“กรรมการสรรหาฯ” แจงปมร้อนสรรหา “ว่าที่ กสทช.” โอดเสียงวิจารณ์ไม่ตรงความจริง ยันหน้าที่แค่กลั่นกรองสุดท้าย “สภาสูง” เลือก ระบุเปิดโอกาสให้โต้แย้ง เหตุให้คนขาดคุณสมบัติได้เข้าสัมภาษณ์ ย้ำไม่รวบรัดตัดสินใจ มีข้อมูลรอบด้านแล้ว ชี้ ชิงประกาศ 14 รายชื่อ ป้องกันวิ่งเต้น
วันนี้ (29 ม.ค. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ได้ออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ระบุว่า หลังจากคณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้ประกาศผลการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 64 ปรากฏว่า มีการแสดความเห็นทางสื่อมวลชน ทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อโซเซียล (โซเชียลมีเดีย) วิพากษ์วิจารณ์ผลการสรรหาดังกล่าวข้างต้นหลายประการ คณะกรรมการสรรหา กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งในแง่ของหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา และในแง่ของการปฏิบัติ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช. และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ได้ จึงเห็นควรชี้แจงต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
เบื้องต้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระฐายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ในขั้นตอนสุดท้าย คือ วุฒิสภา ไม่ใช่คณะกรรมการสรรหา กสทช.
“คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเบื้องต้นจากผู้สมัครทั้งหมดเพื่อเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสทช.ต่อวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาคัดเลือกเท่านั้น วุฒิสภามีอำนาจที่จะเลืกบุคคลตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. เสนอไปหรือไม่ก็ได้”
ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ในขั้นสุดท้าย จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของ กสทช. และมีความเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด การพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามตลอดจนความรู้ความสามารถ ประสบกรณ์และความหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่วุฒิสภาจะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วย มิใช่ยุติในชั้นการพิจรณาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.
คณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอสงวนความเห็นไม่ชี้แจงคำวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ทั้งที่ได้รับการคัดเลือกและไม่ได้รับการคัดเลือกว่าผู้ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเพราะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ โดยคณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอชี้แจงเฉพาะประเด็นความเข้าใจที่คลาดเลื่อนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาสรรหาผู้สมัครเป็นกรรมการ กสทช. ใน 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 เหตุใดคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. จึงให้ผู้สมัครทั้ง 80 คน เข้าแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด โดยไม่ตัดรายชื่อผู้ที่ขาดคุณสมบัติออกไปเสียก่อน
พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนของการพิจารณาสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้แต่เพียงเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ของบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. เท่านั้น การที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนของการพิจารณาสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะสามารถดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภา เพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช.ได้ตามอำเภอใจ เพราะการพิจารณาคัดเลือกหรือสรรหาคณะกรรมการ กสทช.เป็นกระบวนการพิจารณาเรื่องทางปกครองเพื่อทำคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง
ดังนั้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดวิธีพิจารณาเรื่องทางปกครองอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นผลของการสรรหาอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้ โดยเฉพาะตามมาตรา 30 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กสทช.ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคนชี้แจงแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสรรหา กสทช.ได้มาเองและจะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร อันเป็นหลักกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครทุกคนในอันที่จะไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่มีโอกาสโต้แย้ง
โดยที่ในขั้นตอนการตรวจสอบใบสมัครของผู้สมัครแต่ละคนนั้น ผู้สมัครกรรมการสรรหา กสทช. ได้รับรายงานข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม รวมทั้งมูลอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ในการดำเนินการสรรหา กสทช. จากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม, สำนักงานเลขาธิการ กสทช. ฯลฯ ข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้รับมานั้น หลายประการเป็นข้อมูลที่ผู้สมัครไม่ได้แสดงไว้ในใบสมัคร เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการพิจรณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครได้โดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาเรื่องทางปกครอง คณะกรรมการสรรหา กสทช. จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้รับรู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นรายงานมายังคณะกรรการสรรหา กสทช. และโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลเหล่านั้นต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช.
อนึ่ง ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโกคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 คณะกรรมการสรรหา กสทช.มีระยะเวลาเพียง 3 วันนับแต่วันที่รับรายชื่อผู้สมัครจากสำนักงานเลขาธิกวุฒิสภา เพื่อดำเนินการพิจารณาสรรหาและเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ต่อวุฒิสภา คณะกรรมการสรรหา กสทช. ไม่สามารถจัดให้มีการเชิญผู้สมัครแต่ละรายมารับทราบและโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ รายงานมายังคณะกรรมการสรรหา กสทช. เพื่อพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามโดยจัดเป็นขั้นตอนหนึ่งแยกออกไปต่างหากได้
“ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาเรื่องทางปกครองดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงเห็นสมควรให้ผู้สมัครทุกคนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ทราบถึงข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้มา และโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลดังกล่าวนั้นพร้อมๆ กับการแสดงวิสัยทัศน์”
ประเด็นที่ 2 เหตุใดคณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ด้วยวาจาและการสัมภาษณ์ คนละไม่เกิน 10 นาที โดยแบ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที และการสัมภาษณ์ 5 นาที
โดยที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีระยะเวลาในการดำเนินการคัดเลือกเพื่อเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสทช. ต่อวุฒิสภา ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับรายชื่อผู้สมัครจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อันเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้สมัครซึ่งมีจำนวนมากถึง 80 คน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการสรรหาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงได้กำหนดให้ผู้สมัครทุกคนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ ผลงาน ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนวิสัยทัศน์ต่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มาพร้อมกับใบสมัคร ซึ่งผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกแต่ละคนได้นำเสนอรายละเอียดต่างๆ อย่างมากมาย ให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้พิจารณาล่วงหน้าแล้ว
“การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดให้ผู้สมัครได้มาแสดงวิสัยทัศน์ด้วยวาจาและการสัมภาษณ์คนละไม่เกิน 10 นาที โดยแบ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที และการสัมภาษณ์ 5 นาที นั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าผู้สมัครได้เขียนวิสัยทัศน์นั้นด้วยตนเองหรือไม่ และเพื่อซักถามความชัดเจนในข้อมูลบางประการที่ผู้สมัครได้ให้มาในใบสมัคร รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ทราบข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช.ได้มา และได้โต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลดังกล่าวตามคำชี้แจงในประเด็นที่หนึ่งดังกล่าวแล้วข้างต้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ด้วยองค์ประกอบหลายประการ ไม่ใช่พิจารณาเพียงเฉพาะการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ด้วยวาจาในเวลา 10 นาที เท่านั้น”
ประเด็นที่ 3 เหตุใดคณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรเสนอรายชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็น กสทช. หลังจากที่เสร็จสิ้นการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ตอบคำถามด้วยวาจาทันที
โดยที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ทุกคนได้พิจารณาประวัติ ผลงาน ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้สมัครแต่ละรายจากใบสมัครที่ผู้สมัครได้ยื่นไว้ล่วงหน้าแล้ว ประกอบกับได้ฟัง การแสดงวิสัยทัศน์และการตอบคำถามด้วยวาจาของผู้สมัครแต่ละคนอย่างครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงมีข้อมูลต่างๆ อย่างเพียงพอที่จะพิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือก เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้รับการคัดเลือก เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ด้านละ 2 คน โดยแต่ละคนจะต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา กสทช.
“การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดให้ลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ทันทีที่เสร็จสิ้นการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ตอบคำถามด้วยวาจา โดยไม่ทอดเวลาให้เนิ่นนานออกไป ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดการวิ่งเต้นกดดันการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของคณะกรรมการสรรหา กสทช.” เอกสารชี้แจงระบุในช่วงท้าย