xs
xsm
sm
md
lg

‘สังศิต’พาคณะดูปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องที่ราชบุรี พร้อมเสนอทางแก้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน

ประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่ราชบุรี ดูสภาพปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ปี เสนอบูรณาการอำนาจหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟู ขุดลอกอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศกว่าหมื่นแห่ง เพื่อกักเก็บน้ำ สู้ภัยแล้งในอนาคต’

เวลา 8.30 น วันที่ 8 สิงหาคม 2563 รถตู้ 2 คัน พาคณะของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เคลื่อนตัวออกจาก อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่ราชบุรีตามที่ประชาชนร้องขอให้ไปช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง

กว่า 2 ชั่วโมง 11.30 น คณะเดินทางถึงที่ทำการ องค์การบริหารส่วนตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยมีนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายเสน่ห์ แคนเพชร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางหัก ผู้นำชุมชน ประชาชน ให้การต้อนรับนาย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ นายนำพล คารมปราชญ์ นายสุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ


ทั้งหมด ได้ประชุมร่วมกัน นางสาวกัญจน์ณัฏฐ์ พรมสุวรรณ์ ปลัด อบต.ยางหัก บรรยายสรุป สภาพทั่วไป และปัญหาการขาดแคลนน้ำว่า องค์การบริหารส่วนตำบลยางหักมีพื้นที่ 297.72 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน จำนวน 3,360 ครัวเรือน ประชากร 7,845 คนโดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและที่ราบสูง ซึ่งอยู่ในเขตสปก.และป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านทำเกษตรกรรมปลูกผลไม้เช่น ทุเรียนเงาะ ลองกอง มังคุด มะยงชิดโดยอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่จำนวนทั้งหมด 6 แห่ง คือ 1อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด 2 อ่างเก็บน้ำห้วยพุกหลุด 3 อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดง 4 อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน 5 อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน 6 อ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหม แต่อ่างเก็บน้ำทั้ง 6 แห่ง ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เนื่องจากตื้นเขินจากการมีหินตกตะกอนทับถม มีวัชพืชขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมากประกอบกับอ่างเก็บน้ำมีรอยรั่ว ชาวบ้านจึงขาดแคลนน้ำใช้สำหรับการเพาะปลูก ปลัด อบต.ยางหัก ชี้แจงอีกว่า พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลยางหักเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบุรีกับราชบุรีโดยมีแหล่งน้ำสำคัญคืออ่างเก็บน้ำแม่ประจันแต่ชาวบ้านในพื้นที่ยางหักกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้เนื่องจากอยู่บริเวณขอบด้านบนสุดของอ่างเก็บน้ำแม่ประจัน ซึ่งจากการขาดแคลนน้ำเพาะปลูกดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรอย่างรุนแรงและแม้ว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารชุมชนจะพยายามดำเนินการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยการสร้างหลุมขนมครกและการสร้างฝายกั้นในลำน้ำต่างๆในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้เท่าที่ควร เพราะหลักคิดในการแก้ปัญหานำ้แล้งเป็นแบบดั้งเดิม เมื่อนำ้มาก็ไม่สามารถเก็บกักนำ้เอาไว้ได้

คณะกรรมาธิการได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาน้ำแล้งให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำชุมชนด้วยวิธีการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ในลำน้ำ และการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยการขุดบ่อบาดาลน้ำตื้น และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้คณะกรรมาธิการจะได้ดำเนินการเร่งติดตามการดำเนินงาน และเร่งรัดการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมชลประทานให้เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วต่อไป

เวลา 14.30 น. คณะฯ ได้เดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยวังปลาช่อน ซึ่งไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ อ่างนี้ได้ถูกถ่ายโอนจากรมชลประทาน ให้ไปอยู่ในความดูแลของ อบต.ยางหัก ผมพบว่าอ่างมีสภาพตื้นเขิน ปกคลุมไปด้วยต้นหญ้า และวัชชพืชอื่นๆแผ่ปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง เกินศักยภาพ อบต.ยางหัก ที่จะจัดสรรงบประมาณทำการขุดลอกได้ ซึ่งนายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจา กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ‘ไม่สามารถช่วยทำการขุดลอกได้ เช่นกัน เนื่องจากขัดต่อระเบียบกฎหมาย เพราะได้โอนให้กับท้องถิ่นไปแล้ว’ผมได้ขอให้ท่านรองผู้ว่าช่วยประสานให้อบจ.นำรถแมคโครมาขุดลอกอ่าง ท่านรองผู้ว่ารับปากว่าจะรีบดำเนินการให้ต่อไป


นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวกับประชาชนที่มารอพบว่า ‘ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการสร้างรายได้ ซึ่งตนเองจะได้ดำเนินการประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่ฤดูฝนปีนี้จะผ่านพ้นไป

“ปัญหาของเราคือการบริหารจัดการกัก เก็บน้ำไม่ดีพอ ในแต่ละปีฝนตกเฉลี่ยราวปีละ 7.7 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราสามารถ กัก เก็บ น้ำ ตามเขื่อน และอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ได้เพียง 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ที่เหลือจะไหลตามแม่น้ำต่างๆ ออกสู่ทะเลไป แต่เรามีน้ำที่ธรรมชาติกักเก็บไว้ใต้ดินที่สามารถนำมาใช้ได้ราว 1.1 ล้านๆลบ.ม.ตัวอย่างเช่นอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 6 อ่าง มีศักยภาพเก็บน้ำได้รวมถึง 3,327,280 ลบ.ม สามารถกระจายน้ำให้พื้นเพาะปลูกได้ถึง 7,250 ไร่ แต่ปัจจุบันเก็บน้ำได้ไม่ถึง 50% เนื่องจากมีตะกอนทับถมตื้นเขิน วัชพืช ปกคลุมพื้นที่อ่างจึงเก็บน้ำได้น้อย ไม่พอใช้ตลอดปี ตำบลยางหักจึงขาดแคลนน้ำเป็นเวลานานขึ้น หลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เนื่องจาก ต้องใช้งบประมาณมากเกินศักยภาพของท้องถิ่น กรมชลประทานก็ไม่อาจยื่นมือช่วยเหลือได้เพราะผิดระเบียบกฎหมาย เพราะได้ถ่ายโอนให้ อบต.ยางหักแล้ว


‘ตัวเลข รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) พบว่า อปท.ได้รับการถ่ายโอนภารกิจแหล่งน้ำขนาดเล็กมีจำนวน 1,839 อปท.จาก 76 จังหวัด รวม 11,779 แห่ง (ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560) ยังไม่มีหน่วยงานใด ทราบแน่ชัด สภาพอ่างเก็บน้ำดังกล่าวอยู่ในสภาพเหมือนกับ6 อ่างที่ อบต.ยางหักรับโอนมาหรือไม่ หากเราสามารถบูรณะ ขุดลอก อุดรอยซึมแตกร้าว ด้วยซอยซีเมนท์ เราอาจเก็บน้ำพอใช้ทุกฤดู แม้ต้องเผชิญภัยแล้งติดต่อกันก็ตาม เราจำเป็นต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อ บูรณาการอำนาจ หน้าที่ เชิงระเบียบ กฎหมาย และเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ได้ ผมคิดว่านี่เป็นการเดิมพันเพื่อความอยู่รอดของคนจน และอนาคตที่มีความหวังของพวกเขา’ หากเราทำไม่ได้ความสงบสุขของบ้านเมืองก็ยากจะเกิดขึ้นได้ นายสังศิต กล่าวในที่สุด

“ภาพที่ผมและคณะพบปะกับชาวบ้านคือบริเวณกลางอ่างเก็บน้ำที่ฝนไม่ตกติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ ชาวบ้านเล่าว่าเดิมเมื่อถึงหน้าฝนบริเวณที่ผมยืนอยู่จะมีน้ำสูงถึง 3 เมตร แต่ 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีฝนตกมาเลย ผมได้หารือกับผอ.ชลประทานเขตเพชรบุรีต่อหน้าพี่น้องเกษตรกร และท่านให้คำมั่นสัญญากับผมว่าจะส่งทีมงานเข้ามาภายใน 1-2 อาทิตย์ข้างหน้า ท่ามกลางเสียงปรบมือโห่ร้องด้วยความดีใจของชาวบ้าน นี่เป็นเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขที่เมื่อผมได้ยินแล้วก็พลอยตื้นตันใจตามไปด้วย ผมให้คำมั่นสัญญาว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องเกษตรกรทุกคนเราจากกันด้วยความรู้สึกที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการจุดประกายแห่งความหวังให้แก่พวกเขาทุกคนซึ่งไม่เคยมีใครเคยหยิบยื่นให้พวกเขามาก่อน

“สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือชาวบ้านบอกว่าไม่อยากได้เงิน 5 พันบาทจากรัฐบาล แต่อยากได้น้ำมากกว่า เพราะน้ำทำให้ได้อาชีพและรายได้ที่มากกว่า 5 พันบาท น้ำสร้างความสุขให้แก่ครอบครัวทุกคน ผมบอกกับตัวเองว่าจะต้องนำประโยชน์สุขกลับคืนมาให้แก่พวกเขาให้ได้ครับ”นายสังศิตกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น