ตรรกะบิดเบี้ยว? “อัษฎางค์” ตรงไปตรงมา ม.112 มีไว้ทำไม ชี้ที่เดือดร้อนคือคนต้องการล้มเจ้า “กูรู” ทัวร์ลง “ปริญญา” อดีตผู้พิพากษา กระตุกต่อมสำนึก เป็นถึงรองอธิการ ม.ที่สอนกฎหมายตั้งแต่ 2477 คิดแบบนี้สังคมอยู่ได้อย่างไร
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (27 พ.ย. 63) เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า
“ทำไม ม.112 สำคัญ?
คำตอบคือ ม.112 คือ เครื่องมือในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เครื่องมือในการกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง อย่างที่โดนแหกตา ด้วยคำว่าเบิกเนตร
พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง คือ พระองค์ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่นักการเมืองไปดึงท่านให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ผู้ที่เห็นว่า ม.112 มีปัญหาคือคนที่ต้องการทำลายสถาบันฯ
คิดง่ายๆ เราเดือดร้อนกับ ม.112 หรือไม่
คำตอบคือ เราไม่เดือดร้อนเลย
ส่วนคนที่เดือดร้อน คือ คนที่พยายามจะฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะหวังจะจาบจ้วง ให้ร้ายและทำร้ายสถาบันฯ”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความตอบโต้การแสดงความเห็นของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แนะรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา112 ไม่ใช่ทางออกระบุว่า
...ถ้าผู้ที่เรียนจบกฎหมายแล้วสอนกฎหมายในคณะนิติศาสตร์และเป็นรองอธิการบดีกับคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชากฎหมายมาตั้งแต่ปี 2477 ไม่ยึดถือหลักกฎหมายแล้ว ....สังคมไทยจะยึดถืออะไรเป็นหลักและจะดำรงอยู่ได้อย่างไร
ไม่เพียงเท่านั้น นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค กล่าวถึงกรณีที่นายปริญญา บอกว่า หากการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 แล้วจะเกิดปัญหากับกลุ่มบุคคลที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ดังนั้น ตนจึงมีความจำเป็นต้องมีความเห็นแย้ง เพื่อให้เห็นถึงหลักการ
1. หลักการในเรื่องมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่มีใจความสำคัญว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สถานะกฎหมายมาตรานี้ ยังมีผลใช้บังคับ มีเจตนารมณ์ชัดเจนในเรื่องการป้องกันเพื่อไม่ให้มีผู้ที่มีเจตนา ใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ต่อพระมหากษัตริย์ หรือดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย
2. ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประจักษ์ชัดว่า การกระทำทั้งใช้วาจา โฆษณาวาดเขียน มีลักษณะเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏความผิด แม้ว่าจะไม่มีใครแจ้งความ เจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นการกระทำดังกล่าวไม่มีทางอื่น นอกจากดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด
3. หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ก็ต้องถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
4. บ้านเมืองจะสงบ ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากทำผิดกฎหมาย แต่คิดว่ากลุ่มที่ทำผิดมีคนจำนวนมาก หากดำเนินการตามกฎหมายคนเหล่านี้จะโกรธ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรมีกฎหมาย ต้องยกเลิกกฎหมายทุกฉบับให้หมด แล้วก็ให้ทุกคนทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ
5. ตนคิดว่า คงไม่ต้องให้นักกฎหมายบอกว่าผิดไม่ผิด แต่ทุกคนดูออกว่า ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีความผิดหรือไม่ ไปไกลมากกว่าการใช้วาจาหยาบคายไม่เหมาะสมแล้ว
6. ที่บอกว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนที่เรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเมื่อบังคับใช้มาตรา 112 นั้น ผมคิดว่า การบังคับใช้กฎหมายแล้วทำให้เกิดปัญหา ก็ถือว่าผิดหลักการของรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย
“ทำไมไม่กลัวว่า ปัญหาจะเกิดกับประชาชนที่อยู่ในเรือนจำที่เขาทำความผิดอื่นบ้าง เพราะที่เขาอยู่ในเรือนจำนั้น ก็ล้วนเกิดมาจากการบังคับใช้กฎหมายทั้งสิ้น คนในสังคมอย่าไปคิดอะไรแบบฉาบฉวยตามกระแส เพราะไม่มีสิ่งไหนหนีหลักการความถูกต้องไปได้ อาจไม่สะใจใคร แต่นั่นคือสิ่งที่ยั่งยืน และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้หลักนิติรัฐ”
ทั้งนี้ วานนี้ (26 พ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความว่า
“แม้จะมีผู้ปราศรัยที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม หรือถึงกับหยาบคาย แต่รัฐบาลไม่ควรใช้ มาตรา 112 ในการดำเนินคดี
เพราะนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์ไม่ทรงให้ใช้มาตรา 112 ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะใช้มาตรา 112 อีก จะถูกตีความได้ว่า ท่านทรงเปลี่ยนพระราชประสงค์ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนที่เรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ และแก้ปัญหา ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเช่นนี้ และดังนั้น ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาแบบอื่น ไม่ใช่การใช้มาตรา 112”
แน่นอน, ประเด็น เกี่ยวกับ ม.112 มีสองด้านที่ต้องวิเคราะห์ ด้านหนึ่ง มีข้อกล่าวหาว่า มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อีกด้านหนึ่ง เป็นความผิดที่มีโทษรุนแรง รวมทั้งเป็นความผิดที่ตีความได้อย่างกว้างขวาง
เรื่องนี้นักวิชาการบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งแต่สมัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และอาจมีการถกเถียงกันก่อนหน้านั้นแล้ว
ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงดังกล่าวก็เคยมีการรณรงค์ เรียกร้อง ให้ยกเลิก มาตรา 112 มาแล้ว
กระทั่งวันนี้ ไม่เพียง มาตรา 112 ที่นักวิชาการบางกลุ่ม ซึ่งบางคนรุกคืบถึงขั้นตั้งพรรคการเมือง หวังแก้ไขในสภา ควบคู่ไปกับ การปลุกพลังกดดันนอกสภา ซึ่งกลุ่มคนที่ชอบธรรมที่สุดก็คือ กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะสามารถใช้ข้ออ้าง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ได้ รวมทั้งเยาวชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์ สังคมไทย และรัฐบาล คงไม่กล้าที่จะใช้ความรุนแรงในการหยุดยั้ง
ที่ต้องไม่ลืมอีกอย่างก็คือ ในช่วงหลังเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา เคยมีข่าวว่า พรรคการเมืองบางพรรคเข้าไปแทรกซึม ปลูกฝังแนวคิดบางอย่าง ในโรงเรียนหลายแห่ง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมค่ายนักเรียนขึ้น
และก่อนที่จะมีแฟลชม็อบในหลายมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ก็เคยมีข่าวแกนนำพรรคการเมืองบางพรรค แทรกซึมในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้วเช่นกัน ซึ่ง “คอนเนกชัน” ก็คือ อาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์เดียวกันนั่นเอง
แล้วก็ไม่แปลก ที่อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการมหาวิทยาลัย จะออกมาร่วมลงชื่อสนับสนุนการชุมนุมของม็อบเยาวชนอยู่เป็นระยะ ทั้งที่รู้ว่า ม็อบเยาวชนกำลังเคลื่อนไหว ประเด็นปฏิรูปสถาบัน และจาบจ้วงสถาบัน อันนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย
ประเด็นก็คือ ตอนนี้เป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่ยกเลิก ม.112 แล้ว หากแต่คือ การ “ปฏิรูปสถาบัน” ซึ่งเพดานสูงกว่า ที่เคยรณรงค์ และต้องการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ยิ่งกว่านั้น นักการเมืองที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ บางคนถึงกับพูดว่า ถ้าไม่ยอมปฏิรูปแต่โดยดี ก็ต้องระวังจะถูก “ปฏิวัติ” ความหมายก็คือ การล้มล้างในที่สุดนั่นเอง
ส่วน ม.112 เวลานี้คือ กฎหมายที่พยายามบังคับใช้เพื่อหยุดยั้ง ความเหิมเกริมของม็อบเยาวชน หรือ ม็อบราษฎร 63 ซึ่งหลายฝ่ายก็แสดงความเห็นไปแล้ว ว่า มีการทำผิดอย่างชัดเจน
มาถึงตรงนี้ คงจะรู้แล้วว่า ม.112 คือ กฎหมายที่ทำให้คนบางกลุ่มเดือดร้อน เนื่องจากต้องการปฏิรูปสถาบันฯ (อยากวิพากษ์สถาบันได้อย่างตรงไปตรงมา) หรือไปให้สุดก็คือ ปฏิวัติสถาบันฯ
ก็อย่างที่ “อัษฎางค์” ว่า ถ้าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน ก็คงไม่มีปัญหาการบังคับใช้ ม.112 และคนส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนั้น เพียงแต่คนที่พยายามต่อสู้เรียกร้อง เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ย่อมไม่เห็นด้วยกับคนส่วนใหญ่ และพร้อมที่จะหักหาญโดยไม่เกรงใจ ไม่สนใจว่าจะรักและเทิดทูนอย่างไร ปัญหาจึงดูเหมือนจะเดินมาถึงทางตันเรียบร้อย ตราบใดที่ม็อบราษฎร 63 ไม่ยอมถอย และยังคงยึดมั่น สโลแกนของนักการเมืองบางคนที่ว่า “สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส”
อย่าลืม แม้แต่อาจารย์สอนกฎหมาย ที่ควรเน้นย้ำให้ยึดหลักกฎหมายในการหยุดยั้งการทำผิดที่เหิมเกริมขึ้นทุกวัน ยังออกมาบอกในทำนอง ให้ละเว้นที่จะบังคับใช้ ม.112 คิดดูเอาเองก็แล้วกัน!