ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นภาพข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น คิดกันยังไง? ที่ "ส.ส.ฝ่ายค้าน" นพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก เขต 2 อ.พรหมพิราม พรรคเพื่อไทย ไปยืนหน้าเวทีแล้วจู่ๆ ก็ก้มลงกราบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระหว่างคณะของพล.อ.ประวิตร เดินทางไปปฏิบัติราชการติดตามสถานการณ์น้ำ และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามโครงการเติมน้ำใต้ดินเพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ อ.บางระกำ และอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ตามนโยบายของรัฐบาล
ข่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้านท่านนี้ กราบพร้อมกับพูดถึง "ปัญหาการปล่อยน้ำทางการเกษตร" จับใจความว่า น้ำที่อ.พรหมพิราม ไม่มี หากไปดูอีกฝั่งตรงข้ามกับแม่น้ำ และ บอกว่า "กราบขอความช่วยเหลือจากท่าน"
จากนั้นก็เตรียมคุกเข่าก้มลงกราบอีกครั้ง แต่ทหารติดตามได้ห้ามไว้ และพาตัวออกไปข้างนอก
สุดท้ายก็ออกมาพูดกับนักข่าวว่า ที่กราบเพราะ"เราคนไทยครับ"
เขาบอกว่า"ทุ่งนาสีเขียว (ที่คณะรองนายกฯ ลงพื้นที่) นี้มันไม่ใช่ ต้องลองลงไปฝั่งตรงข้าม ไม่มีใครเพาะปลูกเลย เนื่องจากไม่มีน้ำ แถวหมู่ 1 ต.ท่าช้าง"
"เหตุที่ต้องก้มกราบ เพราะเป็นตัวแทนของชาวบ้าน อยากให้ท่านเมตตาช่วยชาวบ้านด้วยเรื่องที่ท่านบอกว่าน้ำอุดมสมบูรณ์ มันไม่ใช่"
"ในพื้นที่ ชาวนาเพิ่งทำนากันเอง บางพื้นที่ก็ยังปลูกไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ เราต้องหว่านข้าวตามดินแห้งๆ แล้วก็รอพระพิรุณ อย่างเดียว หลังบ้านผมดินยังปลูกไม่ได้เลย"
นั่นละครับ สภาพความเป็นจริงที่ส.ส.เขาเห็น
แล้วทำไม?? ส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้นี้ต้องลงทุน"ก้มกราบ"
ย้อนความกลับไปดู เรื่อง "อำนวยการบริหารจัดการน้ำ" รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ดูว่าไปถึงไหนแล้ว !
รัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ประวิตร ได้รับการแต่งตั้งเป็น "ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" กำกับดูเรื่องน้ำของประเทศไทย ทั้งหมด มี "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เป็นหน่วยงานเจ้าภาพแผนการบูรณาการบริหารฯ กำกับดูแลและเป็นฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการฯชุดใหญ่ ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 ว่าด้วย การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
แผนยุทธศาสตร์ ด้านที่ 5 นี้มี พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลแผนงานบูรณาการทั้งหมด ที่สำคัญมีอำนาจในการอนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง น้ำท่วม รองฯ ประวิตร จะเป็นผู้เสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติทั้งหมด โดยจะต้องเบิกผ่านไปยัง "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ"
ดูจากตัวอย่าง "งบประมาณรายจ่าย ปี 2563"
"สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ "น้ำต้นทุน"รวมทั้งคาดการณ์ "สถานการณ์น้ำ"เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ และให้ความช่วยเหลือ ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 พบว่า มีพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในเขตการประปา จำนวน 31 จังหวัด นอกเขตการประปา 38 จังหวัด และมีพื้นที่เที่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในเขตชลประทาน 36 จังหวัด และ นอกเขตชลประทาน 20 จังหวัด
สำนักงานฯ เสนอให้รัฐบาลสนับสนุน "งบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง" ปี 2563 จำแนกได้ดังนี้
ตามมติ ครม. 7 ม.ค.63 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ในพื้นที่ 2,041 แห่ง 44 จังหวัด วงเงิน 3,079.4725 ล้านบาท ให้กับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และการประปาส่วนภูมิภาค
ล่าสุด โครงการนี้ เบิกจ่ายลงไปแล้ว 1,626 แห่ง ในวงเงิน 2,446.1626 ล้านบาท
ยังติดปัญหากับอีก 415 แห่ง เนื่องจาก "สำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ประกอบกับ "กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น" ได้จัดสรรผ่านเป็นงบประมาณท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน ให้กับ 399 ท้องถิ่น ไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่างบประมาณ ที่จัดสรรให้ "กรมการทหารช่าง และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา" 633.3099 ล้านบาท กว่า 16 โครงการ ยังมีอุปสรรค ไม่สามารถดำเนินการได้ตามมติ ครม. 17 มี.ค.63 "โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563" และเพิ่มการลงทุนภาครัฐ กระตุ้นการชื้อวัสดุและจ้างแรงงานในท้องถิ่น ในพื้นที่ 6,640 แห่ง วงเงิน 7,646.09180 ล้านบาท งบประมาณก้อนนี้ จึงสามารถดำเนินการได้เพียง 1,149 แห่ง แต่ดำเนินการเสร็จแล้วเพียง 116 แห่ง
ในคราวเดียวกัน "โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (เพิ่มเติม) สำหรับพื้นที่ปลูกไม้ผลยืนต้น 86 แห่ง และพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 80 แห่ง ในวงเงินงบฯ 622.4326 ล้านบาท
สรุปรวมแผนงาน 2 โครงการ ตามมติ ครม. 17 มี.ค. จำนวนทั้งสิ้น 6,806 แห่ง เป็นเงิน 8,269.3506 ล้านบาท มี 11 หน่วยงานดำเนินการ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมประมง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า การประปาส่วนภูมิภาค กรมการทหารช่าง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการข้าว
ล่าสุด มีข้อมูลว่า งบประมาณก้อนนี้ สามารถจัดสรรไปแล้ว 1,836 แห่ง วงเงิน 5,518.1945 ล้านบาท มี 5 แห่ง ที่สำนักงบฯ ยังไม่สามารถจัดสรรโอนได้ แค่ 2 ล้านกว่าบาท
ยังไม่หมด ยังไม่หมด ยังไม่หมด !!
13 เม.ย.63 วันที่ไม่หยุดสงกรานต์ จากปัญหาโรคโควิด-19 มีการประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะได้รับรายงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่ามีการจัดทำ "แบบจำลองกายภาพลุ่มน้ำ" ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เพื่อประกอบการชี้แจง สร้างความเข้าใจ ในแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การบริการจัดการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจง่าย ประกอบกับ ยังมีแผนงานโครงการแก้ภัยแล้ง และกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 63 เพิ่มเติม เพราะยังมีโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ
ต่อมา 13 พ.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ข้อมูลหลังจากลงพื้นที่ เขตหนองจอก กทม. และสั่งการให้ กทม.ไปศึกษาแผนขุดลอก คู
คลอง 95 คลอง จาก 10 คลองหลัก และ 85 คลองสาขา รวมถึงของ กรมชลประทาน 3 คลอง
15 พ.ค.63 รองฯ ประวิตร ไปดูพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ จ.ระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการแก้ภัยแล้งภาคตะวันออก 1 ในโครงการของ ระเบียงตะวันออก (อีอีซี) สั่งการให้ "กรมชลประทาน" เร่งรัดโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างกระแสร์ ให้เสร็จภายในปี 63 "จากกำหนดเวลาเดิม 6 ปี( 2560-2565) เพื่อกักน้ำ ในเขตพื้นที่ จ.ระยอง
ยังมีโครงการ ตามมติ ครม. (1 ต.ค.62) ที่ตกค้าง เช่น โครงการตรวจสอบสภาพ ซ่อมแซม พนังกั้นน้ำ ฝายชะลอน้ำ หรือคันกั้นน้ำที่ทรุดโทรม "ให้เปลี่ยนแปลงเป็นโครงการที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบและจัดหาวัสดุก่อสร้างให้มั่นคงถาวรกว่าเดิม"
ขณะเดียวกัน เมื่เร็วๆ นี้ ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้ง "รองผู้ว่าราชการจังหวัด" 76 จังหวัด เป็น "ประธานอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด" มีกรรมการจังหวัดละเกือบ 30 คน เพื่อเข้ามาบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับ"ทรัพยากรน้ำ"ทั้งหมด และยังมีอำนาจ จัดทำแผนงบประมาณแบบบูรณาการ "งบจังหวัด" ด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อบริหารหน่วยงานในระดับจังหวัด
ล่าสุด 8 ก.ค. 63 มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลาง ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 506.67 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง วงเงิน 187.1 ล้านบาท (เพิ่มเติมจากงบเดิม 700 ล้านบาท)
2. แผนงานขุดลอกคลองสายหลักและคลองสาขาในกรุงเทพมหานคร พื้นที่หนองจอก 3 คลอง จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 9.76 ล้านบาท
3.แผนงานกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝน จำนวน 215 แห่ง 200 ล้านบาท
4.การจัดทำแบบจำลองทางกายภาพลุ่มน้ำเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 17 ลุ่มน้ำ วงเงิน 4.5 ล้านบาทเศษ
5.การขุดลอกคลองหลัก 7 คลอง และคลองสาขา 53 คลอง ใน กทม. พื้นที่หนองจอก รวม 60 โครงการ วงเงิน 95 ล้านบาท
6.ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ คณะละ 6 ครั้ง และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 76 จังหวัด จังหวัดละ 2 คณะ คณะละ 6 ครั้ง วงเงินรวม 10.1 ล้านบาท/ปี
ตลอด 1 ปี 63 ถึง 64 ในฐานะ ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ ผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีงบประมาณ ที่ได้รับจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อกำกับนโยบายบริหารจัดการน้ำกว่า 11,855.3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ในพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ยังมีงบฯ ที่จัดสรร ให้ "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" รวม 3,946,300 บาท เพื่อเป็นแผนงานพื้นฐาน ด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2564 ยังพบว่า "สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เสนอจัดสรรงบประมาณ รวม 680,124,900 บาท ในแผนเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่พร้อมจะถูกโยกมาใช้ในภารกิจ "บริหารจัดการน้ำ" ทุกเมื่ออีก 9.9 หมื่นล้านบาท
ดู "วงเงินงบประมาณแล้ว!" ส.ส.ที่ไหน ก็พร้อมจะกราบแทบเท้า.