เมืองไทย 360 องศา
หลายคนยังเชื่อว่าการชุมนุมของกลุ่ม “ปลดแอก” ที่ล่าสุดใช้ชื่อ “แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” กำหนดเอาไว้ในวันที่ 19 กันยายน ที่พวกเขาบอกว่าเป็นการชุมนุมใหญ่จะต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะมีคำสั่งห้ามใช้สถานที่จัดชุมนุมทางการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่าผิดเงื่อนไขในการขออนุญาตในการใช้พื้นที่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน หากมองกันในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้เหมือนกันว่า คำสั่งห้ามดังกล่าวจะเป็นการ “กันตัวเองออกมา” ในการเลี่ยงความผิดทางกฎหมาย หากเกิดความวุ่นวายตามมา โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของผู้จัดการชุมนุมที่คุมสถานการณ์ไม่ได้ โดยที่มีคำสั่งห้ามออกไปแล้วหรือไม่ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องโฟกัสกัน ก็คือ แนวโน้มการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน จะออกมาแบบไหน จะมีคนเข้าร่วมจำนวนมากแค่ไหน จะเป็นการชุมนุมที่มีประชาชนทุกวัยเข้าร่วม หรือว่าจะมีเพียงพวกเด็ก เยาวชนบางกลุ่มที่มีทัศนคติในแบบเดียวกับพวก “แกนนำ” ไม่กี่คน หรือไม่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาถึงแนวโน้มว่าจะมีคนเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหนก็ต้องบอกว่า “แกนนำ” ในการชุมนุม ย่อมมีส่วนสำคัญ รวมไปถึง “ข้อเรียกร้อง” ว่าจะสามารถสร้าง “จุดร่วม” กันได้มากเพียงใด รวมไปถึงความ “น่าเชื่อถือ” ความเป็นผู้นำมีมากเพียงใดอีกด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังมีเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นแรงกระตุ้นให้การเกิดการชุมนุมนั้น ยังมีน้ำหนักเต็มร้อยอยู่หรือไม่
ดังนั้น หากพิจารณากันไปทีละเรื่อง ทีละประเด็น ก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น หากย้อนขึ้นมาจากเงื่อนไขสำหรับการชุมนุมประเด็นหลักในเวลานี้ ก็คือ เสียงเรียกร้องให้มีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ก็ยังมีความเห็นต่าง เนื่องจากหลายคนก็มองว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนคอขาดบาดตาย มากไปกว่าเรื่องปากท้อง การตกงานเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หนี้สิน ซึ่งชาวบ้านได้ประโยชน์น้อยกว่าพวก “นักการเมือง” เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่ทำให้มีรายได้ มีงานทำและหนี้สินหมดไปโดยเร็ว อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนนับ “หมื่นล้านบาท” หากต้องแก้ไข โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามนาทีนี้ก็ถือว่าเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่ใช่ทิ้งกันขาด แต่ก็ออกมาในโทนสนับสนุนให้แก้ไข ซึ่งเป็นการแก้ไขในเวทีรัฐสภา และทุกพรรคการเมือง ก็ได้เสนอญัตติแก้ไขเข้าสภาไปแล้ว โดยมีกำหนดอภิปรายวาระแรก ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ แม้ว่ายังมีความเห็นแตกต่างกันทั้งในเรื่องการตั้ง ส.ส.ร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ กับแก้รายมาตรา แต่เชื่อว่าจะต้องมีการหารือเพื่อหาจุดร่วมกันให้ได้ก่อนอย่างแน่นอน ซึ่งนี่คือ“เงื่อนไขหลัก”ที่กำลังเดินเครื่องแล้ว
ทีนี้คำถามก็คือ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเดินหน้า ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือ แม้กระทั่ง ส.ว. ที่ถูกระบุว่า มาจากเผด็จการ ก็มีท่าทียอมให้แก้ไขมาตรา 272 ให้ลดอำนาจในการโหวตนายกฯ ตามแรงกดดันและความต้องการของสังคม (ที่ส่งเสียงดัง) รวมไปถึงการโหวตแก้ไข มาตรา 256 ที่ให้มี ส.ส.ร.แก้ไขทั้งฉบับก็ตาม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ เชื่อว่าต้องแก้ไขแน่ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องมีการชุมนุมนอกสภา หรือไม่
แน่นอนว่า อาจจะบอกว่า เป็นการชุมนุมคู่ขนาน เป็นการกดดันไม่ให้นักการเมืองเบี้ยว ก็อ้างได้ แต่ในเมื่อการอภิปราย เริ่มในวันที่ 23-24 กันยายน แต่การชุมนุม เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน อ้างว่าต่อต้านเผด็จการในการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 แต่คำถามตามมาอีก ก็คือ เมื่อการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน เสร็จสิ้นไปแล้วก็จะมีการชุมนุมต่อไปอีก ซึ่งก็คาดไว้ล่วงหน้าก็คือวันที่ 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม ต่อเนื่องเหมือนกับจัดงานอีเวนต์ทั้งปี
ขณะเดียวกัน ความ “น่าเชื่อถือ” ของระดับแกนนำ หรือคนที่ตั้งตัวเป็นแกนนำในเวลานี้ที่โดดเด่น ก็คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายณัฐชนน ไพโรจน์ นายภานุพงศ์ จาดนอก และ นายอานนท์ นำภา เป็นต้น คนพวกนี้มีพลังมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระ ที่พวกเขาต้องการนำขึ้นพูดในการชุมนุมวันดังกล่าว ก็คือ “การวิจารณ์สถาบัน” ที่เรียกว่า การพูดแบบ “เบิ้มๆ” แบบที่ไม่เคยพูดมาก่อน และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่สร้างความไม่สบายใจ และความไม่พอใจกับสังคมจำนวนมาก
ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจากแกนนำและเนื้อหาที่จะนำมาพูดแล้วทำให้บดบังข้อเรียกร้องเรื่องอื่นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การต่อต้านเผด็จการไปเลย
นี่ยังไม่นับกรณีที่มีภาพปรากฏที่เด็กๆ พวกนี้เคยไปพบกับทูตสหรัฐฯ จนประทับใจในรสชาติของ “ชีสเค้ก” ที่ทูตฝรั่งคนนั้นนำมาเลี้ยงดูปูเสื่อ ก็เป็นภาพที่ถูกมองว่า “ถูกชักใยจากต่างชาติ” ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ดีเลย นอกเหนือจากนี้ บรรยากาศในวันนี้ก็แตกต่างไปจากเมื่อยุค 30-40 ปีก่อน เช่นในยุค 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19 ที่ตอนนั้นบทบาทการนำเป็นของนักศึกษา ที่ถูกมองว่าเป็นผู้มีความรู้ เป็นความหวังของชาติ พ่อแม่พี่น้องยังไม่ค่อยได้รับการศึกษาแพร่หลายเหมือนกับทุกวันนี้ ที่พ่อแม่ต่างมีประสบการณ์ มีการศึกษามากกว่าพวกเด็กๆ พวกนี้ ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเดินตาม “เพนกวิน” หรือ “ไมค์ ระยอง” ก็ได้ อะไรประมาณนี้
ดังนั้น หากพิจารณาจากบรรยากาศและเงื่อนไขที่มีอยู่ในเวลานี้ ทำให้พอมองเห็นแนวโน้มได้ว่าการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ของพวก “กลุ่มปลดแอก” ไม่น่าจะปัง หรือยิ่งใหญ่อลังการอย่างที่ตีปี๊บ เนื่องจากปัจจัยและเงื่อนไขดังกล่าวมา โดยเฉพาะ “แกนนำ” ไม่ปัง มีแต่เนื้อหาที่สร้างความยั่วยุ ทำให้เสี่ยงเกิดความวุ่นวาย โดยเด็กและเยาวชนเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ !!