ผลกระทบจากยุคโควิด-19 ขณะนี้น่าจะให้บทเรียนที่ผู้นำและผู้บริหาร ผู้ที่มีจุดมุ่งหมายที่ดีในความรับผิดชอบทางการงานได้เกิดตระหนักรู้ถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา ซึ่งมี ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน เสนอให้รัฐบาลกันเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้ใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพจากเงินกู้ที่รัฐบาลเตรียมสำหรับนโยบายนี้ 4 แสนล้านบาท ที่อยู่ภายใต้ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
ดร.สังศิต มีความเห็นว่า รัฐบาลน่าจะพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส ด้วยกลยุทธ์ที่ดีก็สามารถใช้เงินกู้ดังกล่าว ช่วยเยียวยาผลกระทบพร้อมกับฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและสนับสนุนให้ 8,000 ตำบลทั่วประเทศเข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน
แนวคิดนี้ มุ่งพัฒนาอาชีพให้เกิดคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมให้ประชาคม ท้องถิ่นทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำ โดยหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ด้านการสร้างโอกาสทางสังคม ด้านความสามารถในการแข่งขันและด้านสิ่งแวดล้อม
“รัฐบาลควรให้หน่วยงานของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารเป็นเจ้าภาพสนับสนุน มีคณะกรรมการกำหนดทิศทาง กำกับนโยบายที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการจากทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการเอกชนและจากภาครัฐ”
ส่วนระบบสนับสนุนการใช้เงินก็ให้ระดับตำบล มีคณะกรรมการพหุภาคีวางแผนพัฒนาชุมชนแก้วิกฤต พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นองค์รวม
ทั้งนี้ โดยให้ทำเป็นโครงการเสนอเพื่อพิจารณารับการสนับสนุนงบประมาณ อาจมีกรอบโครงการที่เปิดกว้าง ได้แก่ การสร้างความมั่งคงด้านอาหาร การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อระบบสาธารณูปโภคและพัฒนาภาคเกษตรกร
ตัวอย่างเช่น โครงการบ่อบาดาลน้ำตื้น ฝายต้นน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน การพัฒนาวิสาหกิจฐานราก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมสร้างสันติสุข การพัฒนาระบบดูแลผู้ได้รับผลกระทบหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนหนี้และจำนวนครัวเรือน ยิ่งเจอปัญหาตลาดชะงัก ผู้ซื้อหดหาย ราคาผลผลิตตกในยุคโควิด ก็ยิ่งซ้ำเติม ปัญหาก็ย่ำแย่
ดร.สังศิต กล่าวถึง ดร.มูฮัมหมัด ยู นูส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นแนวคิดแบบ “ทุนนิยมสร้างสรรค์” หรือ “ทุนนิยมเพื่อผู้อื่น” โดยใช้เครื่องมือ เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Business)
ดร.ยู นูส ได้ตั้งกองทุน Social Business Fund สนับสนุนโครงการโนบิน ซึ่งเปิดกว้างให้คนยากจนคนเดียวหรือรวมกลุ่มเสนอโครงการเพื่อ “สร้างงานใหม่” ไม่ใช่เป็นภาระของคนว่างงานหรือ “คนหางานทำ”
ผลลัพธ์ที่เกิดจึงได้ทั้งการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นทรัพยากร สร้างคุณค่าและมูลค่าซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
กรณีเมืองไทย ดร.สังศิตและคณะกรรมาธิการดูจะให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหา “การขาดแคลนน้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญทั้งการผลิตและการบริโภคของประชาชน ซึ่ง 78% ยังขาดแคลน และเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญ
ทางออกสำหรับการแก้ “ภัยแล้ง” จึงอยู่ที่การรู้จักบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี และจากที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ไปดูผลงานตัวอย่างที่ชาวบ้านดิ้นรนทำกัน 600 โครงการ ก็ได้ข้อสรุปว่าจะถอดบทเรียนให้ได้ต้นแบบสัก 10 รูปแบบในการแก้ปัญหา
แนวทางคือ จัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ใช้งบจัดสร้างระดับเงินหมื่นหรือไม่เกินแสนบาท ใช้เวลาทำไม่เกิน 10 วัน สามารถช่วยให้ครอบครัวมีน้ำกินน้ำใช้ได้ทุกฤดูแล้ง
ดร.สังศิต ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ จะช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนอย่างถึงแก่นให้เกิดผลดีต่อประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม
“ก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิด-19 ภาคเกษตรกรก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำหนักหน่วงอยู่แล้ว เมื่อเกิด
วิกฤตโควิดก็เหมือนมาซ้ำเติมประชาชนให้การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมยิ่งแย่ลงไปอีก”
อย่างไรก็ตาม แม้มีน้ำใช้แล้วก็ยังไม่หายจน เพราะเกษตรกรในเขตชลประทานส่วนใหญ่มีหนี้สินจากการเกษตรแบบพืชเชิงเดียว และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้ต้นทุนสูงจึงมีหนี้สิน
กรรมาธิการชุดนี้จึงเสนอให้ปลูกพืชอย่างน้อย 3-4 ชนิด ทั้งประเภทให้ผลผลิตระยะสั้น 1-2 สัปดาห์ พืชที่ให้ผลตอบแทน 4-6 เดือน และแบบเป็นระยะยาว 10-15 ปี แบบไม่มีมูลค่า ผสมผสาน
ข้อคิด....
แนวคิดแบบ ดร.สังศิต ประธานกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคลื่อนไหวครั้งนี้นับว่าน่าสนับสนุนมาก
เพราะนี่เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) เพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) โดยมีเป้าหมาย (Goal) ที่การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
สาเหตุที่เป็นปัญหาสั่งสมก็คือ ปัจจัยการผลิตไม่สมดุล โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อเพาะปลูก ทั้งยังต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้ต้นทุนสูง เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ผลก็คือขาดทุนและเป็นหนี้เรื้อรัง
การสร้างโอกาสเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เพื่อให้มีกินมีขายหลายช่วงเวลา และจัดการให้มีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ใช้งานได้ ด้วยหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
จึงเป็นการช่วยแบบยั่งยืน ให้คนในเศรษฐกิจฐานราก เลิกจน สามารถช่วยตนเองได้ และยังมีกลไกช่วยจัดการแก้หนี้ครัวเรือนให้หลุดจากวงจรหนี้นอกระบบที่โหดร้าย
หวังว่ารัฐบาลจะได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ สังคมท้องถิ่น ก็ด้วยการมีจิตสำนึกใหม่ให้สมกับยุคหลังโควิดที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือ การได้อยู่ในแนวทางสร้าง “ประโยชน์สุข” ให้ประชาชนหมดปัญหาเดือดร้อน
suwatmgr@gmail.com