เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการที่ทราบกันดีแล้วว่า วันที่ 17-18 พ.ย.เป็นวันที่รัฐสภาจะพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระที่พิจารณาจำนวน 7 ญัตติ นั่นคือ ร่างของ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนที่รู้จักกันว่า เป็นร่างฉบับ “ไอลอว์”
หากพิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อย ก็จะแยกเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยังแยกเป็นแบบเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา อีก 4 ฉบับ และฉบับที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยกเว้นในหมวด 1 และ หมวดที่ 2 ที่เกี่ยวข้องระบบการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอย่างหลังนี้มีหลักการใกล้เคียงกับร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต่างกันในรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ร. ว่าจะมาจากการเลือกตั้งกี่คน และมาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมด้วยอีกกี่คนประมาณนี้
อีกร่างหนึ่งเป็นร่างแก้ไขที่เรียกว่า เป็นร่างฉบับ “ไอลอว์” ที่ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระ มาหลังสุด แต่ก็กลายเป็นว่า “มาแรง” ที่สุด ซึ่ง มาแรงในที่นี้ ในความหมายที่ว่า มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะ “ตกไป” ค่อนข้างแน่ และยังกลายเป็น “กระแส” ที่ทำให้ “พลัง” ในการกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรวม ลดลงไปอย่างฮวบฮาบเลยทีเดียว
แม้ว่านาทีนี้ในภาพรวมๆ แล้วยังไม่อาจฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่ามีร่างใดบ้างจะได้รับการโหวตรับหลักการใน วาระที่ 1 หรือว่าจะตกไปทั้งหมด ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ร่างแก้ไขฉบับ “ไอลอว์”นี่แหละที่มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะถูกตีตกมากกว่าฉบับอื่นทั้งหมด
หากย้อนกลับไปไม่นาน เพียงแค่ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ ที่กลุ่มการเมืองจับมือเป็น “แนวร่วมเฉพาะกิจ” กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน “ปลุกกระแส” ชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หาว่าเป็นพวกเผด็จการ สืบทอดอำนาจ ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง และให้แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป้าหมายตอนนั้นยังพุ่งไปที่การ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ซึ่งก็เริ่มสร้างกระแสกดดันได้มากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจากตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้ จะมีการใช้ชื่อในการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไปมากมายหลายชื่อจนจำแทบไม่ไหว แต่เอาเป็นว่า ให้เรียกพวกเขาว่า “ม็อบสามนิ้ว”ก็แล้วกัน เพราะชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์
แต่บรรยากาศมาถึงจุดหักเหสำคัญ เมื่อพวกเขาเปิดเผยเส้นทางสูงสุด มุ่งเป้าหมายไปที่ “สถาบันพระมหากษัตริย์”โดยมีการเรียกร้องกดดันให้มีการ “ปฏิรูป” ในเบื้องต้นมีการเปิดเผยข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ออกมาให้เห็น ซึ่งหลายคนเมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้วความหมาย ก็คือ เจตนา “ล้มล้าง” นั่นเอง
ทำให้เริ่มเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จากคนไทยที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเวลานี้กำลังเกิด “กระแสพลิกกลับ” มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเริ่มสร้างผลกระทบกับบรรดา “แกนนำม็อบสามนิ้ว” รวมไปถึงกลุ่มบุคคล และกลุ่มการเมืองรวมไปถึงพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังม็อบพวกนี้ เพราะถือว่าเป็นพวก “ล้มเจ้า”
สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ จำนวนมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมในระยะหลังมีจำนวนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เมื่อจำนวนมวลชนเข้าร่วมลดลง นั่นก็หมายถึงว่า “พลังกดดัน” ก็เริ่มลดลงตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อบรรดาแกนนำหลายคนต่างถูกดำเนินคดีอาญา มีคดีติดตัวยาวเป็นหางว่าว หากมองในอนาคตมันก็ย่อม “หนาว” กันบ้างแน่นอน
เพราะในความเป็นจริงคงไม่มีมวลชนมาคอยตามเป็น “แบ็ก” คอยกดดันเจ้าหน้าที่ได้นานนับปีตลอดเวลาที่ต้องเดินขึ้นโรงขึ้นศาลในวันข้างหน้า จะสังเกตว่า เวลานี้แกนนำหลายคนเริ่มหายหน้าไป หรือลดบทบาทไม่ “ห้าว” เหมือนก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันนาทีนี้ สิ่งที่ต้องมา “โฟกัส” กันเป็นหลักก็คือ ร่างแก้ไข “ฉบับไอลอว์” ว่าทำไมถึงมีแนวโน้มว่า “ไม่ผ่าน” ซึ่งล่าสุดก็มีมติจากวิปรัฐบาล ว่าจะรับหลักการ ร่างที่ 1 และ 2 นั่นคือ ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ส่วนร่างที่ 3-6 ที่แก้รายมาตรา เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ให้งดออกเสียง ส่วนร่างของไอลอว์ ให้รอฟังการอภิปรายก่อน ซึ่งความหมายก็คือ “ไม่เอา” เพียงแต่ยังไม่บอกตอนนี้ เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากเนื้องหาในร่างไอลอว์ มันก็มีเหตุผลว่า ทำไมถึงกล้าฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่า “ไม่ผ่าน” ประเด็นสำคัญก็คือ มีเป้าหมายที่ถูกมองว่ามีเจตนา “ล้มล้าง” สถาบันฯ เสนอให้แก้ไขทุกมาตรา ทุกหมวดไม่ยกเว้น และที่สำคัญไป “กระตุ้นอารมณ์สังคม” แบบมาแรงแซงทางโค้งก็คือ ยังเป็นร่าง “นิรโทษกรรมให้คนโกง” คนทำผิดแบบ “ยกเข่ง” อย่างแท้จริง
เพราะระบุว่า ให้การบังคับใช้ตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 ต้อง “สิ้นผล” ไปทั้งหมด ในความหมายคือ ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความผิดเกี่ยวกับการทุจริตทั้งปวง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ฯลฯ ให้พ้นสภาพไปทั้งหมด ซึ่งจะเกิดสุญกาศไม่น้อยกว่า 6 เดือน
แต่นั่นไม่เห็นภาพเท่ากับจะทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นความผิด ได้กลับประเทศมาอย่าง “เท่ๆ” และที่สำคัญขาดไม่ได้ก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่มีความผิดจากการถูกยุบพรรค และถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี ก็จะได้กลับเข้ามาสู่วงการเมืองดังเดิม แบบไม่เคยเกิดอะไรขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นยิ่งกว่า “นิรโทษสุดซอย” เสียอีก เพราะ “เลยซอย” ไปไกลสุดกู่ทีเดียว
นอกเหนือจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่แกนนำสำคัญของการรวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไขคือ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ยอมรับว่าพวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ แม้จะบอกว่าไม่มีเงื่อนไข และรับโดยเปิดเผย แต่เมื่อในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ที่มีเป้าหมายพุ่งไปที่สถาบันหลักแบบนี้ แม้จะไม่มีเรื่องของการ “รับเงินต่างชาติ” ก็เถอะ เมื่อเป็นแบบเลยซอยแบบนี้ รับรองว่ายุ่งแน่นอน และหากผ่านไปได้ รับรองว่าจะต้องเกิด “ม็อบใหญ่” แน่นอน
ดังนั้น หากพิจารณากันตามนี้จึงมั่นใจได้ไม่ได้ยาก ร่างแก้ไขของ “ไอลอว์” นั้น มีโอกาสถูกตีตกสูงมาก เพราะเนื้อหาสาระที่ออกมา พุ่งเป้าไปที่สถาบันฯโดยตรง อีกทั้งยังมีเจตนา “นิรโทษกรรมให้คนโกง” แบบ “เหมาเข่ง” เชื่อว่า สังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะยิ่งกว่า “สุดซอย” แต่นี่มัน “เลยซอย” ไปสุดกู่”และรับรองว่า ป่วนแน่นอน !!