xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ไฟเขียวร่าง กสทช.แต่ตีตกแก้สรรหา กก.ค้านรับตั้งแต่พันเอก เวลาตรวจสอบน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มติเสียงข้างมากวุฒิสภา 194 เสียง ผ่านร่าง กสทช. แต่ไม่โอเคปมสรรหากรรมการ ชี้ปรับตั้งแต่พันเอก ไม่ใช่ตำแหน่งระดับบริหาร มองตรวจสอบประวัติแค่ 15 วัน ไม่เพียงพอ หวั่นเกิดปัญหาสามก๊ก

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจรัตน์ ส.ว.เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การรักษาการตำแหน่ง กสทช.จนกว่าจะมีการสรรหาชุดใหม่ ตามร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปรับแก้ คือ 1. กรรมการ กสทช.ที่อยู่ครบวาระก่อนที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ให้อยู่ต่อจนกว่าจะมี กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ พร้อมกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดให้มีการสรรหาภายใน 15 วัน นับจากกฎหมายใหม่ใช้บังคับ 2. กรณีกรรมการ กสทช.​ยังไม่ครบวาระ ให้สิทธิรักษาการต่อไป โดยมีเงื่อนไข คือ ปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันแต่งตั้ง แต่หากพบว่า กสทช.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่มาเกิน 3 ปี ให้ถือว่าครบวาระแล้ว แต่ให้สิทธิรักษาการไปจนกว่าได้ กสทช.​ชุดใหม่ตามกฎหมายใหม่ โดยกรณีดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดให้มีการสรรหา ไม่น้อยกว่า 150 วัน ยกเว้นกรณีที่มี กรรมการ กสทช.​เหลือไม่ถึง 5 คน ให้สรรหาภายใน 15 วัน ซึ่งปรับแก้ไขจากเดิมที่ให้ กสทช.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าได้ กสทช.​ชุดใหม่ที่มาโดยกฎหมายฉบับใหม่ และมีบทยกเว้นให้ กสทช.ที่มาตามกฎหมายฉบับเก่า ที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 3 ปี ให้สิทธิลงสมัครเข้ารับการสรรหาได้ 1 วาระ ทั้งนี้ กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเริ่มสรรหา กสทช.​ตามกฎหมายใหม่ ภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ มีสมาชิกส่วนหนึ่งสงวนคำแปรญัตติไว้ในมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 6 ขอให้ทบทวนคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.มีความรอบด้านมากขึ้น เพราะหากกำหนดไว้เพียงแต่ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค และด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการระบุเจาะจงมากเกินไป ควรจะต้องเพิ่มด้านการศึกษา วัฒนธรรม และด้านการพัฒนาสังคม เพื่อให้การบริหารของ กสทช. มีทิศทางที่หลากหลายครอบคลุมกับบริบททางสังคม อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้ยืนยันว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. มีความครบถ้วนสมบูรณแล้วและเชื่อว่ากรรมการฯ ที่ได้รับเลือกมีความรู้ความสามารถเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละด้านอยู่แล้ว

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขลักษณะเฉพาะของผู้มีสิทธิสมัครเป็นกรรมการ กสทช.ไว้ในมาตรา 5 ใช้ข้อความแทนมาตรา 14/2 (3) ต้องเคยเป็นทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอกขึ้นไป ซึ่งถือไม่ใช่ตำแหน่งระดับบริหาร พร้อมทักท้วงว่าการกำหนดตำแหน่งดังกล่าวไว้มีความแตกต่างอย่างไร เมื่อเทียบกับผู้เคยตำแหน่งรองอธิบดีที่เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า การแก้ไขของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 ที่ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช.ดำเนินการคัดเลือกได้บุคคลใดแล้วให้ส่งรายชื่อไปยังวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ มีความครบถ้วนสมบูรณ์สอดคล้องกฎหมายของคณะกรรมการเลือกตั้ง จึงขอให้กรรมาธิการกลับไปใช้ร่างเดิมตามสภาผู้แทนราษฎร

พล.อ.อนันตพรชี้แจงเหตุผลที่ปรับแก้ไขว่า เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่อยู่ระหว่างการสรรหาเป็น กสทช.ซึ่งมาตามกฎหมาย กสทช.ฉบับเดิม คาดว่ากฎหมายเสร็จก่อนการสรรหา ทำให้กระบวนการสรรหานั้นต้องยกเลิก หรือ คว่ำไปโดยอัตโนมัตินับจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่บังคับใช้ เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้นแตกต่างกัน กมธ. จึงได้ปรับแก้เพื่อสร้างจุดสมดุลมากที่สุดของร่างกฎหมายระหว่างที่เสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ร่างกฎหมายรับมาจากสภาผู้แทนราษฏร

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. หนึ่งในกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็น กสทช. ถามว่าการทำหน้าที่ของกรรมาธิการตรวจสอบประวัติจะเกิดปัญหาหรือไม่ กรณีที่ระหว่างสรรหาและมีกฎหมายใหม่บังคับใช้ หรือกรณีที่ ส.ว.ลงมติเลือก กสทช. 7 คนตามกฎหมายเก่า และเมื่อมีกฎหมายฉบับใหม่ต้องสรรหาใหม่ และอาจใช้เวลา 3-6 เดือน จะทำหน้าที่ หาก ส.ว.​เห็นด้วยเสียงข้างมาก อยู่ 3 ปี จะเกิดประเด็นว่า กฎหมายโครงสร้างเก่าที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการ หากมีปัญหาเรื่องขัดคุณสมบัติหรือไม่

“เวลาการตรวจสอบประวัติ แค่ 15 วันที่วุฒิสภาอนุมัติกำหนดนั้น กังวลว่าไม่เพียงพอ เพราะมีเอกสารและรายละเอียดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อจำกัด และอาจทำให้มีปัญหาสามก๊ก อาทิ ก๊กได้ประโยชน์จากการอยู่ต่อ เมื่อ ส.ว.เห็นแย้งต้องส่งไปยังสภา และต้องตั้งกรรมการร่วม ตามประสบการณ์จะใช้เวลาทำกฎหมาย 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จนมีกรณีที่สภาไม่นำเข้าพิจารณาจนยุบสภา” นายสมชายกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 4 ชั่วโมง ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ 158 เสียง ต่อ 42 เสียง งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่ กมธ.แก้ไขทั้ง 3 ประเด็น และให้กลับไปใช้เนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.กสทช.ที่รับมาจากสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 194 เสียง เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไขว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่ง กสทช.เป็นร่างกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนจะเข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ มีผู้ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง


กำลังโหลดความคิดเห็น