่คน ตัวนายมีชัย มีความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะด้วยเครดิตนักกฎหมายรุ่นใหญ่ ผ่านตำแหน่งใหญ่มามากมาย โดยเฉพาะเป็นมือกฎหมาคนสำคัญ ซึ่งมีบทบาทอย่างมาก ในยุคคสช. เพราะเป็นทั้งที่ปรึกษากฎหมายคสช.

และที่สำคัญสุด ซือแป๋มีชัยเป็นอดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือกรธ. ที่ทำคลอด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากับมือ ทุกมาตรา ทุกบรรทัด

ดังนั้น ความเห็นของ นายมีชัย จึงมีความสำคัญอย่างมากกับการตัดสินคดีแก้รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะให้เดินหน้าต่อไปหรือทุกอย่างต้องหยุดลงทันที

ด้วยที่ นายมีชัย เป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นกัปตันทีมของกรธ. ดังนั้น ความเห็นของนายมีชัย จึงมีน้ำหนักอย่างมาก ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับฟังไปประกอบการลงมติในคดีนี้

หลังก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. -อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ แกนนำพลังประชารัฐเป็นประธาน

ข่าวว่าดร.อุดม ให้ความเห็นส่วนตัวว่า มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา มิได้มุ่งหมายเขียนออกมาเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมิได้มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐสภาอาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็ได้

สรุปความเห็นของ ดร.อุดม แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีสมาขิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำไม่ได้

เสร็จไปหนึ่ง ว่าทำไม่ได้ ดังนั้น หากนายมีชัย ทำความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 256 เข้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ในทำนองเดียวกัน ว่า มาตรา 256 ไม่เปิดช่องให้ แก้ไข เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากจะทำ ก็ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน ในฐานะที่ประชาชนเป็นคนออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ถ้าทั้ง มีชัย และอุดม ยืนยันทำความเห็นออกมาทำนองเดียวกัน ก็น่าเสียวไส้ ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะล้มไปอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จริง

จึงขึ้นอยู่กับมีชัย จะบอกไปทางไหน เจตนารมณ์เริ่มต้นรัฐธรรมนูญวางไว้อย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่า การวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับเรื่อง เจตนารมณ์ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมายแต่ละฉบับ

ว่า คนที่เกี่ยวข้อง คนร่างรัฐธรรมนูญ คนร่างกฎหมาย มีจุดมุ่งหมาย มีเจตจำนงในการเขียนแต่ละมาตราออกมาเพื่อจุดมุ่งหมายใด ยิ่งกฎหมายมหาชน อย่างรัฐธรรมนูญ เรื่องเจตนารมณ์ในการเขียนแต่ละหมวดแต่ละมาตรา เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงเห็นได้ว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี จะให้น้ำหนักกับเรื่อง เจตนารมณ์เป็นสาระสำคัญแห่งคดี

ด้วยเหตุนี้ มองได้ว่า คำชี้แจงเรื่องเจตจำนงในการเขียนมาตรา 256 ออกมา ของนายมีชัย และนายอุดม ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากับมือ จึงมีน้ำหนักมากต่อคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้มข้นในเวลานี้

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ คาดได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ คงเห็นว่าเป็นนักกฎหมายมหาชน คนสำคัญ เป็นอดีตเลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 รวมถึงนายสมคิด ศาลคงเห็นว่า เป็นนักกฎหมายมหาชน เป็นอดีตเลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

จึงอยากขอความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหนึ่งมาตราเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำได้หรือไม่ได้ แต่ความเห็นของ บวรศักดิ์ และสมคิด คงไม่มีน้ำหนักเท่ากับ มีชัยและดร.อุดม

หลังได้รับหนังสือจากมือเขียนรัฐธรรมนูญทั้งสี่คนแล้ว คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะนัดตัดสินคดีนี้ได้เร็ว ไม่รอช้า เพราะตอนนี้รัฐสภา ก็กำลังเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 กันอยู่

โดยวันพรุ่งนี้ พุธที่ 24 และพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ. รัฐสภามีการประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.และสว.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง ที่เป็นร่างของกรรมาธิการร่วมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว เช่นการให้มีสสร.200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

จบวาระสอง ในวันพฤหัสฯ จะมีการนัดโหวตวาระสาม รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ทั้งหมด โดยทิ้งช่วงเวลาไปอีก 15 วัน จึงจะมีการโหวตประมาณกลางเดือนมีนาคม

ตามรูปการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีหลักประกันอะไร ชี้ชัดได้เลยว่า สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด จะได้โหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระสามเดือนหน้าหรือไม่ เพราะหากศาลล้มกระดาน แก้ไขรัฐธรรมนูญ เสียก่อน ทุกกระบวนการที่ทำมา ก็จบเห่ รูดม่าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น