xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”ฟุ้งราคายางทะลุเป้า “แบริเออร์หุ้มยาง”ได้ผล จ่อของบ2.6 พันล.ลุยล็อต2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม”จ่อของบกลาง ปี64 วงเงิน 2.6 พันล.ลุย แบริเออร์หุ้มยางพารา ล็อต 2 พร้อมนำร่องภาคอีสานที่”นครพนม”ฟุ้งดันราคายางทะลุเกิน61 บาท/กก. เกินเป้าหมาย สั่งทล.-ทช.วัดผล มั่นใจลดสถิติอุบัติเหตุตามเป้า

วันที่ 25 ก.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) บริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ กิโลเมตรที่ 55+425 - 55+575 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปลัดกระทรวงฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร่วม

สำหรับโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดเลย ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยก่อนหน้านี้มีโครงการนำร่อง (Kick Off) การนำยางพารา มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ในการก่อสร้างแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และ หลักนำทางยางธรรมชาติ(Rubber Guide Post : RGP) 2 ครั้ง ครั้งที่1 ในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณทางหลวงหมายเลข  3249 ตอนควบคุม 0100  ตอนเขาไร่ยา -  แพร่งขาหยั่ง กม. 3+164 ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

โครงการนำร่องครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้บริเวณทางหลวงหมายเลข 404 กม.ที่ 102+150 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยางพาราเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ประสบปัญหาราคาตกต่ำ การนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทางถนนจากยางพารา ซึ่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา สร้างรายได้ โดยตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท”นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า วันเริ่มต้นโครงการ 25 ส.ค. 63 ราคาน้ำยาง อยู่ที่ 43 บาท/กก. ผ่านมา1 เดือน วันนี้ราคาน้ำยางเพิ่มเป็น 61.30 บาท/กก.หรือขึ้นมาเกือบ30% สำหรับ ผลผลิตเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือจะเป็นยางก้อนถ้วยมากกว่า 55 % ซึ่งที่ผ่านมาราคาตกลงไปเหลือแค่ 20บาท/กก. คิดว่าหากขายได้25 บาท/กก.ก็น่าพอใจแล้ว แต่หลังจากนี้ สหกรณ์การเกษตรฯจะซื้อยางตรงจากเกษตรกร จะทำให้ราคายางก้อนถ้วย เพิ่มเป็น 43 บาท/กก. หากขายไม่ได้ราคานี้ ให้ร้องเรียน

และจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ตามกลไกตลาดเนื่องจากเมื่อดำเนินการครบแผนงาน3 ปี (2563-2565 ) แล้ว จะมีการเปลี่ยนยางครอบแบริเออร์ ที่เสื่อมสภาพประมาณ 1 ใน3 ซึ่งจะมีการซื้อยางจากเกษตรไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน/ปี ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ชาวสวนยางได้


โดยครม.ได้อนุมัติงบกลางปี63 สำหรับดำเนินการ ล๊อตแรก ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการวงเงิน 2,700ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนพ.ย.นี้ และหลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะเสนอของบประมาณงวดที่2 เป็นงบกลางปี 64 ประมาณ 2,600 ล้านบาท สำหรับดำเนินการโครงการในเดือนธ.ค. 63-ก.พ.64 และจะเสนอของบประมาณเป็นงวดๆ ต่อไป

ซึ่งโครงการนอกจากจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพแล้ว จะทำให้ลดอุบัติเหตุบนถนนและการเสียชีวิตลดลง ซึ่งที่ผ่านมามีสถิติถึง20,000 คน/ปี โดยนายกฯให้ประเมินผลสถิติอุบัติเหตุ จุดที่มีการติดตั้งแบริเออร์หุ้มยางพารา ก่อนและหลัง ขณะที่ก.เกษตรฯจะต้องประเมินราคายาง มีการปรับตัวไปในลักษณะใด เพื่อวิเคราะห์ว่าโครงการมีผลเป็นไปตามที่ตั้งไว้หรือไม่

“จะประเมินทุกเดือนและจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบประมาณที่จะเสนอของวดที่2 ด้วย เป็นเรื่องที่นายกฯทำงานอย่างรอบคอบ มี KPI ว่าราคายางเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นขณะที่โครงการจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลไกราคาตลาดบิดเบือน”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องดูราคายาง ที่เพิ่มขึ้น ให้เป็นไปตามกลไกตลาด เดิมมีเป้าหมายว่า จะดันราคายางไปที่ 60 บาท/กก.แต่วันนี้ราคาน้ำยางไปที่61 บาท/กก.แล้วถือว่าเกินเป้าหมาย จะต้องนำหารือนายกรัฐมนตรีว่าจะกำหนดเป้าหมายราคายางที่เหมาะสมเท่าไร หากสูงเกินไป อาจต้องชะลอส่วนแบริเออร์หุ้มยางพารา เพื่อให้ราคาอยู่ด้วยตัวเอง

ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตร จะต้องทำกลไกตลาด เช่น การส่งออกด้วย เพราะ ที่คมนาคมทำโครงการเพราะเห็นว่าผลผลิตยางเกิดความต้องการของตลาด ปีละกว่า 3 แสนตัน ทำให้ราคายางต่ำ

ด้านน.ส.มนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563-2565 โดย มีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กม. คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆ ปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในระยะแรก ปี 2563 กรมฯได้เตรียมความในการผลิตยางสำหรับโครงการรวม 30 แห่ง แบ่งเป็นผลิตสำหรับทำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต จำนวน 17 แห่ง มีกำลังการผลิน 579 กม. /ปีผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ จำนวน 13 แห่ง กำลังการผลิต 833,800 ต้น/ปี โดยมี17 สหกรณ์ได้เริ่มผลิตแล้ว สำหรับ จ.นครพนม มีสหกรณ์การเกษตร 55 แห่ง มีเกษตรจำนวน 8,022 ราย พื้นที่ปลูกยาง 74,755 ไร่








กำลังโหลดความคิดเห็น