xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.รับวินิจฉัยปมตั้งแก้ รธน.ทั้งฉบับ สั่ง “มีชัย-บวรศักดิ์-สมคิด-อุดม” ชี้แจง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งรับวินิจฉัยปมตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ “ไพบูลย์” ยื่น สั่ง “มีชัย-บวรศักดิ์-สมคิด-อุดม” ยื่นแจงภายใน 3 มี.ค.

วันนี้ (18 ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา กรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 ที่มีมติเสียงข้างมากในการพิจารณาญัตติด่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง ( 2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่แลอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐเกณฑ์รัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าในกาประชุมของรัฐสภาวันที่ 9 ก.พ. ที่ประชุมรัฐสภาเห็นว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาและมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีจึงเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี ให้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัธรรมนูญภายในวันพุธที่ 3 มี.ค. และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 4 มี.ค.

ทั้งนี้ ประเด็นทำให้ประธานรัฐสภาต้องส่งเรื่องดังกล่าวมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นกรณีสมาชิกรัฐสภามีความเห็นต่างกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นสามารถทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเพียงให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งก็คือการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น