xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” แถลงรายละเอียดขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” แถลงรายละเอียดขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืนยันหนังสือตอบกลับความเห็นจากคมนาคม 3 ครั้งแรก เห็นชอบแบบมีเงื่อนไข แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินงาน เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมแถลงข่าวชี้เเจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ณ รัฐสภา ห้อง 203 ห้องแถลงข่าวคมนาคมการ กล่าวว่า นายสรพงศ์ ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหลัก คือจากหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ให้สัญญาสัมปทานแก่เอกชน เปิดให้บริการระหว่างปี พ.ศ. 2542-2572 และต่อมาเมื่อปี 2555 ได้มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างเดินรถต่อระยะเวลาระหว่างปี 2572-2585

นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่สอง คือ ส่วนอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ในส่วนนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีการมอบหมายให้ บริษํท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นเทศวิสาหกิจของ กทม. รับไปดูแลและว่าจ้างเอกชนเดินรถ สัญญาหมดสิ้นปี 2585 เช่นเดียวกับส่วนหลัก และในส่วนที่สาม คือ ส่วนต่อขยาย ที่มีปลายสายทางอยู่นอกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ คณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 และ 2556 จึงได้มอบหมายให้ การรถไฟฟ้าขนส่งวมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้รับดำเนินการก่อสร้าง

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ในปี 2558 เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการโดยสารรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 มอบหมายเห็นชอบในหลักการให้ กทม. เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และมอบหมายให้ คค. เจรจากับ กทม. ในส่วนการบริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าส่วนที่สามดังกล่าว พร้อมทั้งเจรจาและหาข้อสรุปเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านการเงิน ระหว่าง กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และเมื่อได้รายงานเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้ กทม. บริหารจัดการเงินรายได้ และตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพ

จนกระทั่ง ทั้งสามหน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกรุงเทพมหานคร ได้เจรจากันเรียบร้อยจบสิ้นจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 52,904.75 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งสองช่วงดังกล่าว ซึ่ง ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ก็ได้กรุณา กำชับ ให้กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร บูรณาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้า และอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป รวมทั้งให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ กทม. พิจารณากำหนดอัตราค่าแรกเข้าและระบบตั๋วร่วม ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามเห็นของกระทรวงการคลัง ด้วย

สำหรับกรณีที่ กระทรวงมหาดไทยเสนอ เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้มีการนำเข้าพิจารณาใน ครม. มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือตอบกลับความเห็นของกระทรวงทั้งหมด 4 ครั้ง โดยใน 3 ครั้งแรก ได้แก่ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563

และครั้งที่สาม คือเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563

“ทั้ง 3 ครั้งแรก กระทรวงคมนาคมได้สนอความเห็นว่า สมควรเห็นชอบ แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินงาน เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ”

นายสรพงศ์ กล่าวว่า ต่อมา กรมการขนส่งทางราง รฟม. และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้าต่างๆ ได้มีการประชุมหารือกัน และได้มีหนังสือของกรมการขนส่งทางราง รายงานมาที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงคมนาคม ได้มีประเด็นความเห็นเป็นครั้งที่ 4 เป็นการขยายความตามความเห็นทั้ง 3 ครั้ง ของกรมการขนส่งทางราง รฟม. และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้าต่างๆ รายงานไปยัง คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้รายงานว่าได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงแล้ว สมควรให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ประเด็นเรื่องความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562  2. ประเด็นเรื่องการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ 3. ประเด็นเรื่องการใช้สินทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด 4. ประเด็นเรื่องข้อพิพาททางกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อความรอบคอบ และเป็นประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน และสอดคล้องตามที่คณะรัฐมนตรีได้กรุณามีมติมอบหมายไว้เท่านั้น กระทรวงคมนาคม จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนารถไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมและเอื้อต่อการใช้บริการเพื่อให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น