xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” แจงปมถูกพาดพิงต่อสัมปทานสีเขียว ยัน รฟม.ไม่เคยศึกษาค่าโดยสาร 158 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ศักดิ์สยาม” แจง รฟม.ไม่เคยศึกษาค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งโครงข่าย 158 บาทตามที่ถูกพาดพิง ระบุเทียบตามระยะทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินค่าโดยสาร “ต่ำกว่า” ย้ำ! คมนาคมมีความเห็น 4 ครั้งต่อสัมปทานสีเขียวต้องทำตามกฎหมายให้ครบ และค่าโดยสารเป็นธรรมต่อประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. ส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน 2. ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า และ 3. ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2551 และปี 2556 ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างต่อเนื่องนั้น เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร). มีมติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 มอบหมายให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการเดินรถส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเจรจากับ กทม.ในส่วนการบริหารจัดการการเดินรถ รวมถึงเจรจาหาข้อสรุปเงื่อนไขด้านการเงินระหว่างกระทรวงการคลัง, กทม. และ รฟม.

จากนั้นวันที่ 1 มี.ค. 2559 ที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายให้ กทม.บริหารจัดการเงินรายได้ และตั้งงบประมาณเพื่อนำมาชำระหนี้ รวมทั้งกำหนดค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และได้มีการเจรจาแล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เพื่อขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 52,904.75 ล้านบาท ในส่วนของงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้มีมติให้ กทม. และกระทรวงคมนาคมบูรณาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และค่าแรกเข้าให้เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเร่งรัดให้ดำเนินการระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ กทม.พิจารณากำหนดอัตราค่าแรกเข้า และระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามความเห็นของกระทรวงการคลังด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เคยมีหนังสือตอบความเห็นในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 4 ครั้ง รวมทั้งได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงต่อเลขาธิการ ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ประเด็นครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

2. การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

3. การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และ 4. ประเด็นข้อพิพาททางด้านกฎหมาย ซึ่งยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในส่วนของการพิจารณาอัตราค่าโดยสาร ตามที่มีการเปรียบเทียบระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การคิดอัตราค่าโดยสารของ รฟม.จะพิจารณาจาก Standardization ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ได้พิจารณาจากอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะของไทย และสากล โดยมีหลักการอ้างอิงจากค่าโดยสารรถปรับอากาศ ปี 2544 ที่เริ่มต้น 8 บาท โดยปรับขึ้น 2.5% เป็นอัตราค่าแรกเข้า 10 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราเริ่มต้นที่ประชาชนยอมรับได้ ทั้งนี้ ค่าโดยสารในปี 2564 ตามค่าเงินเฟ้อ อัตราค่าแรกเข้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5% หรือเป็น 14 บาท บวกกับค่าโดยสารตามระยะทาง 2.5 บาทต่อกิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของ รฟม.นั้นได้กำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุด 12 สถานี ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รฟม.ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเมื่อปี 2545 อยู่ที่ 14-36 บาท และในปี 2564 ปรับขึ้นราคา 18% อ้างอิงตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออยู่ที่ 17-42 บาท โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้นพบว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีอัตราค่าโดยสารที่ต่ำมาก กล่าวคือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทางรวม 48 กม. ราคาสูงสุดอยู่ที่ 42 บาท คิดเป็นค่าโดยสาร 0.88 บาทต่อ กม. แต่ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทางรวม 68 กม. ราคาสูงสุดอยู่ที่ 104 บาท คิดเป็นค่าโดยสาร 1.53 บาทต่อ กม.

นายศักดิ์สยามกล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของการศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนฯ (PPP) ประเด็นที่อ้างว่าค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งโครงข่ายสูงสุด 158 บาท เป็นผลการศึกษาของ รฟม. ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ รฟม.ได้เคยศึกษารายงาน PPP เบื้องต้นเฉพาะส่วนต่อขยายสายเหนือ และสายใต้เท่านั้น (ไม่เคยศึกษาสายสีเขียวรวมทั้งโครงข่าย) ซึ่งเป็นการศึกษาก่อนรัฐบาลชุดนี้ และยังไม่เคยนำเสนอขออนุมัติผลการศึกษาดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน การคิดค่าโดยสารตาม MRT Assessment Standardization บนหลักการการคิดค่าโดยสารตามระยะทางที่เดินทางจริง และคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว มีราคาค่าโดยสารสูงสุด แบ่งเป็น สีเขียวเหนือ ราคา 52 บาท และสีเขียวใต้ ราคา 36 บาท รวมทั้งการใช้บริการรถไฟฟ้าโครงข่ายของ รฟม. เช่น สายสีน้ำเงิน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว และไม่มีความซ้ำซ้อน อีกทั้งการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ เช่น สายสีแดง สายสีชมพู และสายสีเหลืองในอนาคต จะยังคงหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

“กรณีที่บอกว่ารัฐบาลมีการปั้นตัวเลข ปั้นโครงการ เพื่อนำไปสู่เรื่องผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ นั้น ต้องเรียนว่า การดำเนินการทุกอย่างมีเหตุผล มีที่มา มีขั้นตอน ซึ่งขจัดปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต โดยรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทั้งการจราจรติดขัด และฝุ่น PM 2.5 โดยการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า และระบบ Feeder จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลกที่ได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาแก้ปัญหา” นายศักดิ์สยามกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น