xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” หวั่นประชุมร่วมรัฐสภาแก้ รธน. 6 ร่าง พร้อมลงมติภายใน 2 วัน เวลาไม่พอแน่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คำนูณ” เผยวาระประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไข รธน.ให้เวลาจำกัด เริ่ม 23 ก.ย.ถึงเที่ยงคืน 24 ก.ย. ต้องอภิปรายถึง 6 ร่าง และลงมติทีละร่าง ทั้งอาจมีญัตติ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ขอให้สภาลงมติว่าจะยื่นศาล รธน.ตีความประเด็นของฝ่ายค้านหรือไม่ ทำให้มีเวลาไม่พอในการลงมติ หรืออาจยังไม่มีการลงมติแม้แต่ร่างเดียวก็ได้

วันนี้ (19 ก.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ว่า “ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 23-24 กันยายน 2563 ออกมาแล้ว มีการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไว้ครบทั้ง 6 ร่าง

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เวลาที่มีจำกัดมาก เพราะต้องปิดประชุมภายในไม่เกิน 24.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน 2563 แค่อภิปรายรวมทั้ง 6 ร่าง และลงมติทีละร่างก็ใช้เวลามากแล้ว แต่มียังมีการยื่นญัตติจาก ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน และคณะ ให้รัฐสภาลงมติยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 210(2) ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายประเด็นของพรรคฝ่ายค้าน 4 ร่างหลัง คือ เรื่องด่วนที่ 3-6 ตามระเบียบวาระ ถูกต้องหรือไม่ ทำให้จะต้องเสียเวลาอภิปรายถกกันในประเด็นนี้ก่อน ทำให้เวลาที่มีน้อยอยู่แล้วมีอันต้องน้อยลงไปอีก

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีญัตติของ ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน อยู่ในระเบียบวาระ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไปบรรจุอยู่ในระเบียบวาระเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่เสนอใหม่ ต่อท้ายระเบียบวาระเรื่องด่วนทั้ง 6 เรื่อง

เมื่อเริ่มเปิดประชุม จะมีสมาชิกเสนอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 32 (2) ยกญัตติที่เสนอใหม่ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาเรื่องด่วนทั้ง 6 เรื่อง สมาชิกก็จะต้องอภิปรายกันว่าสมควรเปลี่ยนระเบียบวาระหรือไม่และจบลงด้วยการลงมติ จากนั้นถ้ามติให้เปลี่ยนระเบียบวาระ ก็จะเป็นการอภิปรายว่าเรื่องด่วนที่ 3-6 ที่ประธานรัฐสภาสั่งบรรจุเข้ามาแล้วถูกต้องหรือไม่ และสมควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และจบลงด้วยการลงมติอีกครั้ง
แต่แม้ไม่มีการบรรจุระเบียบวาระญัตติ ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ก็น่าจะมีสมาชิกขอปรึกษาหารือก่อนตามข้อ 32 (1) ว่าจะพิจารณากันอย่างไร ก็น่าจะใช้เวลาพอสมควรเช่นกัน

นั่นแหละถึงจะรู้ชัดว่าจะอภิปรายรวมกันกี่ร่าง ทั้ง 6 ร่าง หรือแค่ร่างที่ 1 กับร่างที่ 2 เท่านั้น

เฉพาะกว่าจะรู้ชัดได้เริ่มอภิปรายเข้าเรื่องผมว่าอย่างเร็วสุดก็ราว 12.00 น.

อภิปรายกันไปในวันที่ 23 กันยายน 2563 อาจถึง 02.00 น.ของวันที่ 24 กันยายน 2563 สมมติว่า เริ่มประชุมของวันที่ 24 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น.ก็จวนแจแล้ว เพราะจะมีเวลาแค่ไม่เกิน 24.00 น.เท่านั้น โดยยังจะต้องคำนึงถึงเวลาในการลงมติและเวลาในการเสนอชื่อกรรมาธิการพิจารณาในวาระที่ 2 ด้วยว่าจะใช้เวลารวมกันเท่าไร

จะต้องลงมติทีละร่างอย่างเคร่งครัด โดยเรียกชื่อสมาชิกทีละคนแล้วให้สมาชิกคนนั้นลุกขึ้น กล่าววาจาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเฉพาะร่างนั้น จนจบไป แล้วต่อด้วยการลงมติร่างต่อไปโดยกลับไปเริ่มกระบวนการเดิม ให้จบไปทีละร่างๆ เท่านั้น ก็ต้องใช้เวลาร่างละประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้า 2 ร่างก็ 6 ชั่วโมง ถ้า 6 ร่างก็ 18 ชั่วโมง หรือจะประยุกต์วิธีการลงมติให้กระชับขึ้น โดยเรียกชื่อสมาชิกทีละคนแล้วให้สมาชิกคนนั้นลุกขึ้นกล่าววาจาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไล่ทีละร่างจนครบทุกร่างในการเรียกชื่อคราวเดียว

วิธีหลังที่จะทำให้ประหยัดเวลาไปได้มากนี้ทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่ ก็น่าจะต้องถกกันอีกยกใหญ่ เปลืองเวลาเข้าไปอีก

และดีไม่ดีอาจจบลงด้วยการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เข้าร่วมในการลงมติ !

หรืออาจจะลงมติไม่ทันครบทุกร่าง !!

หรืออาจจะลงมติไม่ทันเลยสักร่าง ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ !!!

สุดท้าย ก็ยังมีโอกาสที่จะยังไม่มีการลงมติเลยสักร่างอีกทางหนึ่งก็เป็นได้ คือสมาชิกเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาก่อนรับหลักการ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 121 วรรคสาม

การณ์จะเป็นเช่นใด ณ นาทีนี้ยากที่จะฟันธงได้ !






กำลังโหลดความคิดเห็น