xs
xsm
sm
md
lg

คืนอำนาจการจัดการบริหารน้ำขนาดเล็กให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน

วันที่ 22 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการฯ เข้าร่วมสัมมนาและเป็นวิทยากรพิเศษรับเชิญบรรยายในเวทีสัมมนาสมาคมชาวนาเกษตรกรเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา จัดโดยคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชัชวาล คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการจัดสัมมนา ประกอบด้วยสมาชิกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จาก 18 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 500 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบ


นายสังศิต กล่าวต่อเวทีประชุมสัมมนาว่า ที่เกษตรกรต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานภาคการเกษตรประสบความล้มเหลว อันมีผลมาจากการขาดแคลนน้ำต้นทุน ซึ่งนายสังศิตได้มีการชี้แจงรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และเร่งช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากไปกว่านี้ นั่นคือต้องเร่งจัดหาแหล่งน้ำดิบขนาดเล็ก ที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างน้อย ใช้ระยะเวลาสั้นในการจัดสร้าง เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปีในเร็ววัน


“เมื่อวาน (22 ส.ค.63) ผมและคณะเดินทางไปศึกษา รับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อนจากภาวะแล้งหลายแห่ง พบว่า อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ไม่มีน้ำ ทำให้พี่น้องเกษตรกร ไม่สามารถทำการเกษตรได้ตลอดฤดู เช่น อ่างเก็บน้ำฝายคึกฤทธิ์ และอีก 12 อ่าง เลียบลำน้ำชี แห้งไม่มีน้ำ ไม่สามารถเก็บน้ำได้

“ส.ส.ปรีดา บุญเพลิง และคุณโกมิฬ ขอดคำ ประธานเครือข่ายธนาคารน้ำใต้ดิน อำเภอหนองแวง จังหวัดขอนแก่น เสนอการสร้างฝายที่เรียกว่า แกนซอยซีเมนต์หรือฝายดิน ตลอดลำน้ำชี เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้แลกจะช่วยไม่ให้เกิดภาวะแล้งอีกต่อไป โดยให้ องค์กรปกครองท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการดูแลแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ของตัวเอง คณะกรรมาธิการชุดของเรา ถือว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศไทย การขาดแคลนน้ำ เป็นต้นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของความยากจน’


“ผมใคร่ขอเสนอให้ท่านชัชวาล คงอุดมในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้รัฐบาล คืนอำนาจการจัดการบริหารน้ำขนาดเล็กให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและประชาชน”

นายสังศิต เสนอต่อเวทีสัมมนาว่า ตนจะร่วมผักดันให้ทำฝายแกนซอยซีเมนต์ ในลุ่มน้ำชี 200 ฝาย และ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อทำให้ผืนแผ่นดินทุกหนทุกแหห่งของประเทศไทยชุ่มน้ำเพราะอุ้มน้ำไว้อย่างเต็มที่


ด้านนายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และอนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการน้ำและที่ดิน กล่าวกับเกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ในปัจจุบันหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาบ้าง แต่ระบบการจัดเก็บน้ำยังไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากส่วนใหญ่น้ำจะไหลผ่านหน้าดินอย่างรวดเร็วโดยไม่ซึมลงในดิน เนื่องจากภัยแล้งที่ผ่านมาส่งผลให้เม็ดดินยึดเกาะกันแน่นจนน้ำฝนซึมผ่านชั้นดินได้ยาก เกิดการสูญเสียน้ำธรรมชาติไปอย่างไร้ประโยชน์ รวมทั้งบางพื้นที่น้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำนั้นมีปริมาณมากจนเกิดเป็นน้ำป่าสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน แนวทางที่จะชะลอความรุนแรงรวมทั้งสามารถนำน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินสำหรับใช้ประโยชน์ได้นั้น คือการจัดทำร่องดินเติมน้ำ ด้วยการใช้รถแบ๊คโฮขุดลงไปในดินความลึกสุดแขนรถแบ๊คโฮเป็นแนวยาว ก่อนนำเอาดินที่ขุดขึ้นมากลับลงไปในร่องดินหลวมๆโดยไม่บดอัดหรือที่เรียกว่าการตัดความควบแน่นของดิน ซึ่งเมื่อฝนตกน้ำก็จะไหลลงร่องที่กลบไว้ผ่านลงไปในดินได้ง่าย และสามารถเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก รวมทั้งหากมีการจัดสร้างฝายดินแกนซอยซีเมนต์ในลำห้วยและแม่น้ำเป็นระยะๆ เราก็จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ในฤดูแล้ง รวมถึงการเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้น การใช้ชุดสูบน้ำโซล่าเซลแสงอาทิตย์ ก็จะสามารถช่วยให้มีน้ำสำหรับทำการเกษตรได้ครบทั้ง 12 เดือน สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงในอาชีพการทำการเกษตรกรรม สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน


ซึ่งในเวทีการเสวนาครั้งนี้พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ เรียกร้องให้ทางภาครัฐได้ช่วยเหลือเรื่องของน้ำสำหรับทำการเกษตรที่มีปัญหาการขาดแคลนอยู่ทั่วไป

ระหว่างสัมมนา นางจำรัส อิทธิกุล ตัวแทนเกษตรกรบ้านห้วย หมู่ 8 ตำบลตลาดแร้ง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ได้ลุกขึ้นพูดต่อที่ประชุมว่า อำเภอบ้านเขว้าแม้จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง อาทิ ต้นน้ำลำชี ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูแลนคา ลำห้วยขีลอง ที่ไหลผ่านพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองชัยภูมิ ฝายที่เป็นแก้มลิงอีก 1 แห่งคือฝายอาจารย์จือ แต่กลับพบว่า เมื่อหมดฤดูฝนแหล่งน้ำธรรมชาติที่กล่าวถึงได้ลดระดับลงต่อเนื่องขาดซึ่งระบบการจัดเก็บและการนำน้ำไปใช้ จึงขอให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 2 คณะได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือชาวบ้านให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนทั้งปัญหาหนี้สินและน้ำเพื่อการเกษตรกรรม


เนื่องจากเกษตรกรข้างต้นแสดงออกถึงความเจ็บช้ำน้ำใจจากการการขาดการดูแลเรื่องน้ำจากหน่วยงานภาครัฐ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เดินไปหลังห้องประชุมเพื่อสนทนา รับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็นกับนางจำรัส และสัญญาว่าหากมีโอกาสยินดีจะไปดูปัญหาเรื่องนำ้ที่จังหวัดชัยภูมิและในพื้นที่ของนางจำรัสด้วย

“จากการรับฟังปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ในห้องประชุมแล้วพบว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือน้ำ น้ำและน้ำครับ”นายสังสิตกล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น