xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ด้านกฎหมาย เผยเกร็ดน่ารู้กรณียายวัย 89 ต้องคืนเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ เผยเรื่องราวน่าสนใจกรณียายวัย 89 ถูกเรียกคืนเบี้ยคนชรา 8.4 หมื่น กรณีดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

จากกรณีที่นางบวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี พร้อมด้วยลูกสาว ชาว ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ออกมาร้องขอความช่วยเหลือหลังจากเจ้าหน้าที่ อบต.ได้มาแจ้งว่ามีหนังสือจากกรมบัญชีกลางมาทวงเงินเบี้ยผู้สูงอายุที่จ่ายให้แก่นางบวน ผู้เป็นแม่ ย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปี ต้องคืนเป็นเงินกว่า 84,000 บาท เบื้องต้นเสนอให้นำเงินบำนาญพิเศษที่ยายได้รับเพิ่มเมื่อกลางปี 2562 จากเดือนละ 5,000 เป็น 10,000 ผ่อนชำระคืน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 ม.ค. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “อุดม งามเมืองสกุล” ได้โพสต์ประเด็นกฎหมายกรณีที่ยายได้รับเบี้ยผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง โดยระบุว่า “อบต.จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุไม่ถูกต้อง (นานรวม 10 ปี เพราะจ่ายซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษกรณีลูกชายคุณยายซึ่งเป็นทหารเสียชีวิต) กรมบัญชีกลาง และ อบต.จะเรียกเงินเบี้ยคนชราคืนจากคุณยายปัจจุบันอายุ 89 ปี โดยจะเรียกเงินคืนย้อนหลัง รวมเป็นเงิน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ได้หรือไม่

ความเห็น

- กรณีนี้เป็นกรณี “ลาภมิควรได้” ซึ่งหน่วยงานทางปกครอง คือ อบต. จะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องในทางแพ่ง (ไม่ใช่คดีปกครอง เทียบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 222/2560)

- หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ป.พ.พ. มาตรา 412 ดังนั้น หากคุณยายได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุไว้โดยสุจริต (การฟังข้อเท็จจริงได้ว่าคุณยายไม่ทราบข้อกฎหมาย/ปิดบังข้อเท็จจริงที่ตนใช้สิทธิซ้ำซ้อน) และหากคุณยายรับเงินไว้โดยสุจริต และได้นำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่จะถูกเรียกคืน คุณยายจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 (เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559)

- กรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อต่อไป

ป.พ.พ.มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412”



กำลังโหลดความคิดเห็น