xs
xsm
sm
md
lg

“นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสื่อสาร ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบการเสมอไป” ลักษณะต้องห้าม ผู้ผ่านการสรรหา กสทช. ที่สังคมกำลังสงสัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ


พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
โดย พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่


เป็นดังที่คาดการณ์ไว้พอเห็นรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาเป็น กสทช. แล้ว คนในวงการต่างก็เริ่มมีข้อกังขา ทั้งเรื่องลักษณะต้องห้าม และประสบการณ์ ซึ่งมักเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า โมเดลการใช้กรรมการสรรหา กสทช. ไม่เข้าท่า ผู้สมัครแต่ละด้านยังมีหลายคนที่สังคมสงสัย เลือกผู้เชี่ยวชาญกระจายเสียงก็ได้ทหาร เลือกผู้ มีประสบการณ์คุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ตำรวจ เลือกคนทำงานเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ได้นักเศรษฐศาสตร์ เลือกคนทำงานวิศวกรรมก็ไม่ได้วิศวกร เป็นต้น

ในอดีตนั้นใช้วิธีการให้องค์กรวิชาชีพเลือกกันเอง ภาคสมาคม ภาคสถานศึกษา กระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม ซึ่งล็อบบี้ยากเพราะมีจำนวนมาก จึงแก้กฎหมายมาใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็น ตัวแทนจาก 7 องค์กร ประกอบด้วย 1.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายธงชัย เสนามนตรี ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3.นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการในศาล ปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 4.นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 5.นายวีระยุทธ ปั้นน่วม กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6.พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 7.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งสิ้น

ทั้งนี้ข้อสังเกตคือ กรรมการสรรหาที่จบกฎหมาย และเชี่ยวชาญกฎหมายมีเพียง 3 ท่าน ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อาจเป็นได้ที่อีกหลายท่านวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ตรงกัน ที่น่าสนใจอีกประการ คือ การสรรหา กสทช. ครั้งนี้ไม่ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นข้อสังเกตที่ทำให้ดูไม่โปร่งใส แต่หากพิเคราะห์ในแง่บวกก็คือ เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องกระบวนการสรรหาจะล่าช้า เพียงทดไว้ในใจไม่เลือก แต่ แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า รายงานการสรรหา กสทช. จะเปิดเผยรายชื่อว่า กรรมการสรรหาท่านใด เลือกใคร และไฮไลท์คือ “กรรมการสรรหาเลือกคนมีลักษณะต้องห้าม” โดยเฉพาะการเลือกผู้รับใบอนุญาตประกอบ กิจการเต็มๆ อย่างไรก็ดียังเป็นที่ถกเถียงว่า บางคนได้คะแนนแต่ไม่ผ่านการสรรหาก็ยังพอเงียบๆ แต่คนที่ผ่าน การสรรหาก็ยังเกิดข้อสงสัยอยู่ดี โดยเฉพาะ มาตรา 7 ข. (12) พ.ร.บ. กสทช. บัญญัติไว้ว่า “เป็นหรือเคยเป็น กรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงานผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่น ใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่ง ปีก่อนได้รับการคัดเลือก"

หลักกฎหมายในมาตรานี้กำหนดลักษณะต้องห้ามป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนคือ “ห้าม กรรมการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น นิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจสื่อสาร ภายใน 1 ปี มาสมัครเป็น กสทช.” นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ไม่ได้แปลว่าเฉพาะ ผู้รับใบอนุญาต จาก กสทช. เท่านั้น ตรงกันข้ามไม่มีคำว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเลย

แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาได้มีหนังสือไปยัง สำนักงาน กสทช. สอบถามรายชื่อองค์กรที่ บรรดาผู้สมัคร กสทช. ทำงานอยู่ว่าเป็น ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่? ซึ่งองค์กรไหนไม่ได้รับ ใบอนุญาตประกอบกิจการ สำนักงาน กสทช. ก็ตอบว่าไม่เป็น อย่างผู้สมัครบางรายเป็นกรรมการ การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จาก กสทช. สำนักงาน กสทช. ก็ตอบว่าเป็นผู้รับใบอนุญาต

แต่...กฎหมายเขียนว่า “นิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้าน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม” เป็น กสทช. ไม่ได้ ไม่ใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น คือ นิติบุคคลบางรายไม่ขอ อนุญาตหรือนิติบุคคลบางรายได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต ถามมาแค่ไหนสำนักงาน กสทช. ก็เลยตอบแค่ นั้น ไม่ได้ถามความเห็นว่า นิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้าน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือ กิจการโทรคมนาคม ที่กฎหมายเขียนไว้ เป็นใครได้บ้าง !!!

นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอยู่ไม่มีข้อยกเว้นในกฎหมายว่าเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และหน่วยงาน รัฐเองก็มีกำไร มีขาดทุน มีรายได้ มีโฆษณา มีสัมปทานกันอยู่ เช่น กองทัพอากาศ ก็มีสถานีวิทยุมากมาย ก็ ได้รับยกเว้นยังไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเพราะครอบครองคลื่นก่อนมีกฎหมาย กสทช. สำนักงาน กสทช. มี สถานีวิทยุ 1 ปณ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีสถานีวิทยุคลื่นความถี่ FM 101.5 ต่างก็ประกอบธุรกิจ กระจายเสียงแข่งขันในตลาดมีรายได้จากการขายโฆษณา และจัดสรรเวลาออกอากาศ

อดีตเลขาธิการ กสทช. ฐากร และเสธฯ ไก่อู เองก็อาจเข้าลักษณะต้องห้ามในมาตรานี้ เพราะ กสทช. เองก็มีสถานีวิทยุ 1 ปณ. และเสธฯ ไก่อู เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีทั้งสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ล้วนประกอบธุรกิจรับโฆษณา เสียดายที่เราไม่ได้เห็นข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นบรรทัดฐานสังคม รายชื่อผู้ผ่านการสรรหาที่ตั้งข้อสงสัยในลักษณะต้องห้ามในมาตรา มาตรา 7 ข. (12)

1. ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผบ.ทอ.
กองทัพอากาศเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจกระจายเสียงแน่นอนอันสามัญวิญญูชนทั่วไปจะเข้าใจได้ และท่านเพิ่งเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 ยังไม่ถึงเดือนก็ลงสมัคร กสทช. ในเดือน ตุลาคม 2563 เรียกว่ายังเว้นไม่ถึง 1 ปีตามที่กฎหมายเขียนไว้เลย

2.ด้านกิจการโทรทัศน์ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจกระจายเสียงแน่นอน เพราะมีสถานีวิทยุคลื่น ความถี่ FM 101.5 ให้สาระความรู้ และความบันเทิง แน่นอนว่าท่านเป็นผู้บริหารหรือพนักงานที่ยังไม่ได้ ลาออกถึง 1 ปีก่อนวันสมัคร

3. ด้านวิศวกรรม แม้ไม่มีผู้มีลักษณะต้องห้าม แต่ลือกันว่าให้คอยรอดูรายงานที่คณะกรรมการสรรหา ท่านใดเลือก พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย ผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จาก กสทช.

กรรมการเลือกผู้มีลักษณะต้องห้ามขัดกฎหมายหรือเลือกคนขาดคุณสมบัติไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะมอง ผ่านไป เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจทางกฎหมายมากมาย ตั้งแต่คะแนนนั้นควรเป็นโมฆะหรือไม่? ถ้าเป็นจะทำ อย่างไร? กรรมการเลือกคนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายควรทำอย่างไร? แน่นอนสะท้อนให้เห็นคุณธรรมและ จรรยาบรรณผู้นั้นชัดเจน

ก่อนสิ้นเดือนมกราคม สำนักงานเลขาวุฒิสภาต้องส่งรายงานการสรรหา กสทช. ไปยังวุฒิสภา และ กรรมการมีมติให้เปิดเผยว่า กรรมการท่านใด เลือกใครบ้าง จะได้เห็นบุญคุณหรือเห็นพรที่ให้ตามคำขอแล้วนะ ส่วนท่านที่เลือกคนที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ก็จะได้เป็นที่กล่าวขานในวงการสื่อสารกันต่อไป

4.ด้านเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ ท่านเป็นรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ แม้เรียนจบมาหลายใบ ทำงานบริหารธุรกิจมาก่อนสอนหนังสือวิชาบริหารมาก่อน แต่มาลงสมัครด้านเศรษฐศาสตร์ก็ผ่านการสรรหา ซะงั้น

แต่ประเด็นที่น่าสนใจในลักษณะต้องห้ามข้อนี้คือ ท่านเป็นผู้บริหารเพียงหนึ่งเดียวจาก กสทช. ที่มี สถานีวิทยุ 1 ปณ. หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจกระจายเสียง ที่ผ่านเข้ารอบไปอย่างราบรื่น

5. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน น่าสนใจทั้ง 2 ท่าน

1. พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์
ปัจจุบันเป็น กรรมการ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7Up แม้ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโดยตรงจาก กสทช. แต่เป็นนิติบุคคล ประกอบธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบการจาก กสทช. ทางอ้อมเนื่องจาก บริษัท 7Up นี้ถือหุ้นในบริษัทอื่น อีกมากมายเช่น บริษัท 3 พี อินโฟ เซอร์วิส จำกัด ที่ถือหุ้นผ่านบริษัท บริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น 70% เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงชาย ขอบ (USO NET) เฟส2 ของ กสทช. โดยตรงเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 มูลค่าราว 2,000 ล้านบาท และ 7Up ยังถือหุ้นผ่าน บริษัท อินฟอร์เมติกส์พลัส จำกัด มีและบริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด โดยประกอบธุรกิจเทคโนโลยี สารสนเทศและให้บริการด้าน Information and Communication Technology

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงข้อสงสัยที่สะท้อนดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาว่า ท่าน พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ เอาประสบการณ์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอและ ต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีจากที่ไหนมาเขียนในใบสมัคร

2. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ เป็น ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. เป็นที่น่าสังเกตอย่างชัดเจน ว่า ลักษณะต้องห้ามใน มาตรา 7 ข. (12) คือ ต้องไม่เป็น ที่ปรึกษา ในนิติบุคคลที่ประกอบกิจการกระจายเสียง ภายใน 1 ปีและสำนักงาน กสทช. มีสถานีวิทยุ 1 ปณ.

คณะกรรมการสรรหาไม่ได้ให้ความโปร่งใส และความกระจ่างต่อสังคมหรือประชาชนผู้สนใจติดตาม ข่าวสารว่า ลักษณะต้องห้ามใน มาตรา 7 ข. (12) คือ ใคร? นิติบุคคลที่ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้นอย่างแน่นอนเพราะ กฎหมายก็เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนว่า “นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ...” คณะกรรมการสรรหา ตีความอย่างไร? เพราะมีรายได้จริง มีขายโฆษณาจริงแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดจริง ถึงไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจกร กสทช. ก็ต้องกำกับดูแลจริง แล้วเหตุไฉน ผู้บริหาร กรรมการ ที่ปรึกษา บางคนก็ได้ คะแนน บางคนก็ผ่านสรรหา ทำไมมีหลายมาตรฐานจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น