xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้ความยากจจนฯ วุฒิสภา ร่วมมือกรมป่าไม้สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมมือกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อประชาชน  วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายภาณุ อุทัยรัตน์ พล.อ.ธงชัย สาระสุข กรรมาธิการ และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการได้เข้าหารือกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอธิบดีกรมป่าไม้ โดยเป็นการดำเนินการติดตามความคืบหน้าตามที่คณะกรรมาธิการได้เคยเชิญหน่วยงานทั้งสองมาหารือแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563


ที่ประชุมได้หารือเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ของทั้งสองกรม และมีข้อสรุป ดังนี้คือ

1. การสร้างฝายชะลอน้ำของทั้ง 2 หน่วยงานมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาป่า ฝายของภาครัฐสร้างในพื้นที่สูง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ 2. กมธ.เห็นว่า การสร้างฝายชะลอน้ำสมควรเพิ่มมิติด้านสังคม (social dimension) ให้เกษตรกรมีน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร ฝายที่ กมธ.เสนอจะสร้างในพื้นที่ระดับล่างของอุทยาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กมธ.เน้นการสร้างฝายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ทั้งสองประการข้างต้นสามารถดำเนินงานร่วมกันได้

3. ขอให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาข้อเสนอแนะของ กมธ.เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนร่วมกับการอนุรักษ์ป่า โดยการสร้างความร่วมมือกันในการทำฝายชะลอน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ 4. การสร้างฝายชะลอน้ำอาจทำในรูปแบบฝายแกนซอยซีเมนต์ซึ่งเป็นฝายแนวคิดใหม่เพื่อกักเก็บน้ำให้แก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกในปี 2562 ที่โดยหลักการแล้วสามารถอนุญาตให้ทำได้


5. กมธ.มีข้อเสนอแนะว่าจากประสบการณ์ฝายแกนซอยซีเมนต์ (ฝายดิน) สามารถเก็บน้ำได้นานขึ้นและเก็บน้ำได้ผลดีขึ้นกว่าฝายไม้ไผ่ (ฝายแม้ว) เพราะสามารถกักน้ำคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า พื้นดินและใต้ดิน 6. กมธ.ขอให้อธิบดีทั้งสองท่านได้พิจารณาอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ของทั้งสองกรมในการสร้างฝายชะลอน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยสมควรพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษโดยมอบอำนาจให้กับท้องที่เพื่อให้หน่วยงานในระดับจังหวัดสามารถทำข้อตกลงเรื่องการทำฝายชะลอน้ำกับให้ภาคประชาชนและอปท.ได้

7. ประเด็นการขอใช้พื้นที่รอบเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสร้างฝายหรือแก้มลิงเป็นที่เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคขอประชาชน ผลจากการหารือ กฟผ. ยินดีให้ความร่วมมือ โดยบริเวณพื้นที่รอบเขื่อนอุบลรัตน์มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เอง หากเป็นเขื่อนอื่นอีก 5 แห่งในภาคอีสานของ กฟผ.จะต้องขออนุญาตการใช้พื้นที่จากเจ้าของพื้นที่คือกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และราชพัสดุฯ ซึ่งเขื่อนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ของกรมที่ดินและกรมอุทยานฯ ดังนั้น กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจึงจำเป็นต้องนำเรื่องนี้หารือกับท่านอธิบดีทั้งสอง ซึ่งท่านอธิบดีที่สองท่านรับที่จะดำเนินการพิจารณาเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป

8. กรณีนายก อบต.โสกก่าม ให้ข้อมูลว่าในตำบลโสกก่ามและพื้นที่ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬได้รับผลกระทบจากช้างป่าลงมาบุกรุกและทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอสำหรับช้างป่า ทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จึงขอเสนอให้ทำฝายชะลอน้ำและอ่างเก็บน้ำในเขตอุทยาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกรและช้างป่าในกรณีนี้ท่านอธิบดีกรมอุทยานรับที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ โดยได้มอบจดหมายร้องเรียนจากนายก อบต.โสกก่ามให้ท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ และมอบให้เจ้าหน้าที่ของ กมธ.ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป


ทั้งนี้ ข้อสรุปร่วมกันในวันนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศในระดับหนึ่งโดยสรุปแนวทางการดำเนินงานดังนี้คือ :

1. การดำเนินงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คือ นายธัญญา เนติธรรมได้รับข้อเสนอของคณะกมธ.โดยในเบื้องต้นจะได้พิจารณาบรรจุรูปแบบการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์เป็นฝายอีกรูปแบบหนึ่งของกรมอุทยาน กล่าวโดยสรุปก็คือฝายแกนซอยซีเมนต์ซีเมนต์จะได้รับการพิจารณาบรรจุให้เป็นฝายอีกรูปแบบหนึ่ง โดยปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติมีฝายที่รูปแบบการดำเนินการอยู่แล้ว 3 รูปแบบ โดยกรมอุทยานยินดีรับข้อเสนอให้เป็นรูปแบบที่ 4 แนวคิดเบื้องต้นให้เรียกชื่อว่า “ฝายชุมชน” เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและบำรุงรักษาร่วมกัน

2. เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์สุขให้กับประชาชน หากคณะกรรมาธิการหรือสมาชิกวุฒิสภา ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการขออนุมัติหรืออนุญาตในการดำเนินการเรื่องหนึ่ง เรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรมอุทยานฯ สามารถประสานงานได้โดยตรงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อ

3. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้รับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ เช่นเดียวกับกรมอุทยานฯ ว่าในการขอใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กรมป่าไม้จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และตามความในมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ทุกคนจะต้องช่วยเหลือประชาชนเป็นสำคัญ กรณีที่เป็นการขออนุญาตใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐที่มีขนาดไม่เกิน 20 ไร่ และเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาหรือบำรุงป่าสงวนแห่งชาติ อธิบดีได้มีการสั่งการและมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการอนุมัติหรืออนุญาตแทน


4. ฝายของกรมอุทยานมี 3 รูปแบบ คือ 1) ฝายคอกหมู (ฝายไม้ไผ่ 2) ฝายกึ่งถาวร และ 3) ฝายถาวร หลักคิดเรื่องฝายแบบนี้เน้นการทำหน้าที่ของฝายเพื่อเก็บกักนำ้ให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จุดอ่อนของฝายคอกหมู (ราคาต้นทุน 5 พันบาทต่อฝาย 1 ตัว) คือต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี ในขณะที่ “ฝายชุมชน” จะอยู่คงทนถาวรนานนับสิบปี และเก็บกักน้ำได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก เราคิดว่านี่เป็นเรื่องของความรู้ชุดเก่ากับความรู้ชุดใหม่ที่ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดและพื้นทึ่สาธารณะ (public sphere) ในสังคม

5. จากการหารือกับท่านอธิบดีทั้งสองกรม อดไม่ได้ที่จะนึกถึงนิทานของคนจีนเรื่อง ‘ลุงโง่ย้ายภูเขา’ ที่ลุงโง่พยายามขุดภูเขาตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาค่ำของทุกวันโดยไม่เคยหยุดพัก จนชาวบ้านอดรนทนไม่ได้จึงเข้าไปถามลุงโง่ว่าทำอะไรอยู่ พอชาวบ้านรู้ว่าลุงโง่กำลังพยายามจะย้ายภูเขาทั้งลูกด้วยตัวคนเดียวก็พากันหัวเราะด้วยความขบขันเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ลุงโง่ไม่ได้สนใจคำเย้ยหยันใดๆ เพราะแกบอกว่าจะขอขุดต่อไปเรื่อยๆจนตาย เมื่อแกตายแล้ว ลูกชายแกจะรับหน้าที่ต่อไป เมื่อลูกชายตาย หลานชายก็จะรับหน้าที่ต่อไปโดยไม่มีการขาดช่วง ลุงโง่บอกว่าวันหนึ่งข้างหน้าภูเขาลูกนี้จะถูกย้ายออกไปอย่างแน่นอน และประชาชนจะสามารถสัญจรไปมาได้โดยสะดวก นิทานเรื่องนี้ต้องการสอนให้คนมีจิตใจที่ทรหดอดทนในการแก้ไขปัญหายากๆ โดยไม่ยอมแพ้และโดยไม่ต้องปริปาก เราจะใช้จิตใจที่ทรหดอดทนของลุงโง่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างจากลุงโง่ก็คือตนจะไม่ทำงานคนเดียว หากแต่จะเดินหน้าหามิตร หาพันธมิตรให้มากที่สุดเพื่อผนึกกำลังร่วมกันในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ได้ภายในเวลา 3 ปี


“มิตรของเรามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ใครมีแรงออกแรง ใครมีทุนออกทุน ใครมีอำนาจ ขอให้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เรามาดูกันว่าปาฏิหาริย์เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเสร็จสิ้นการหารือ กมธ.ได้กล่าวแสดงความขอบคุณท่านอธิบดีทั้งสองท่านและเราหวังว่าการร่วมมือกันหาแหล่งนำ้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนจะช่วยสร้างความหวังและอนาคตที่ดีงามให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนครับ” นายสังศิตกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น