กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เสนอผ่านตัวแทนกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ทั้ง 2 กรมเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐในท้องถิ่นกับประชาชนสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาผืนป่าและให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดปี โดยอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ของทั้งสองหน่วยงานสร้างฝายชะลอน้ำได้อย่างรวดเร็ว
วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานได้เชิญผู้แทนจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาร่วมประชุม เพื่อขอทราบเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการป้องกันการเกิดไฟป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลที่ประชุมว่าได้มีการจัดทำฝายต้นน้ำ 3 รูปแบบ คือ ฝายต้นน้ำแบบคอกหมู ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร และฝายต้นน้ำแบบถาวร อยู่แล้ว และมีนโยบายให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกระจายความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า หากชุมชนใดสนใจที่จะสร้างฝายสามารถเขียนโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามหลักการของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ก็สามารถทำได้
ในส่วนของกรมป่าไม้ได้ดำเนินการสร้างฝายโดยใช้ฝายกึ่งถาวรเป็นหลัก ตามแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2580) กรมป่าไม้มีแผนที่จะสร้างฝายทั้งหมดประมาณ 300,000 แห่งทั่วประเทศ โดย 47,500 แห่ง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ พื่อเป็นการลดการชะล้างพังทลายของดิน
จากนั้น ที่ประชุมได้สอบถามเกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอน้ำในประเด็นสำคัญต่าง ๆ และมีข้อสรุป ดังนี้
1. การสร้างฝายชะลอน้ำของทั้ง 2 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาป่าให้มีจำนวนมากที่สุด ฝายของภาครัฐมักสร้างในพื้นที่สูง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือภาครัฐเน้นการสร้างฝายเพื่อรักษาป่า
2. ที่ประชุมเห็นว่าการสร้างฝายชะลอน้ำสมควรเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร ฝายที่ กมธ.เสนอจะสร้างในพื้นที่ระดับล่างลงมาพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กมธ.เน้นการสร้างฝายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีวัตถุประสงค์ทั้งสองประการข้างต้นสามารถดำเนินงานร่วมกันได้
3. ขอให้เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหนังสือเรียนอธิบดีเพื่อสรุปประเด็นว่าที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนร่วมกับการอนุรักษ์ป่า โดยการสร้างความร่วมมือกันในการทำฝายชะลอน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรักษาผืนป่าและทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดปี
4. การสร้างฝายชะลอน้ำอาจทำในรูปแบบฝายแกนซอยซีเมนต์หรืออาจทำรูปแบบอื่นใดก็ได้ เพียงขอให้สามารถเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ตลอดปี
5. ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่าจากประสบการณ์ฝายแกนซอยซีเมนต์ (ฝายดิน) สามารถเก็บน้ำได้นานขึ้นและเก็บน้ำได้ผลดีขึ้นกว่าฝายไม้ไผ่ (ฝายแม้ว)และ
6. ที่ประชุมขอให้ท่านอธิบดีได้พิจารณาอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ของทั้งสองหน่วยงานในการสร้างฝายชะลอน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยสมควรพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ( มอบหมายให้หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจแทนระดับกรม)
“การสื่อสารที่เป็นไปด้วยบรรยากาศของการปรึกษาหารืออย่างสร้างสรรค์ที่สำคัญมาจากพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษา กมธ.และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเสนอแนะอย่างมีทิศทาง รวมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยเสนอแนะแนวทางการทำงานร่วมกัน
“ข้อสรุปร่วมกันในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศที่จะสามารถทำบันทึกข้อตกลงการทำโครงการร่วมมือกันระหว่างประชาชนในแต่ละจังหวัดกับหน่วยงานภาครัฐทั้งสองแห่ง ( พลเอกสุรศักดิ์เล่าว่าเพิ่งกลับมาจากจังหวัดลำปางที่ประชาชนทำ MOU กับหน่วยงานข้างต้นในการทำฝายในเขตอุทยาน) ผมรู้สึกถึงความสุขใจที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะที่ผ่านมามีประชาชนในหลายจังหวัดเช่นที่แพร่ สกลนครและกาฬสินธุ์ได้หารือกับผมในเรื่องนี้มาโดยตลอด ผมหวังว่าข่าวนี้จะช่วยให้พวกท่านมีโอกาสเก็บกักน้ำได้มากขึ้น
“เพื่อเร่งรัดให้การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและความยากจนให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศและทั่วทุกจังหวัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการไปพบกับท่านอธิบดีทั้งสองกรมที่กระทรวงทรัพยากรโดยไม่ชักช้า
“เมื่อเสร็จสิ้นการิจารณาแล้วที่ประชุมได้ขอบคุณผู้แทนจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้มาร่วมประชุมและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมาธิการเป็นอย่างยิ่ง”นายสังศิตกล่าว