xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เตรียมสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี สร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่แก้ปัญหาภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี​ -​ กรมชลฯ​ เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำแล้ง-​น้ำท่วมใน​ จ.จันทบุรี​ พร้อมจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนก่อนสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีให้เป็นแหล่งเก็บน้ำแห่งใหม่ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ​ ช่วยชาวสวน ประชาชนได้มีน้ำใช้ตลอดปี

วันนี้​ (11 ส.ค.)​ กรมชลประทาน ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี​ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนจนทำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี​ ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา​ ชลประทานจันทบุรี​ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้าสำรวจความเหมาะสม​ของโครงการและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม​ โดยมุ่งเน้นการจัดการบริหารน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำและการบรรเทาอุทกภัย เพิ่มศักยภาพด้านการเกษตร การอุปโภคบริโภค 


โดยอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 1,593 ตารางกิโลเมตร มีระยะการดำเนินการตั้งแต่ 8 มิ.ย.63 ถึง 29 พ.ย.64 รวมระยะเวลาดำเนินการ​ 540 วัน และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้​ จ.จันทบุรี​ มีแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ​ โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ

นอกจากนั้น ยังจะช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำหลาก​ ลดปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่​ จ.จันทบุรี และบริเวณฝาย​ยังสามารถปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจให้แก่ประชาชนได้อีกทางหนึ่ง


การประชุม​ดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุมจุลมณี 1 ชั้น 2 โรงแรมเคพีแกรนด์ จ.จันทบุรี โดยมีนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน​ โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ของประชาชน​ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปปรับปรุงและแก้ไขเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์​ร่วมกันอย่างสูงสุด

ขณะที่​ นายชยันต์ เมืองสง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา​ กรมชลประทาน​ เผยว่าจันทบุรี​ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมา กลับต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านเกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ตอนบนก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหลากเนื่องจากเป็นเทือกเขาสูง

แต่ยังโชคดีที่ในพื้นที่ตอนกลาง​ ชลประทานได้มีสร้างคลองภักดีรำไพ​ ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ได้มาก








กำลังโหลดความคิดเห็น