xs
xsm
sm
md
lg

‘สังศิต’ จับมือ ‘พินิจ’ หนุนท้องถิ่นแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน

“ส.ว.สังศิต” จับมือ “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกฯ หนุน อบจ.-อบต.สร้างฝายแก้น้ำท่วมน้ำแล้งเอง ผลักดันกระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้ท้องถิ่นจัดการ

วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 7.30 น. หลังจากรับประทานอาหารเช้า นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายชนศวรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ อนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากนำ้พร้อมคณะฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดบึงกาฬ

บนเส้นทางตลอด 184 กิโลเมตร สังเกตเห็นว่ามีการก่อสร้างถนนเพิ่มเลนกว้างขึ้น และมีการซ่อมถนนเป็นช่วงๆ การเดินทางบนเส้นทางนี้ยังต้องเผชิญกับสายฝนพรำอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับไม่คุ้นเคยเส้นทาง และเป็นถนนสวนกันเพียง 2 เลน ระหว่างเส้นทางขบวนรถตู้ต้องขับตามรถพ่วงอย่างช้าๆ ไม่อาจทำความเร็วแซงขึ้นไปได้ ทำให้คณะเดินทางถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)บึงกาฬช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย


เมื่อถึง อบจ.บึงกาฬ นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสมาคมการค้าไทย-จีน และอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ สมาชิกสภาจังหวัด รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ได้ร่วมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ณ ห้องประชุม อบจ.บึงกาฬ

หลังจากนายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวต้อนรับ และชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ การประชุมหารือ ในประเด็นการขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาความยากจน และได้เสนอแนะการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ


เพื่อให้การใช้เวลาได้สาระความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เริ่มต้นกล่าวต่อที่ประชุมทันทีว่า

‘คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากมีหลายกระทรวง มีประชาชนที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เห็นผลอย่างรวดเร็วทที่สุด ผมเห็นว่า ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพราะถ้ามีน้ำตลอดปี เกษตรกรจะมีอาชีพทำการเกษตรได้ตลอด 365 วันใน 1 ปี ในทางทฤษฎีพวกเขาจะมีอาชีพ มีรายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย แต่ความทุกข์และความยากจนของพี่น้องเกษตรกรจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไป จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานและเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากพืชผัก ประมงและปศุสัตว์เป็นประจำทุกวัน’


“แม้ ส.ว. ไม่มีอำนาจสั่งการเชิงบริหาร แต่อำนาจที่แท้จริงของเราคือการมีชุดความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ในทางทฤษฎีเรียกสิ่งนี้ว่า นวัตกรรมสังคม (social innovation) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม และนำ้แล้ง ผมจะประสานทุกทิศ ผลักดันทุกทาง แบบกัดติด”

นายสังศิต กล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ว่า “ผมตั้งใจจะขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บึงกาฬชุ่มน้ำให้ได้ทั่วทั้งจังหวัด รวมทั้งผมจะหามาตรการทุกอย่าง ระดมทุกสรรพกำลังเพื่อทำให้อีสานชุ่มน้ำให้ได้ภายในสามปี ในช่วงเวลาการเป็น ส.ว. ที่เหลืออยู่


“การแก้ปัญหาเรื่องน้ำในจังหวัดบึงกาฬให้เบ็ดเสร็จควรจะต้องตั้งคณะกรรมการเรื่องน้ำระดับท้องถิ่นให้ได้ ผมใคร่ขอเสนอให้มีการรวบรวมพื้นที่แต่ละจุดที่ขาดน้ำทั่วทั้งจังหวัดและมาร่วมพิจารณาหารือว่าจะทำอย่างไรและด้วยวิธีการอย่างไร วิธีการมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพของแต่ละพื้นที่ อาทิ การสร้างฝายด้วยแกนซอยซีเมต์ เป็นที่กักเก็บน้ำน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะทำได้รวดเร็วใช้เวลาสั้น ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสามารถกักเก็บน้ำได้ทันทีและน้ำมีใช้ได้ตลอดปี ซึ่งตอนบ่ายเราจะไปดูพื้นที่จุดที่จะสร้างฝายกักเก็บน้ำกัน”

นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ รายละเอียดต่างๆ ของฝายแกนซอยซีเมนต์ และแนวทางกักเก็บน้ำ 10 แนวทางพร้อมฉายวิดีโอระกอบ


นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ พูดถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และเสนอต่อที่ประชุมว่า แนวคิดแกนซอยซีเมนต์ หรืออีกหลายวิธีใน 10 แนวทางตามเอกสาร เป็นเรื่องใหม่ อบจ.บึงกาฬ และท้องถิ่นต่างๆ จะทำตามแนวทางนี้ เพราะ ทำได้เร็ว ใช้งบน้อย แต่ไม่มั่นใจ สตง.เห็นด้วยหรือไม่’

“ขอเสนอให้ประธานคณะกรรมาธิการ แก้ปัญหาความยากจนฯ ผลักดันให้ สตง. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำเป็นหนังสือสนับสนุนแนวคิดการทำฝายเก็บกักน้ำขนาดเล็กตาม 10 แนวทางนี้” นายนิพนธ์กล่าวในที่สุด


นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวสนับสนุนแนวคิดของนายนิพนธ์ และกล่าวเสริมอีกว่า ขอให้ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ ผลักดันให้ สตง. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำหนังสือตามที่ นายกฯ อบจ.เสนอ

นายพินิจ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ จะกระทำได้ผลรวดเร็ว ต้องให้ท้องถิ่น คนในพื้นที่ตัดสินใจเอง ฉะนั้น การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งทำ และขอฝากให้ประธานคณะกรรมาธิการฯผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น

นายสังศิต กล่าวตอบในตอนท้ายก่อนเสร็จสิ้นการประชุมว่า “ผมให้คำมั่นสัญญาต่อพวกเราทุกคนว่าจะใช้ความสามารถที่มีอยู่ทั่งหมด จะประสาน ผลักดัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สตง. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ มีข้อตกลง โดยการออกหนังสือ กฎระเบียบฯ สนับสนุน 10 แนวทางแก้ปัญหาแล้ง ให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทุกฤดู และให้ท้องถิ่นทำงานด้วยความมั่นใจ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของพี่น้องจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน”

บรรยากาศเป็นที่พอใจ เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความมั่นใจ ผู้เข้าร่วมประชุมร่วม 100 คน รับประทานอาหารร่วมกัน เหลือบดูเวลาบ่ายคล้อยแล้ว


หลังจากนั้น เวลา 14.30 น.เศษ คณะได้เดินทางถึงบริเวณริมแม่น้ำสงคราม ติดลำห้วยไฮหย่อง ตำบลวังชมภู อำเภอพรเจริญ ประกอบด้วยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ อนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรนำ้และที่ดิน นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากนำ้

ผู้นำชาวบ้านกว่า 100 คน ต่างรอต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เพราะ อาจเป็นคณะที่มาดูพื้นที่ที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้จริง!


สตรีเลยวัยกลางคนในกลุ่มชาวบ้าน บอกกับคณะฯ ว่า ‘ฤดูฝน น้ำจะมากอย่างที่เห็น แล้วมันไหลหลากไปเขื่อนลำปาว ไม่มีอะไรเก็บน้ำ ถึงฤดูแล้ง ไม่มีน้ำ’

‘เสียงสตรีวัยราว 60 ปี ซึ่งนั่งอยู่ข้างหน้าคณะไม่เกินสามก้าว บอกด้วยเสียงอันดังด้วยสำเนียงอีสานว่า ‘เวลาแล้ง น้ำจะแห้ง ไม่มีน้ำปลูกพืชผัก ทั้งแม่น้ำและลำห้วย’

ผอ.ภัทรพล ซึ่งยืนอยู่ด้านหลังไม่ห่างจากประธานคณะกรรมาธิการฯ มากนักโน้มตัวพูดด้วยเสียงอันแผ่วเบาว่า
‘นี่คือข้อมูลแท้จริงจากชาวบ้านในพื้นที่ครับ’


นายสังศิต กล่าวกับคณะชาวบ้านว่า “ท่านพินิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี 8 สมัย นายนิพนธ์ คนขยัน และผมตั้งใจจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ด้วยการทำฝายแกนซอยซีเมนต์กั้นสองฝั่งแม่น้ำสงครามกับลำห้วยไฮหย่อง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดฤดู ให้พี่น้องทำการเกษตรได้ มีรายได้ ตลอดปีและมั่นคง”

คณะประชุมหารือบริเวณฝั่งแม่น้ำสงคราม เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและประเมินความเป็นไปได้ ความเหมาะสมในการสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยไฮหย่องและแม่น้ำสงคราม โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมรับฟังเสนอแนะและสังเกตุการณ์อยู่รอบๆ สลับกับการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ท้ายสุด พี่น้องประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอยากให้มีฝายกั้นน้ำทั้งลำห้วยไฮหย่องและในแม่น้ำสงครามเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและการประมงพื้นบ้านในช่วงหน้าแล้ง


นายสังศิต ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวสุดท้ายก่อนเดินทางกลับว่า “ผมกับท่านพินิจ และคณะ ยืนยันให้คำมั่นกับพี่น้องชาวตำบลวังชมภู อำเภพรเจริญ เราไม่ได้มาสร้างความหวัง เรามาเพื่อทำให้เป็นจริง ผมจะกลับมาอีกครั้งและอีกหลายครั้งจนกว่าเราจะมีฝายแกนซอยซีเมนต์ ผมขอให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องทุกคนว่าจะใช้ความพยายามทำฝายนี้ให้เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2564 เพราะเรื่องนี้เราเคยมีประสบการณ์ที่ทำสำเร็จแล้วที่ อบต.ศรีบุญเรือง จังหวัดขอนแก่น โดยขั้นตอนแรกเราจะรีบจัดส่งเอกสารการขออนุญาตสร้างฝายชะลอน้ำจากกรมเจ้าท่าให้ท่านนายก อบจ.บึงกาฬ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว อบจ.จะใช้งบประมาณของตนเองสร้างฝายหลายตัวซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้เป็นปริมาณมหาศาล

“ส่วนที่นายก อบต.โสกก่ามร้องเรียนว่า ในตำบลโสกก่ามและพื้นที่ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกาได้รับผลกระทบจากช้างป่าลงมาบุกรุกพื้นที่การเกษตรและทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอ ทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ ท่านจึงเสนอให้ทำฝายชะลอน้ำในเขตอุทยานเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกรและช้างป่า รวมทั้งการปลูกพืชผลไม้ให้แก่ช้างป่าด้วย ผมรับข้อเสนอทันทีและจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับท่านอธิบดีกรมอุทยานในวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน


“นี่เป็นปัญหาที่ อบจ.และอบต.ทุกแห่งของจังหวัดบึงกาฬเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด 2 ปัญหา ผมรับมาหมดและรับปากว่าจะให้คำตอบโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ เรื่องฝายหาก อบจ.ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ต้นปีหน้าเริ่มงานทันที ทีมงานของเราจะเดินทางมาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

“ความสำเร็จและความหวังของพี่น้องเกษตรกรและนายก อบจ.และ อบต.ในวันนี้ ผมขอยกความดีทั้งหมดนี้ให้กับคุณพินิจ จารุสมบัติที่เป็นผู้ให้คำแนะนำอันมีค่าแก่ผมเป็นอย่างยิ่ง เราตกลงกันว่าในช่วงวันที่ 18-19 กันยายน กมธ.แก้ปัญหาความยากจนจะกลับไปเริ่มต้นทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่บึงกาฬทันที โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวันคือ วันที่ 17 สิงหาคม พลโทจเรศักดิ์กับผมและทีมงานจะลงไปแก้ปัญหาเรื่องน้ำและที่ดินให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งจะมีกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนจาก 4 อำเภอมาหารือกัน ท่านบอกกับผมว่าจากการลงพื้นที่พี่น้องเกษตรกรมีปัญหาเรื่องนี้หนักมาก ผมตอบรับท่านด้วยความเคารพรักและศรัทธาในตัวท่าน และได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กมธ.ทันทีและ กมธ.ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 สิงหาคม) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างที่เราคิดและวางแผนไว้เราจะทำงานให้หนักมากขึ้นกว่าเดิม และจะเดินหน้าให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมครับ

“เราเดินทางปฎิบัติภารกิจ ‘อีสานชุ่มน้ำ’ ตั้งแต่วันที่ 26 จนถึงวันที่ 29 ส.ค.มาแล้ว 853 กิโลเมตร ในพื้นที่อีสานเหนือ หลังเสร็จภารกิจเบื้องต้นที่กาฬสินธุ์ เราได้เดินทางต่อไปที่หนองคายทันที ผมอยากจะกล่าวว่า ‘ภารกิจยังไม่จบ...จนกว่าอีสานจะชุ่มน้ำ’ ครับ”นายสังศิตกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น