เมืองไทย 360 องศา
เหลือเวลาวันนี้ (18 พฤศจิกายน) อีกหนึ่งวัน ที่ถึงกำหนดการลงมติของสมาชิกรัฐสภา สำหรับร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ หลังจากมีการอภิปรายกันตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ก็อย่างที่รับรู้กันมาแล้วว่า มติพรรคร่วมรัฐบาลสนับร่างแก้ไขฉบับที่ 1 และ 2 ที่เป็นร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มายกร่างแก้ไข โดยไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 ที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง และ หมวดที่ 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนฉบับที่ 3-6 พรรคร่วมรัฐบาลงดออกเสียง ส่วนร่างฉบับที่ 7 ขอฟังเหตุผลในสภาก่อน ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติเห็นชอบทั้ง 7 ร่าง แต่ล่าสุด ยังแทงกั๊กในฉบับที่ 7
สำหรับร่างที่หนึ่ง เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เสนอให้แก้ไข มาตรา 256 โดยไม่แก้ไข หมวดที่ 1 และ 2 ซึ่งหลักการคล้ายกับร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นฉบับที่ 2 ส่วนฉบับที่ 3-6 เป็นการเสนอแบบรายมาตราที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักเหมือนกัน
ทำให้มองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ร่างแก้ไขฉบับที่ 1 และ 2 น่าจะผ่านวาระแรกมากที่สุด รวมไปถึงฉบับที่แก้ไขรายมาตรา มีระดับลุ้นรองลงมา เนื่องจากทุกฉบับต้องได้รับการโหวตสนับสนุนจาก ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 84 เสียง
ขณะที่ร่างญัตติ ฉบับที่ 7 ที่เสนอโดยภาคประชาชนในนามของ “ไอลอว์” กลับกลายเป็นว่า “มีปัญหา” มากที่สุด และที่สำคัญมองเห็นแนวโน้มชัดเจนเป็นอันดับแรกว่า จะต้องถูก “ตีตก” หรือ “ไม่ผ่าน” เป็นฉบับแรก เพราะเมื่อพิจารณาจากเนื้อหา และหลักการที่นำเสนอเข้ามาถือว่า “เลยเถิด” เหมือนกับว่าเป็นความเชื่อ ความเห็น ของพวกเขาฝ่ายเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนว่า ร่างแก้ไขฉบับที่ 7 ที่เป็นร่างแก้ไขของกลุ่ม “ไอลอว์” นั้น ไม่มีทางผ่านสภาได้เลย นอกเหนือจากต้องใช้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากพอแล้ว ในจำนวนนั้น นอกจากมี ส.ส.แล้วยังต้องใช้เสียงของ ส.ว.อีกไม่น้อยกว่า 84 คน ถึงจะผ่าน “ด่านแรก” ไปได้
แต่เมื่อมาพิจารณาในเนื้อหาและหลักการสำคัญกันอีกครั้งแบบทำความเข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อนก็คือ ร่างฉบับไอลอว์ ให้แก้ไขทุกมาตรา ในความหมายก็คือ ให้ครอบคลุมไปถึง หมวดที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับระบอบการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์ แค่นี้ก็เชื่อว่าสำหรับหลายคน หรือเกือบทั้งหมดน่าจะ “เกินทนรับไหว” แน่นอน
นอกเหนือจากนี้ อย่างที่ทราบกันมากขึ้นแล้วว่า ยังมีเนื้อหาที่ให้ความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับคดีทุจริต คดีความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง นั่นคือ คนที่เคยถูกจำคุกจากคดีทุจริต ถูกดำเนินคดีในคดีประเภทนี้ รวมไปถึงพวกที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็จะพ้นความผิด เสมือนได้รับการ “นิรโทษ” ไปโดยปริยาย
เพราะในเนื้อหาของร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว ระบุว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องความผิดเกี่ยวกับการทุจริตทั้งปวง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ฯลฯ ให้พ้นสภาพ หรือใช้คำว่า “สิ้นผล” ไปทั้งหมด ซึ่งหลังจากนั้น ก็จะเกิดสุญญากาศไม่น้อยกว่า 6 เดือน
กล่าวให้ชัดเจนลงไปอีก ก็คือ หากแก้ไขสำเร็จตามที่กล่าวมา ก็จะส่งผลให้ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนจำคุกคดีทุจริตและหลบหนีคดีไปตลอดชีวิต หากไม่ยอมกลับมารับโทษ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับพวก ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกสั่งยุบพรรคและถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี พวกนี้ก็จะลอยนวลกลับมา เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น มาแบบ “เท่ๆ” อย่างที่บางคนเคยพูดเอาไว้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปลีกย่อยหากสามารถไปถึงขั้นมี ส.ส.ร.ได้สำเร็จ ก็คือ มีการกำหนดคุณสมบัติเอาไว้แค่ว่า ให้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปก็สามารถลงสมัคร เป็น ส.ส.ร.ได้แล้ว โดยไม่มีการระบุข้อห้ามในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามใดๆ และให้สมัครได้แบบมาเดี่ยว หรือมาเป็นกลุ่ม โดยให้หาเสียงว่าจะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนก็ได้ ตามต้องการ
เชื่อว่า นาทีนี้หลายคนเพียงได้อ่านถึงเนื้อหา และหลักการ รวมไปถึงได้รับรู้ถึงผลที่จะตามหากการแก้ไขทำได้สำเร็จ นั่นคือโอกาสที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลง “รูปแบบการปกครอง” ก็เป็นไปได้สูงมาก เพียงแค่นี้เชื่อว่า คง “อารมณ์ขึ้น” กันแล้ว
เพราะหากย้อนกลับไปในอดีตในช่วงการชุมนุมต่อต้าน “นิรโทษกรรมสุดซอย” ให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร กับพวก ก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างมืดฟ้ามัวดินแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นประเทศไทย และคราวนี้หากผ่านก็ลองหลับตาเอาก็แล้วกันว่า “จะขนาดไหน” เพราะหากพิจารณาจากองค์ประกอบอีกหลายอย่าง เช่น เรื่อง “การรับเงินต่างชาติ” มาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุด เชื่อว่าไม่ต้องพูดกันแล้วว่า มัน “ไม่มีความชอบธรรม” อย่างสิ้นเชิง !!