“อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ลุยแบริเออร์ยางพารา นำร่อง 3 จังหวัดอีสาน “นครพนม-บึงกาฬ-เลย” แหล่งปลูกยางสำคัญ ลั่น 3 เดือนต้องการซื้อยางอีกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นตัน ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาให้เกษตรกร
วันนี้ (26 ก.ย) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดเลย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าผลักดันการใช้ยางพารากว่า 1 ล้านตันภายในระยะเวลา 3 ปี สร้างรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยพัฒนายางพารานำไปใช้เป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต หรือ RFB (Rubber Fender Barrier) และหลักนำทางยางธรรมชาติ หรือ RGP(Rubber Guide Post) ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน หรือ Kick Off ในพื้นที่ภาคตะวันออกและที่ภาคใต้แล้วภายในระยะเวลากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 62 บาทต่อกิโลกรัม
โดยประเมินว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือน คือ ธ.ค. 63-ก.พ. 64 จะต้องใช้ปริมาณยางพาราเพื่อนำมาผลิต แบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทางยางพาราอีกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นตัน ซึ่งสูงเกือบเท่ากับการใช้ยางพาราในปี 2561 ทีเดียว
สำหรับจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศไทย กระทรวงคมนาคมจึงเลือกมาเปิดโครงการเพื่อศึกษากระบวนการผลิต อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการใช้ยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่าร้อยละ 55 ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ด้วยการเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้มากขึ้นสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศมากขึ้น
จังหวัดบึงกาฬมีการผลิตยางก้อนถ้วยค่อนข้างมาก ซึ่งหากราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ 21 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรขาดทุน จะพยายามผลักดันให้ราคาไปที่ 28-30 บาทต่อกิโลกรัมให้ได้เพราะเป็นราคาที่เกษตรกรมีกำไร
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จ.บึงกาฬมีสหกรณ์การเกษตร 41 แห่ง มีเกษตรกรจำนวน 10,216 ราย พื้นที่ปลูกยาง 130,000 ไร่ ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี มีกำลังการผลิตยางแผ่นครอบแบริเออร์ 579 กม./ปี มีกำลังการผลิตหลักนำทางยางพารา 832,800 ตัน/ปี