xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 หวั่นขยายความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 หวั่นขยายความขัดแย้ง “สมพงษ์” ย้ำต้องยกเลิก ส.ว.โหวตนายกฯ-ยกเลิกคำสั่ง คสช. “วิรัช” วอน ส.ว.ร่วมโหวตเพื่อความสงบของบ้านเมือง “ขจิตร” เสนอเว้นข้อบังคับดึงร่างของ ปชช.ร่วมญัตติ “ชวน” ยันต้องตรวจสอบความถูกต้องรายชื่อก่อน

วันนี้ (23 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.35 น. ก่อนเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ หารือประธานรัฐสภา ใช้สิทธิเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่า ส.ส.สามารถลงนามร่วมเสนอญัตติได้คราวละ 1 ฉบับ หรือลงได้หลายฉบับ เนื่องจากมีการลงชื่อซ้ำกันในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ฝ่ายค้านยื่นเพิ่มเติม เป็นปัญหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 วงเล็บ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญควรวินิจฉัย จึงเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่บรรจุเป็นญัตติเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 156

นายไพบูลย์ยืนยันว่า การเสนอญัตติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 และขอให้รัฐสภามีมติเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 หากจะตีตกก็จะยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อดำเนินคดี

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณากรณีนี้เป็นพิเศษ มีเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมดและมีข้อสรุปว่าลงชื่อในฉบับเดียวกันไม่ได้ แต่หากลงชื่อคนละฉบับแล้วหลักการต่างกัน ไม่มีข้อห้ามไว้ ไม่เคยมีปัญหาการตีความ และกรณีญัตติคำร้องของนายไพบูลย์ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 เนื่องจากไม่มีบัญญัติไว้ตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่รับเป็นญัตติ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ย้ำว่าการเสนอญัตติด่วนจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ส่วนญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติ 4 ญัตติเพิ่มเติม โดยมีปัญหา 1 ญัตติเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เนื่องจากเนื้อหาในร่างเกินกว่าหลักการ แต่ก็จะยื่นเข้ามาอีก

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชรัฐ เสนอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อตัดสินใจว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ต่อมาเวลา 10.09 น. ที่ประชุมรัฐสภาเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาเรื่องด่วน 6 ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงถึงกรอบการประชุมต่อสมาชิกรัฐสภา หลังประชุมวิป 3 ฝ่ายเมื่อวานนี้ โดยตกลงกันว่าขอให้รวมเรื่องด่วนทั้ง 6 ฉบับพิจารณาร่วมกัน ส่วนการลงมติจะรับหลักการทีละฉบับ โดยการอภิปรายถึงเวลา 18.00 น.ก่อนการลงมติ โดยเวลาอภิรายได้ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที ขณะที่ประธานรัฐสภา วินิจฉัยว่าควรดำเนินการตามระเบียบวาระ

จากนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 หรือตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องมีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง และเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อีกทั้งในวาระที่ 3 ยังต้องมี ส.ส.จากฝ่ายค้านเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% รวมทั้งต้องมีการออกเสียงประชามติ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนไม่อาจแก้ไขได้และไม่ทันต่อสถานการณ์ของประเทศ จึงเห็นควรให้กลับไปชี้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องประชาชนที่ชี้ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 นายสมพงษ์ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป จึงเห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

ผู้นำฝ่ายค้านยังชี้แจงหลักการและเหตุผลให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช. และหัวหน้า คสช.ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช.สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก ส่วนหลักการและเหตุผลการแก้ไขระบบเลือกตั้ง นายสมพงษ์กล่าวว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบกลับมาใช้ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้ง ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

ต่อมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาลที่เสนอญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เนื่องจากเมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญระยะหนึ่ง แต่มีปัญหาไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมประชาชน ปัญหาการกระจายอำนาจ ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงควรมีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสม เพื่อเป็นแม่แบบการดำเนินการด้านต่างๆ ให้ประเทศมีเสถียรภาพความมั่นคง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ด้วยบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยุ่งยาก จึงควรแก้ไขมาตรา 156 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมาะสม ไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน และควรมีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทำรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการรับฟังความเห็นและออกเสียงประชามติ

นายวิรัชกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี2550 ก็ยังมีข้อบกพร่อง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายพรรคการเมืองชูประเด็นตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลก็ปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็มีกลุ่มภาคประชาชนทั้งคณะประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มไทยภักดีกำลังเคลื่อนไหว ดังนั้น ไม่ว่าจะแก้ไขมากหรือน้อยก็ต้องเกิดปัญหาความขัดแย้ง ตนเองอยากเห็นบ้านเมืองสงบไม่แบ่งแยก ซึ่งในญัตติพรรคร่วมรัฐบาลมีเจตนารมณ์แก้ในมาตราที่เป็นปัญหา แต่ยืนยันไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกคนมีความเห็นตรงกัน รวมถึงญัตติของผู้นำฝ่ายค้าน และเห็นร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 256 แต่ถ้าจะแก้ไขได้จะต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย และขอให้สมาชิกโหวตลงมติรับหลักการญัตติพรรคร่วมรัฐบาล และขอให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ ขอขอบคุณสมาชิกที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ และหวังว่าจะได้มติจากวุฒิสภา

ขณะที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐสภายกเว้นข้อบังคับ เพื่อบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่มไอลอว์ที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ บรรจุเป็นญัตติเพื่อพิจารณาพร้อมกัน และขอให้แจกจ่ายเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สมาชิกรัฐสภาศึกษา

แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ฝ่ายรัฐสภาต้องมีการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ ดังนั้นจึงยกเว้นข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ก็อยากให้เสนอพร้อมกัน จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งตรวจสอบให้ทันภายในสมัยประชุมต่อไป จากนั้นสมาชิกได้ทยอยอภิปรายสนับสนุนญัตติต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น