“ส.ว.คำนูณ” ชี้การปฏิรูปตำรวจไม่คืบหน้าและไม่ตรงตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนุญ ตั้งแต่นายกฯ ออก 2 คำสั่งในปี 61 ทำให้ “บทเร่งรัดลงโทษ” ไร้ความหมาย และล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแปลงสารจากร่างเดิม หลังผ่านมติ ครม.เมื่อ 15 ก.ย.
วันนี้ (22 ก.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn เกี่ยวกับความคืบหน้าของการปฏิรูปตำรวจ ว่า “กรณีการปฏิรูปตำรวจในความหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง. (4) ขออนุญาตพูดตามตรงหลังจากติดตามมาโดยตลอดและบางช่วงมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่ารัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีกระทำการไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีเหตุมาจากอะไรก็ตาม ไล่เรียงมาตั้งแต่…
1. ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/181/T1.PDF
2. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 20/2561 เรื่องมาตรการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order20-2561.pdf?fbclid=IwAR1I_HWkiPwkjN0CyQpTdUYxqYJrrE1BjjgsP2o1nW16HYXguYE7FPaAgoc
ทั้ง 2 ประการนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามที่เป็นเสมือน ‘บทเร่งรัดกึ่งลงโทษ’ ไร้ความหมาย เสมือนถูกแก้ไขไปแล้วในทางปฏิบัติ
อันจะทำให้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานตำรวจและการแต่งตั้งโยกย้ายจะเสร็จก็ได้ไม่เสร็จก็ได้ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็สามารถทำตามระบบแบ่งกองร้อยละ 33 แบบเดิมได้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
รายละเอียดเรื่องนี้เคยอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาและเขียนเล่าใน fb นี้แล้ว
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3257209870989611&id=100001018909881
และล่าสุด....
3. มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับแปลงสารที่เสนอแก้ไขมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563
ประการสุดท้ายนี้สุ่มเสี่ยงต่อการจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคแรก และโดยเฉพาะมาตรา 258 ง. (4) อย่างมาก
ที่ว่าไม่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคแรก ก็เพราะผู้ยกร่างกฎหมายไม่ใช่คณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ หรือคณะกรรมที่รับช่วงงานต่อมา หากแต่เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งไม่ได้รับการกำหนดไว้เลยให้เป็นผู้ปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ และที่ว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) คือไม่ได้พิจารณาอาวุโสกับความรู้ความสามารถประกอบกันในทุกตำแหน่ง ยังคงใช้ระบบแบ่งกองตามเดิมแม้จะมีการปรับปรุงบ้าง โดยให้ใช้อาวุโสอย่างเดียวจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือแม้จะบอกว่าใช้อาวุโสประกอบความรู้ความสามารถแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนบังคับไว้ โดยตัดระบบคะแนนประจำตัวตามร่างฯเดิมที่มาจากคณะกรรมการที่รับช่วงพิจารณายกร่างตามรัฐธรรมนูญออก
อันที่จริง รัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีมีโอกาสที่จะแก้ไขการกระทำข้อ 1 และ 2 ด้วยการส่งร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ที่รับช่วงต่อมาจากคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญเข้ามาสู่รัฐสภา ให้เวทีรัฐสภาเป็นที่ตัดสิน
แต่รัฐบาลหรือท่านนายกรัฐมนตรีไม่เลือกที่จะทำเช่นนั้น
กลับเลือกทำซ้ำรอยเดิมตามข้อ 3
ทำให้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจเหลือริบหรี่มาก นี่พูดอย่างมองโลกในแง่ดีสุดแล้วนะครับ
ทำให้เห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น สำหรับผู้อยู่บนบัลลังก์อำนาจแล้วเป็นแค่ตัวหนังสือบนเศษกระดาษ อะไรที่อยากทำก็ทำ อ้างอิง อะไรที่ไม่อยากทำก็ไม่ทำ ไม่พูดถึง และหลบเลี่ยงเจตนารมณ์นั้นไปด้วยกุศโลบายแบบศรีธนญชัยแปลงสาร
นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ผมใช้เวลาประมาณ 40 นาทีแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชัดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณเมื่อเวลา 15.15 น.วานนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาคาร 3 เทเวศร์
คณะกรรมการจะมีข้อสังเกตรายงานท่านนายกรัฐมนตรีหรือไม่ประการใดสุดแท้แต่วิจารณญาณของท่าน ส่วนผมก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” นายคำนูณระบุ