กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา หารือ สตง.และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเรื่องการใช้งบก่อสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ให้ถูกต้อง แนะควรทำงานร่วมกันแบบปิยมิตรเพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้เกษตรกร
วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยใช้หลักคิดแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดทำฝายแกนซอยซีเมนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)มาร่วมประชุม เป็นครั้งที่สองในรอบหนึ่งเดือน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ส่วนใหญ่มีความกังวลใจเรื่องการตรวจสอบของ สตง.ว่าจะยอมรับฝายประเภทนี้หรือไม่ ถึงแม้ว่า กมธ.จะนำหลักฐานเรื่องฝายแกนซอยซีเมนต์ที่ อบต.ศรีบุญเรือง จังหวัดขอนแก่น ได้รับการอนุญาตให้สร้างในลำน้ำชีจากกรมเจ้าท่าและ สตง.ตรวจสอบแล้วให้ความเห็นชอบ
กระนั้นก็ดีเพื่อความสบายใจของ อปท. และเพื่อให้การขับเคลื่อนในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั่วทั้งประเทศ กมธ.จึงเรียนเชิญหน่วยงานทั้งสองแห่งมาหารืออีกครั้งหนึ่ง
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน กมธ.ได้เริ่มต้นกล่าวถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงไปได้เมื่อไร ดังนั้น กมธ.จึงใคร่ขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ควรมีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดที่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร
นายสังศิตเสนอว่าในสถานการณ์พิเศษขณะนี้ สตง.ควรทำงานแบบปิยมิตรกับ อปท. ที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกร สตง.ควรเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยเสนอแนะแนวทางการทำโครงการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย หาก อปท.ทำไม่ถูกต้องก็ต้องแนะนำให้ทำให้ถูกต้องเสีย
ที่ประชุมได้ขอทราบเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำแล้งโดยการก่อสร้างฝายแบบแกนซอยซีเมนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ในการนี้ ผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้แทนจาก
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ข้อมูลที่ประชุมว่าได้มีการดำเนินการและสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำแล้งให้กับประชาชนเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการเพื่อก่อสร้างฝายแบบแกนซอยซีเมนต์ของสตง.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหลักการเบิกจ่ายเงินต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและเกิดผลสัมฤทธิ์ ดังนี้
1. อำนาจหน้าที่ มีหลักการ คือ มีกฎหมายจัดตั้ง / มีพ.ร.บ., แผน / มีกฎหมายอื่นให้อำนาจ
2. แผนพัฒนาท้องถิ่น มีหลักการ คือ การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ให้ผ่านประชาคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม / สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและยึดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี / จัดทำบัญชีโครงการพัฒนาท้องถิ่นในแบบ ผ01 - ผ08
3. การจัดทำงบประมาณ มีหลักการ คือ ใช้แผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณ / ที่มาและรายละเอียดของแผนงานอย่างชัดเจน / กิจกรรมสอดคล้องวัตถุประสงค์
4. การเบิกจ่าย มีหลักการ คือ ระเบียบ, ข้อบังคับ / คำสั่ง, หนังสือเวียน
5. ดุลพินิจ มีหลักการ คือ ชอบด้วยกฎหมาย (ข้อ 1-4) / ต้องไม่มีส่วนได้เสีย
6. ประโยชน์สาธารณะ มีหลักการ คือ ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยรวม / ไม่แข่งขันกับเอกชน
7. โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีหลักการ คือ ดำเนินการโดยเปิดเผย / จัดทำเอกสารให้ถูกต้อง
นอกจากต้องคำนึงถึงหลักการเบิกจ่ายเงินข้างต้นแล้ว การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งให้กับประชาชนควรต้องมีความรวดเร็วและต้องเป็นไปตามขั้นตอนหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นสำคัญด้วย
การหารือในวันนี้จบลงด้วยความเข้าใจตรงกันของทุฝ่ายว่าการทำงานต้องอยู่บนหลักการข้างต้น การทำฝายแกนซอยซีเมนต์ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ๆจะสร้างฝาย ตัวอย่างเช่นฝายในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบจึงสามารถสร้างห่างกันทุกระยะ 5 กม.ต่อตัวได้ และฝายแต่ละตัวมีราคาราว 5 แสนบาท ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่สูงและลำน้ำค่อนข้างคดเคี้ยวจึงสร้างยากกว่า การสร้างฝายควรสร้างระหว่าง 1-4 กม.ต่อตัวและฝายมีราคาราว 2-3 ล้านบาท เช่นเดียวกับส่วนผสมระหว่างปูนกับดินอาจเป็น 1:10; 1:20 หรือ 1:30 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดินของแต่ละพื้นที่ๆแตกต่างกันไป
สำหรับ อบต.ที่ขาดแคลนงบประมาณอาจขอการสนับสนุนเครื่องมือและงบประมาณจาก. อบจ.ได้ หากปัญหามีความร้ายแรงมากอาจขอการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดได้เช่นเดียวกัน
กมธ.ได้ขอให้ทั้สองหน่วยงานได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการหารือในวันนี้แก่หน่วยงานของตนทั่วทั้งประเทศ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการทำงานแบบเดียวกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่บางคน
การหารือจบลงด้วยดี เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้วที่ประชุมได้ขอบคุณผู้แทนจากจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ได้มาร่วมประชุมและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการ