ส.ส.พท.อัดนายกฯ เอื้อประโยชน์ เล็งต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียว 40 ปี แต่ไม่เป็นตาม กม. ทำ “อุตตม-ปรีดี” ลาออก ย้ำซื้อเรือดำน้ำไม่ใช่จีทูจี รมช.กห.อ้างกฤษฎีกาชี้ซื้อเชิงพาณิชย์ไม่อยู่ใต้ รธน. ไม่ต้องขอความเห็นสภา รบ.จีนให้อำนาจเอกชนลงนาม
วันนี้ (9 ก.ย.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายชี้ว่ารัฐบาลใช้อำนาจไม่อยู่ในหลักนิติธรรม กรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทิศเหนือและทิศใต้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562 เอื้อประโยชน์การต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าให้บริษัทหนึ่ง เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งให้มีคณะกรรมการโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เจรจากับบริษัทบีทีเอสซึ่งเป็นบริษัทเดิมที่ได้รับสัมปทาน และยังเหลือเวลาในสัญญาอีก 10 ปี และเมื่อเจรจาเสร็จ ก็เข้าสู่เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 ซึ่งมีผลไปก่อนแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แต่คำสั่งที่ออกมาเป็นการยกเว้นเงื่อนไข และแก้ไขสัญญาที่เหลืออีก 10 ปี ให้เชื่อมกันเป็นสัญญาเดียวกับส่วนต่อขยายไปอีก 40 ปี ซึ่งสภาเคยมีมติไม่ให้ขยายสัมปทาน โดยให้รอจนครบสัญญา 10 ปี แล้วค่อยประมูลใหม่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำตามกฎหมายร่วมทุน แต่ก็มีความพยายามต่อขยายสัมปทานให้ได้ เรื่องนี้ทำให้เสียรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 คน คือ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งก่อนลาออกเคยมีหนังสือถอนความเห็นการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เนื่องจากไม่เป็นไปตามกฎหมายร่วมทุน กลัวผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส่งเรื่องถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อขยายสัญญาร่วมลงทุนอีก 40 ปี จนเมื่อนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเจอในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก และกลัวจะผิดกฎหมาย จึงถอนเรื่องนี้ออกมาเช่นกันเพราะไม่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาให้นายปรีดีลาออก และถามถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะเดินหน้าให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องนี้หรือไม่ และใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเอื้อนายทุนหรือไม่
นายยุทธพงศ์ยังอภิปรายถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ไม่ได้จัดซื้อตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เพราะรัฐบาลโดยฝ่ายไทย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือขณะนั้น ทำสัญญาซื้อขายกับเฮียลู่ ประธานบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาล และการโอนเงินก็ไม่ได้โอนไปหาหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงการคลังจีน ไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐ หรือ Fulls Power ทั้งของฝั่งไทยและจีน และตอนนี้บริษัท CSOC ก็มาเปิดบริษัทที่ไทยแล้ว และมีหลายออฟฟิศหลายประเทศ ถึงถามเหตุถึงการปล่อยปละละเลยให้ไปเซ็นสัญญาที่ไม่ได้เป็นแบบรัฐต่อรัฐ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็กล่าวสั้นๆ ว่านายยุทธพงศ์ก็จะได้มีข้อมูลไว้สู้คดี
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์แบบรัฐต่อรัฐ โดยยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งในการดำเนินการระยะที่ 1 เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐและผ่านการพิจารณาด้านกฎหมายทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ส่วนสาเหตุที่เมื่อเป็นแบบรัฐต่อรัฐเหตุใดไม่เอาเรื่องเข้ารัฐสภา เนื่องจากไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่เป็นสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล
รมช.กลาโหมอธิบายเพิ่มว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศว่า ในกรณีนี้เป็นร่างข้อตกลงระหว่างเป็นการซื้อขายเชิงพาณิชย์ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญมาตรา 178 จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือขอหนังสือมอบอำนาจเต็ม หรือ Full Power สรุปกองทัพเรือจึงดำเนินการได้
พล.อ.ชัยชาญกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ว่าทำไมผู้ลงนามในข้อตกลงของฝ่ายไทยจึงเป็นเสนาธิการทหารเรือ แต่ฝ่ายจีนเป็นผู้แทนบริษัท China Shipbuilding & Offshore International หรือ CSOC และเหตุใดทำไมถึงจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนทั้งๆ ที่เป็นการซื้อจากรัฐบาลจีน ขอเรียนว่าในส่วนของรัฐบาลไทยนั้นคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ลงนาม และได้มีการมอบให้เสนาธิการทหารเรือเป็นผู้ลงนาม ขณะที่รัฐบาลจีนได้มอบอำนาจให้องค์กรในประเด็นที่ผู้ลงนามฝ่ายไทยเป็นเสนาธิการทหารเรือแต่ฝ่ายจีนเป็นผู้แทนเอกชนเป็นผู้ลงนามนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบอำนาจให้เสนาธิการทหารเรือ ขณะที่ฝ่ายจีน รัฐบาลจีนมอบหมายให้องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ หรือ SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีนและเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้มอบอำนาจให้ CSOC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ 100% โดยในหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของ CSOC โดยมีการระบุคำว่า State-owned ที่ย้ำถึงความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนเรื่องการจ่ายเงินให้กับ CSOC นั้นเป็นเพราะ SASTIND ได้มอบอำนาจเต็มให้กับ CSOC