เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่าหลายคนกำลังจับตามองไปที่การชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ ว่า จะมีคนเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน และมีเป้าประสงค์ใดกันแน่ แต่เท่าที่ประเมินกันก็มีการพูดตรงกันว่า น่าจะเป็นการ “ทดสอบ” อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคนที่เป็น “นายทุน” และชักใยม็อบออกมาเคลื่อนไหว
แม้ว่าจะมองตรงกันอีกว่ามวลชนที่ออกมาในครั้งนี้ คงไม่ใช่แบบไหลมาเป็นน้ำนับแสนนับล้าน เหมือนกับการชุมนุมของพวกกปปส.หรือแม้แต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมไปถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อหลายปีก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นหลักหมื่นแน่นอน เพราะงานนี้มีการ “ระดม” มีการขอความร่วมมือจากแนวร่วมให้ช่วยเหลือนำมวลชนในพื้นที่หลายจังหวัดออกมา
แต่ก็อย่างว่าแหละ ในเมื่อเป้าหมายมันไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรกันแน่ เพราะหากพิจารณาจาก “เงื่อนไข” หลักๆ ก็คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการเสนอญัตติเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 23-24 กันอยู่แล้ว และที่สำคัญ ท่าทีจากทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็โอนอ่อนยอมให้เป็นความเห็นของสภา อีกทั้งทางสมาชิกวุฒิสภา ก็มีท่าทียอมถอยให้และร่วมมือให้แก้ไข โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 272 ที่ให้ยกเลิกการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีนี้จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนกับการ “ตกผลึก” และไม่จำเป็นตามสถานการณ์ที่ตกยุคไปแล้วอะไรประมาณนั้น
ส่วนเรื่องอื่นก็ยังถือว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขรอง หรือเป็นการสร้างกระแสขึ้นมา เช่น เรื่องการขับไล่รัฐบาล ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขับไล่เผด็จการก็ยังถือว่ายังไม่สุกงอมพอ แม้ว่าจะสร้างความไม่พอใจ หรือมีความล้มเหลวในการบริหาร ก็ว่ากันไป แต่นาทีนี้หากพิจารณาในภาพรวมๆ แล้ว ยังไม่เกิดอารมณ์ร่วมที่มากพอ
แต่สิ่งที่ทำให้ถูกจับตามองสำหรับการชุมนุมใน วันที่ 19 กันยายน ของกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มปลดแอก” หรือในชื่อใหม่เฉพาะกิจอะไรก็แล้วแต่ ที่กำลังเดินหน้าใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แม้ว่าจะมีคำสั่งห้ามใช้สถานที่ไปแล้วก็ตาม โดยอ้างว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการขออนุญาตการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะการประกาศยืนยันของพวกแกนนำ ที่ย้ำว่าจะต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแบบ “เบิ้มๆ” ในแบบที่ไม่มีใครเคยพูดมาก่อน ทำให้หลายคนมองด้วยความเป็นห่วงว่ามีเจตนาให้เกิดความรุนแรง หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายตามมาหรือไม่
แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบทุกอย่างแล้ว การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ทำให้มองเห็นว่า น่าจะเป็นแค่การ “ทดสอบ” ทั้งการทดสอบมวลชน ว่า จะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงไปการทดสอบมาตรการ และการรับมือการชุมนุมของทางหน่วยงานด้านความมั่นคง เพราะมีการประเมินม็อบที่อาจจะมีการ “ค้างคืน” ประมาณ “สองวันหนึ่งคืน” รวมไปถึงการทดสอบการเคลื่อนขบวน ว่าจะทำได้แค่ไหน แต่ถึงอย่างไรจุดที่อันตรายมากที่สุดก็คือในช่วง “คืนวันที่ 19กั นยายน” หากสามารถจัดชุมนุมภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เนื่องจากมีความเป็นห่วงการ “สร้างสถานการณ์” ให้เกิดความรุนแรง เพื่อใช้เป็น “เงื่อนไข” บางอย่าง
ขณะเดียวกัน การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน หากมองว่าเป็นการ “ทดสอบ” ดังกล่าวแล้ว ยังหวังผลต่อเนื่องไปจนถึงการชุมนุมในวันหน้า แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดในตอนนี้ เชื่อให้ “แปะ” เอาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า จะต้องมีใน วันที่ 6 ตุลาคม และ14 ตุลาคมอย่างแน่นอน เพราะขนาดวันที่ 19 กันยายน หรือก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม หรือวันที่ 24 มิถุนายน ยังหาเหตุชุมนุมกันมาอย่างต่อเนื่อง แล้วในเดือนตุลาคมจะไปเหลืออะไร มันต้องมีอยู่แล้ว และอาจเป็นคำตอบว่า การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน จึงเป็นการ “ทดสอบ” กันก่อน ก่อนถึงช่วงเวลาสำคัญในเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นกำลังเป็นช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงสถานการณ์วิกฤตสำหรับรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่กำลังมีความกังวลว่าจะเกิดการระบาด “รอบสอง” หรือไม่ เพราะเมื่อมองจากประเทศรอบบ้านแล้ว กำลังมีการระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ประเทศเมียนมา ที่ทวีความรุนแรง มีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นนับร้อยคน และยังไม่มีท่าทีจะควบคุมได้
การระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมานี่แหละ ที่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากมีชายแดนธรรมชาติที่ติดกับไทยยาวหลายร้อยกิโลเมตร มีการข้ามแดนของประชาชนทั้งสองฝั่ง ที่สำคัญ มีการลักลอบข้ามแดนของแรงงาน หรือแม้แต่แรงงานที่ข้ามแดนอย่างถูกกฎหมายก็ตาม ก็ถือว่ามีความเสี่ยง
ที่ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วง เพราะการเกิดการระบาดในรอบแรกยังสร้างหายนะทางเศรษฐกิจ และสังคมจนเหลือคณานับ และการควบคุมโรคแทบจะเอาไม่อยู่มาแล้ว และในอนาคตหากเกิดการระบาดในรอบที่สองเกิดขึ้นมาอีก มันก็ยิ่งหายนะที่พอหลับตามองเห็นภาพได้
แม้ว่าหลายฝ่ายยังประเมินว่า หากมีการระบาดรอบสองเกิดขึ้นจริงก็คงไม่น่าจะรุนแรงเท่าครั้งแรก เพราะคนไทยมีความเคยชิน และมีการรับมือได้ดี รวมไปถึงมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อยู่แล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรมันก็ถือว่าเป็น “วิกฤต” หนักหน่วงแน่นอน โดยเฉพาะวิกฤตที่ซ้ำเติมต่อรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เวลานี้มีมรสุมรุมเร้าเข้ามาทุกทาง แม้ว่าในเรื่องอื่นเชื่อว่าน่าจะยังอยู่ได้ แต่กรณีของโควิดระบาดรอบสอง หากเกิดขึ้นวันใด มันยิ่งเสี่ยงที่จะรับมือไม่อยู่ เพราะเวลานี้ก็ถือว่าล้าเต็มทีแล้ว !!