xs
xsm
sm
md
lg

“สังศิต”นำคณะดูปัญหาขาดแคลนน้ำในสกลนคร พร้อมเสนอทางแก้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สังศิต”นำคณะ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา ดูงานจัดการน้ำที่สกลนคร พบพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แนะสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ทำแก้มลิงเก็บน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน เก็บน้ำไว้ใช้ระยะยาว พร้อมเสนอทางแก้น้ำเน่าเสียในหนองหาร

วันที่ 1 สิงหาคม 2563 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วยพลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ และนายสัญชัย จุลมนต์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ฯ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และนายสุภัทรดิศ ราชธา ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมกักเก็บน้ำขนาดเล็ก พร้อมคณะฯ

ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง โดยในช่วงเช้าได้ประชุมร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 24 แห่ง ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร


นายสังศิต ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่โดยเสนอ 10 แนวทางในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาด้านงบประมาณและการช่วยเหลือเยียวยาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มีการให้เสนอปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในแต่ละกรณีไป ส่วนปัญหาที่อยู่นอกเหนือหน้าที่และอำนาจดังกล่าว ประธานคณะกรรมาธิการฯ จะนำเข้าหารือในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

นอกจากนี้ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำเสนอสภาพปัญหาในพื้นที่ ซึ่งสภาพปัญหาไม่ต่างกันมากนัก ดังนี้

- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกกปลาซิว อำเภอภูพาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเครือ ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำ เนื่องจากไม่สามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ใช้ในหน้าแล้งได้อย่างเพียงพอ และปัญหาเกี่ยวกับการขออนุมัติแบบในการสร้าง

- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงลาย อำเภอเมือง ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับการขยายท่อส่งน้ำใต้ดินต่อจากพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่การเกษตร


- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับการของบประมาณที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน

- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแนวเขตพื้นที่บริเวณรอบหนองหารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุกและรุกล้ำพื้นที่หนองหาร

- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงสือ อำเภอโพนนาแก้ว ได้นำเสนอปัญหาว่า พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก มีแหล่งกักเก็บน้ำบึงกลาง แต่ไม่สามารถระบายน้ำให้แก่เกษตรกรได้ เนื่องจากขาดงบประมาณในการดำเนินการขุดลอก ทำคลองซอยจากบึงกลาง


โดยระหว่างมีการนำเสนอปัญหา นายสังศิต ขอให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จดบันทึกเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยยืนยันต่อที่ประชุมว่า ‘พร้อมที่จะเป็นผู้ประสานงานด้วยตนเอง เพื่อให้การแก้ปัญหาสำเร็จผล ด้วยความรวดเร็ว’ นอกจากนี้ นายสังศิต ยังได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ได้คอยสนับสนุนช่วยเหลือท้องถิ่นต่างๆ ในระดับจังหวัด เช่น การประสานงานกับกรมป่าไม้ ประมงจังหวัด กรมเจ้าท่า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปยังตำบลเชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร ป่าหว้าน หมู่ 7 เป็นหมู่บ้านขาดแคลนน้ำบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ไม่มีแหล่งเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ลำห้วยที่ไม่สามารถใช้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านจึงร่วมกันทำฝายชะลอน้ำชั่วคราวเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สภาพของฝายที่ชาวบ้านร่วมกันทำอยู่ในสภาพที่เรียกว่ายับเยิน กระนั้นก็ดีฝายสามารถเก็บกักนำ้ได้จำนวนหนึ่งและเกษตรกรทำการเกษตรได้ตลอดปี ซึ่งเทศบาลตำบลเชียงเครือกำลังจะดำเนินการทำฝายชะลอน้ำด้วยแกนซอยซีเมนต์ถึง 4 แห่งอย่างถาวรต่อไป ฝายตัวใหม่จะสร้างสูงขึ้นจากเดิมอีก 2 เมตร และถ้าหากสร้างฝายให้ห่างกันทุก 2 กม. ซึ่งจะทำให้เก็บกักน้ำบนผิวดินราว 4 แสน ลบ.เมตร และเก็บอยู่ใต้ผิวดินอีกราว 4 ล้าน ลบ.เมตร


นายสังศิตกล่าวว่าปัญหาใหญ่ 2 เรื่องของสกลนครคือ 1.เกือบทุก อบต.ที่เข้าร่วมประชุมยอมรับว่าประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ถ้าเราแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้โครงการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น ฝายแกนซอยซีเมนต์ ทำแก้มลิงทั้งบนผิวดินและแก้มลิงใต้ผิวดินและบ่อบาดาลน้ำตื่้นโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ เราจะสามารถเก็บกักน้ำได้อีกเป็นพันล้านลบ.เมตร ซึ่งสกลนครจะไม่มีวันขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคและเพื่อการผลิต 2.ปัญหาน้ำเน่าเสียในหนองหาร ปัจจุบันปลาในหนองหารสะสมพิษเอาไว้มากจนหัวปลาเป็นสีดำ และชาวบ้านไม่กล้ากินปลาหนองหารมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันหนองหารตื้นเขินมากขึ้นทุกปี รวมทั้งยังมีการบุกรุกจนพื้นที่หนองหารลดลงจากราว 1.2 แสนไร่เหลือราว 6 หมื่นไร่ รวมทั้งปัญหาสาหร่ายหางกระรอกที่มีอยู่เต็มไปหมดเพราะขาดการดูแล ปัจจุบันน้ำในหนองหารมีอยู่ราว 255 ล้าน ลบ.ม.ใช้เพื่อการประปาราว 5 เปอร์เซ็นต์และใช้เพื่อการผลิตราว 5 เปอร์เซ็นต์ การแก้ปัญหานี้ควรทำฝายแกนซอยซีเมนต์ในแม่น้ำทั้ง 26 สายเพื่อเก็บกักน้ำดีเอาไว้ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องระบายน้ำเสียออกจากหนองหารทั้งหมดแล้วจึงค่อยปล่อยน้ำดีเข้าไปแทนที่ สุดท้ายคือน้ำจากหนองหารที่ไหลออกไปลงลุ่มน้ำก่ำและไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมนั้น เราควรทำฝายแกนซอยซีเมนต์ดักน้ำเป็นระยะเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้

“สิ่งที่พวกเราทุกคนดีใจคือตลอดวันที่ 1 สิงหาคมมีฝนตกทั้งวัน ซึ่งทำให้รองเท้าของพวกเราเปรอะเปื้อนโคลนหนาเตอะ นี่เป็นวันแรกของปีที่รองเท้าของเราเปื้อนโคลนครับ”นายสังศิตกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น