“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 ตอน แปลงสารร่าง กม.ตำรวจ ปฏิรูปเป็นปฏิลวง
คณะกรรมการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน ส่งร่างกฎหมายถึงมือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปนานกว่าปีแล้ว แต่ที่ผ่านมา ท่าทีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเร่งปฏิรูปตำรวจอย่างที่สังคมต้องการสักเท่าไหร่
เพราะกว่าปีหนึ่งยังไม่มีการขยับขับเคลื่อนให้เห็นความคืบหน้าแต่อย่างใด จนคาดกันว่า ปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ อาจจะกลายเป็นเรื่องนับหนึ่งไม่ถึงสิบอีกครั้งหนึ่ง แต่ข่าวล่าสุดบอกว่า ครม. รัฐบาลประยุทธ์ได้พิจารณาส่งร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ เข้าสภาเพื่อพิจารณา เป็นกฎหมายต่อไป แล้ว
นี่เป็นความคืบหน้า ที่รู้แล้วก็น่าดีใจ เพราะมาช้าดีกว่าไม่มา แต่การพิจารณากฎหมายตำรวจไม่ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้ สภาฯคงจะคงบรรจุเป็นญัตติได้อย่างเร็ว ก็สมัยประชุมสภาฯครั้งหน้า แล้วก็ไม่รู้จะถูกลากถ่วงไปอีกยาวเท่าไหร่
คณะกรรมการร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ที่มีซือแป๋มีชัย เป็นแม่ทัพ นับเป็นคณะกรรมการชุดที่ 6 ที่เข้ามาศึกษาปัญหา ทำรายงาน และจนผลิตเป็นร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ ซึ่งชุดซือแป๋ได้ยึดเอารายงานการศึกษาของ คณะกรรมการชุดพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นแม่บท
การส่งไม้ต่อจาก พลเอกบุญสร้างมาให้ซือแป๋มีชัยนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจ้งว่า เนื่องจากที่ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตํารวจ) ได้เสนอผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปตํารวจเข้าสู่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว
รัฐบาลได้ส่งผลการศึกษาต่อไปให้สํานักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. .... จะเป็นคณะผสมระหว่าง คณะกรรมการกฤษฎีกาและบุคคลภายนอก
โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยใช้ร่างของพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
การต้ังคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นเพราะว่าคณะกรรมการปฏิรูปตํารวจชุดเดิมนั้นติดเงื่อนไข ที่มีกรรมการซึ่งเป็นตํารวจครึ่งหน่ึง และกรรมการจากบุคคลภายนอกครึ่งหนึ่ง เมื่อมีการออกเสียงหรือ ให้ความเห็นแล้วเสียงจะออกมาเท่ากัน แต่กรรมการชุดใหม่จะไม่มีเสียงหรือความเห็นที่เท่ากัน
การพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในขั้นตอนสุดท้ายสำเร็จ โดยกำหนดบทบัญญัติแก้ไขปัญหาตำรวจลงลึกไปถึงแก่น ให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระจายอำนาจ แยกงานสอบสวนเป็นอิสระ เน้นภารกิจตำรวจ
และร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับมีชัย ให้ความสําคัญการแต่งตั้งโยกย้ายมากที่สุด เพราะเป็นแก่นแท้ของปัญหา ต้องเอาคนดี มีอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อที่จะสร้างเสริมกำลังใจให้ตำรวจ ขจัดปัญหาการขึ้นลิฟท์ ใช้บันไดเลื่อน ปาดหน้าคนทำงานเอาตำแหน่ง
และโดยเฉพาะ แก้ปัญหาการซื้อขายตําแหน่งของตํารวจบางคน เพื่อจะได้โยกย้าย ไปปฏิบัติงานในโรงพักดี ๆ หรือระดับเกรดเอที่มีแหล่งการค้าหรือสถานบันเทิงตั้งอยู่เป็นจํานวนมาก อีกทั้งป้องกันการแทรกแซงจากอํานาจของฝ่ายการเมืองที่ทําให้การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดความไม่เป็นธรรมต่อตํารวจที่ตั้งใจ
ซึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในคณะกรรมการร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติชุดซือแป๋มีชัย เคยกล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายและการแต่งตั้งผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะต้องกําหนดกฎเกณฑ์ การพิจารณาไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก
ไม่ใช่อยู่แต่ในกฎหมายลําดับรองหรืออนุบัญญัติเท่านั้น โดยจะต้อง กําหนดให้ชัดเจนว่าพิจารณาจากหลักอาวุโสเป็นสัดส่วนเท่าไร รวมทั้ง จะต้องบัญญัติกฎหมายหลักการคิดคํานวณ ตามหลักอาวุโสที่มิใช่อาศัยเพียงเกณฑ์อายุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลักด้วย
แต่ข่าวดีที่ว่า ร่างกฎหมายตำรวจ รัฐบาลประยุทธ์จะนำเข้าสภาฯ คํานูณ สิทธิสมาน ได้ไปเห็นมาก่อนว่ามีการแปลงสาร จากร่างเดิม ในเนื้อหาสำคัญ เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดหลักการแต่งตั้ง เนื่องจากได้มีการส่งร่างให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่มีอยู่แล้วลงไปในร่างฯ
จากร่างฯเดิมที่กำหนดเกณฑ์แต่งตั้งตามการตีความ รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (4)ว่า “ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน...”
คำว่า ‘ประกอบกัน’ หมายถึงว่าทุกคนที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องมีทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถ คณะกรรมการร่างได้ออกแบบให้มี ‘ระบบคะแนนประจำตัว’ ขึ้นมา
ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ก่อนถูกแปลงสาร ให้ข้าราชการตำรวจทุกคนมีคะแนนประจำตัว 3 ส่วน ดังนี้ อาวุโส 50 %
- ความรู้ความสามารถ 20 % - ความพึงพอใจของประชาชน 30 %
คะแนนประจำตัวนี้ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องรับรู้ และสามารถคัดค้านได้ โดยมีระบบการพิจารณาตัดสินกำหนดไว้ชัดเจน และให้จัดทำบัญชีเรียงลำดับไว้
คำนูณแฉว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ถูกแปลงสารไปเรียบร้อย ไม่ใช่ร่างเดิมที่มาจากคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ทั้ง 2 ชุด ไม่ใช่ร่างที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
การแต่งตั้งโยกย้ายตามร่าวแปลงสารออกมาเช่น(1) ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พืจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส
(2) ระดับผู้บัญชาการและจเรตำรวจลงมาถึงผู้บังคับการ ให้พิจารณาจากผู้เหมาะสมเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับ
(3) ระดับรองผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตร ให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสจำนวนร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับตำแหน่งของส่วนราชการ
ซึ่งคำนูณ สรุปว่า ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ
คำในรัฐธรรมนูญว่า ‘...โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน’ นั้นผมอ่านและเข้าใจว่าหมายถึงการแต่งตั้งโยกย้ายเข้าไปในทุกตำแหน่งที่ว่าง
ไม่ใช่แบ่งแยกเป็นกอง ๆ กัน เป็นกองอาวุโสล้วน ๆ ร้อยละ 50 หรือ 33 ที่เหลือจึงเป็นกองอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
‘ความรู้ตวามสามารถ’ หรือ ‘ความเหมาะสม’ นี่แหละที่เป็นปัญหามาโดยตลอด เปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณามาโดยตลอด และเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นมาโดยตลอด
สรุปแล้ว การปฏิรูปตำรวจ ที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษา ทำร่างกฎหมายขึ้นมาถึง6 ชุด ใช้เงินไปมาก ถ่วงเวลาเวลาหลอกให้คนรอ แต่สิ่งที่จะได้มาก็แค่ ผลงาน ขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้นหรือ ?