xs
xsm
sm
md
lg

ชมรม อปท.เคลื่อนไหว! ย้ำคนชราต้องคืนเงิน ยก “ลายเซ็น” วันขึ้นทะเบียน รับรองคุณสมบัติครบถ้วน แต่ปกปิดความจริงซึ่งควรแจ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชมรมพัฒนาชุมชน อปท.เคลื่อนไหว! เคสท้องถิ่น-บช.เรียกเงินผู้สูงอายุคืน ยันต้องคืนเงินราชการ ยก “ลายเซ็น-ชื่อที่อยู่” วันยื่นแบบขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ รับรองคุณสมบัติครบถ้วน แถมรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิ แต่กลับแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรแจ้ง

วันนี้ (26 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้สูงอายุหลายรายออกมาเปิดเผยว่าถูกกรมบัญชีกลาง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืน รวมถึงดอกเบี้ยหลักแสนบาท บางรายถึงกลับโอดครวญว่าทำไมไม่ทักท้วงตั้งแต่แรกจ่าย ผ่านมา 10 ปีแล้วกลับเรียกคืน

ล่าสุด พบว่าเมื่อช่วงบ่าย เพจชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) ได้เคลื่อนไหวถึงกรณีดังกล่าวว่า “การที่ผู้สูงอายุยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนโดยระบุชื่อสกุลที่อยู่และรายละเอียดกับองค์กรปกครองส่วนถิ่นเป็นการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามสิทธิของตนเอง และได้รับรองคุณสมบัติของตนเองแล้วจึงถือได้ว่าผู้สูงอายุได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง #ดังนั้น ผู้สูงอายุจะต้องคืนเงินดังกล่าวให้กับทางราชการต่อไป”

เพจเดียวกันนี้ อ้างถึงข้อเขียนระบุว่าเป็นข้อเขียนของนายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) ว่า “ในกรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่า ผู้สูงอายุรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ #ในวันที่ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อความในแบบคำขอว่า #ข้าพเจ้าขอรับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบข้างต้น

จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ากรณีจึงเป็นการแสงข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้สูงอายุไม่อาจอ้างความเชื่อโดยสุจริตของคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองได้

กรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง ได้ไปให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้ได้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้น หากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริต ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสามผู้นั้นต้องรับผิดชอบคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน

การที่ผู้สูงอายุยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียน โดยระบุชื่อสกุลที่อยู่และรายละเอียดกังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามสิทธิของตนเอง และได้รับรองคุณสมบัติของตนเองแล้วจึงถือได้ว่า ผู้สูงอายุได้แสงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง #ดังนั้น ผู้สูงอายุจะต้องคืนเงินดังกล่าวให้กับทางราชการต่อไป

ทั้งนี้ ในเพจดังกล่าวมีผู้สอบถามว่า กรณีนี้ทางชมรมฯ จะช่วยข้าราชการ อปท.อย่างไร โดยทางเพจระบุข้างต้นว่า “ได้คุยกับกรณีที่บุรีรัมย์แล้ว”

ส่วนกรณีที่นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง (บช.) ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง ระบุว่า กรณีดังกล่าว ในปี 2563 ได้มีการดำเนินการโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-social welfare) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจ่ายตรงเบี้ยชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ระหว่างกรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)

ผู้สื่อข่าวพบว่า กรมบัญชีกลางได้ทำคู่มือการเรียกรายงาน ระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. เมื่อกลางปี 2563 ประกอบด้วย

รายงานตรวจสอบการจ่ายเงิน ใช้ในการตรวจสอบผลการขอเบิกในภาพรายบุคคล และใช้เรียกเก็บไว้เป็นหลักฐานในการขอเบิก สามารถเรียกข้อมูลย้อนหลังได้

รายงานการจ่ายเงินรายบุคคล ใช้สำหรับตรวจสอบการจ่ายเงินให้ของผู้มีสิทธิเป็นรายปี โดยสามารถเรียกได้ตั้งแต่กรมบัญชีกลางนำผลการโอนเงิน เข้าระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และรายงานรายละเอียดการจ่ายเงินรายบุคคล ใช้สำหรับตรวจสอบรายละเอียดการจ่ายเงินให้ของผู้มีสิทธิเป็นรายปี โดยสามารถเรียกได้ตั้งแต่กรมบัญชีกลางนาผลการโอนเงินเข้าระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น