xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป๊อก” แจงรถไฟฟ้าสีเขียวใช้ ม.44 หาทางออก ยันไม่เอื้อเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มท.1 แจงยิบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ยัน คสช.เข้ามาแก้ปัญหาที่ค้างคามาแต่อดีต ย้ำต้องช่วย กทม.ที่ต้องรับหนี้มา 1 แสนล้าน ใช้ ม.44 หาทางออก ต้องเร่งต่อสัมปทาน เพราะยิ่งปล่อยไว้นานหนี้ยิ่งเพิ่ม ยืนยันไม่เอื้อประโยชน์เอกชน ชี้ถึงเก็บ 104 บาท ก็ยังขาดทุนปีละเกือบ 4 พันล้าน

วันนี้ (17 ก.พ.) เมื่อเวลา 20.51 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดขึ้นในอดีตที่ทำมา และปัจจุบันที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจความเป็นมา โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 3 ช่วง เริ่มที่ 1. สายสีเขียวหลัก คือ เอกชน หรือบีทีเอส สร้างรางและวางระบบเดินรถ บริหารเดินรถทั้งหมด ถือเป็นสายเดียวที่สร้างเองทั้งหมดแห่งเดียวในโลก และจะสร้างกำไรจากค่าโดยสารเท่านั้น ระยะเวลา 30 ปี คือ 2542-2572 จากนั้นเมื่อหมดสัมปทานต้องคืนให้ กทม. ต่อมาคือส่วนต่อขยายที่ 1 คือ กทม.ไปสร้างเอง และจ้างบีทีเอสเดินรถ โดย กทม.ไม่มีรถไฟฟ้า จึงควรให้สัมปทาน แต่มีบางรัฐบาลไม่ยอมให้สัมปทาน ก็สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ และมาถึงส่วนต่อขยายที่ 2 อยู่นอกกรุงเทพฯ รัฐบาลยุคหนึ่งก็โอนไปให้ รฟม.สร้าง และออกแบบพิเรนทร์ไม่เชื่อมโยงกับส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งถือว่าผิด เพราะจริงๆ แล้วต้องให้ กทม.สร้าง ถือเป็นปัญหาโบราณกันมา กระทั่งมีการโอนส่วนต่อขยายที่ 2 กลับมาให้ กทม.พร้อมหนี้สิน


พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับหนี้สินที่ กทม.รับมาจาก รฟม. ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายที่ 2 เกือบ 1 แสนล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 1 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท อยากถามใครจะแก้ไข รัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนได้ เพราะติดปัญหากฎหมายท้องถิ่น ดังนั้น กทม.ต้องแก้ไขเอง จะกู้เงินก็ไม่ได้ เพราะเลยกรอบกฎหมายหนี้สาธารณะของ กทม. ส่วนจะออกตราสารหนี้ก็ทำไม่ได้เพราะติดสัมปทาน และเดินรถขาดทุน สุดท้ายเหลือการให้เอกชนเข้ามา ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรจะไม่ให้เอื้อประโยชน์ ไม่ใช่ระบุว่าเอกชนไปรับหนี้บอกว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ แต่ตนจะบอกว่าไม่มีเอกชนอื่นทำได้ เพราะโครงการสายสีเขียวทั้งหมดบิดมาตั้งแต่ต้น และเป็นปัญหาจะต้องแก้ และหากไม่ทำเกิดการฟ้องร้องแล้วจะเสียค่าโง่

“ถามว่าทำไมรีบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้ครบสัญญาปี 2572 หนี้ก็มากขึ้น คสช.จึงหาทางแก้โดยออกมาตรา 44 คือ เวลา เพราะเวลาทำให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น และไปทำอย่างไรมาก็ได้ เพราะ กทม.ไม่มีเงิน แต่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ ค่าโดยสารไม่แพงเหมาะสมกับประชาชน และเป็นธรรมกับเอกชน และ คสช.ให้มีข้อตกลงคุณธรรม จนมาถึงทั้งหมดจบหรือยัง กระทั่งคณะกรรมการเจรจาจบแล้ว เพื่อนำเข้า ครม.เพื่อเห็นชอบ และยืนยันผมนำเรื่องเข้า ครม. ไม่ได้มีนอกมีใน เพราะอัยการสูงสุดก็บอกสามารถทำได้ และได้ส่งเรื่องไปที่ ครม.แล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 62 ต่อมาได้มีหน่วยงานต่างๆ ตั้งข้อสงสัยตลอดมา 1 ปีกว่า” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า ขณะที่ราคาที่ระบุว่าสายสีเขียวแพงกว่า คือ 65 บาท สายสีน้ำเงินเก็บค่าโดยสาร 42 บาท ขอให้ดูระยะทางควบคู่กับการสนับสนุนกับรัฐ ซึ่งสายสีเขียวไม่มี ดังนั้น การจะเอื้อหรือไม่เอื้อต้องดูว่าเป็นธรรมหรือไม่ ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ส่วนค่าโดยสาร 104 บาทก็ยังทำให้ กทม.ขาดทุนปี 64 จำนวน 3,981 ล้านบาท และถึงปี 2572 จำนวน 37,469 ล้านบาท

“ขอให้ประชาชนเข้าใจที่ไปที่มา มันมีปัญหาและก็หาทางแก้ ท่านเห็นหรือไม่ว่าแก้ด้วยการร่วมทุนทำไม่ได้ และหนี้เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครแก้ไข ผิดถูกอย่างไร ครม.ต้องพิจารณา ประชาชนอย่าได้กังวล” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น