xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม ลุย kick off ยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนนภาคอีสาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคม จับมือ กษ. ลุย kick off โครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ในภาคอีสาน นำร่อง ทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ นครพนม พร้อมชูธงนำยางก้อนถ้วย ผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีด-หลักนำทางยาง

วันนี้ (25 ก.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Of) บริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ กิโลเมตรที่ 55+425-55+575 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา รับทราบ แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยดังกล่าว โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) รวมถึงตามที่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องอุปกรณ์ทางด้าน การจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงาน สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการนี้ โดยมีผลศึกษาและทดสอบชัดเจนว่า การนำ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติมาใช้ สามารถที่จะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน รวมทั้งมีสัดส่วน การใช้น้ำยางพารา เป็นส่วนผสมจำนวนมาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา สร้างรายได้ โดยตรง ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

“ราคายางก้อนถ้วย ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นสูงถึง 37.10 บาทต่อกิโลกรัม จากช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่เปิดตัวโครงการ ในการเซ็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงนั้นยางก้อนถ้วยมีราคาประมาณ 32 บาทต่อกิโลกรัม โดยการนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในการผลิตแผ่น ยางพาราคลุมแท่งแบริเออร์ ทุก 1 เมตร ใช้ยาง 28 กิโลกรัม โดยมีราคาขายที่ 3,400 บาท ดังนั้น เป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา ได้ถึง 121 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการยกระดับยางพาราก้อนถ้วย ไปทั้งระบบอีกด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า โครงการในครั้งนี้ จะได้ไปศึกษากระบวนการผลิตอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการใช้ยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่าร้อยละ 55 ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากยางก้อนถ้วยผลิตง่าย และไม่ต้องใช้เงินลงทุนและแรงงานจำนวนมาก

เมื่อนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในโครงการ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีรายได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้น

สำหรับกำหนดการเปิดโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย วันที่ 25 ก.ย. 2563 จังหวัดนครพนม จากนั้นในวันที่ 26 ก.ย. 2563 ที่ จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดเลย ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจ ชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด

ด้าน นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า การนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการดูดซับปริมาณยางพาราออกจากระบบ สร้างเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการศึกษาและวิจัย พบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความเหมาะสมและมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ โดยก่อนนำมาใช้งานจริง ได้ทำการทดสอบทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งเข้าชนเพื่อวัดแรงปะทะที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน สามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก

นายปฐม กล่าวต่ออีกว่า กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2553-2565 โดย มีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับจำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆ ปี ปีละไม่น้อย กว่า 336,000 ตัน








กำลังโหลดความคิดเห็น