นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) นำ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) มาใช้ในภารกิจของคมนาคม โดยได้นำนโยบายตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลาย ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน
ล่าสุด นายศักดิ์สยามพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารที่นำนโยบายมาปฏิบัติ ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ประกอบด้วย นครพนม บึงกาฬ และเลย เมื่อวันที่ 25-26 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโครงการดังกล่าว โดย 3 จังหวัดข้างต้นนั้นถือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับต้นๆ ของภาคอีสาน มีเกษตรกรชาวสวนยางเป็นจำนวนมาก ที่จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ และเป็นส่วนร่วมในโครงการนี้ได้
ต้องยอมรับว่า การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้นั้นนับเป็นประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมถึงช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เนื่องจาก ทั้ง RFB และ RGP จะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ที่ได้รับการการันตีจากสถาบันชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังส่งผลให้มีสัดส่วนการใช้น้ำยางพารา เป็นส่วนผสมจำนวนมาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา สร้างรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
ประเดิมที่จังหวัดนครพนม โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยามได้เปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) บริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ กิโลเมตรที่ 55+425-55+575 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งที่ 3 หลังจากได้นำร่องไปแล้ว 2 ครั้ง ที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดสตูลตามลำดับ
สำหรับการดำเนินการที่จังหวัดนครพนมนั้น ดำเนินการใช้ยางก้อนถ้วยซึ่งเป็นผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่า 55% ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) และภาคเหนือ เนื่องจากยางก้อนถ้วยผลิตง่าย และไม่ต้องใช้เงินลงทุน และแรงงานจำนวนมาก โดยเมื่อนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในโครงการฯ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
ต่อกันที่เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา งานนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการดังกล่าวที่จังหวัดบึงกาฬ บริเวณทางหลวงหมายเลข 222 ตอนท่ากกแดง-บึงกาฬ กิโลเมตรที่ 125+330-126+700 ตำบลบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารากว่า 1 ล้านไร่ นับว่าเยอะที่สุดในภาคอีสาน และปิดท้ายที่จังหวัดเลย ได้จัดพิธี Kick Off บริเวณทางหลวงหมายเลข 21 ตอนโคกงาม-หนองบง กิโลเมตรที่ 346+207-347+300 ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทั้งนี้ จังหวัดเลย ถือเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับต้นๆ ของภาคอีสาน
สรุปได้ว่า โครงการดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ให้แก่หลายภาคส่วนจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง สะท้อนจากราคายางก้อนถ้วยในปัจจุบัน ที่มีราคาสูงถึง 43 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมยางก้อนถ้วยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำยางพารานั้น ภายใน 1 เดือนนับจากการเปิดโครงการที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 43 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 61.30 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 20 บาทต่อกิโลกรัม
ในส่วนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563-2565 โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆ ปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน
นับว่าเป็นนโยบายที่กระทรวงคมนาคมบูรณาการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร จากปัญหาราคายางตกต่ำ ยางล้นตลาด ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนอีกด้วย