คณะของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วยพลโทจเรศักณ์ิ อานุภาพ นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ และนายสัญชัย จุลมนต์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ฯ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ และนายสุภัทรดิศ ราชธา ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เดินทางฝ่าพายุฝนที่กระหน่ำซัด ตลอดเส้นทาง รถตู้ 2 คันที่คณะฯนั่งมา ทำความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชั่วโมง บางห้วง บนเส้นทาง วกเวียน เชิงเขา บริเวณบ้านกวนบุ่น อ.เต่างอย จ.สกลนคร
เป้าหมายของคณะฯ เดินทาง คือศึกษาดูงาน รับรู้ข้อมูล ปัญหาและข้อเสนอ ของภาคประชาชนในพื้นที่ และได้มาถึงฝายลำพะยัง ตำบล คุ้มเก่า หมู่ 2 อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน พบว่าน้ำมีอยู่แค่หลังฝาย แต่ที่หน้าฝายไม่มีน้ำเลย ดูเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่ฝนตกหนักเพียงคืนเดียวกลับมีน้ำกำลังไหลหลาก ล้นฝายไหลเชี่ยวรุนแรงบริเวณหน้าฝายที่น่าเสียดายคือน้ำปริมาณมหาศาลกลับไหลไปตามลำน้ำยัง และไหลออกไปยังแม่น้ำโขงโดยไม่มีการกักเก็บน้ำเอาไว้แต่อย่างใด
นายสังศิต ได้ดำเนินการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทฤษฎีคนรุ่นใหม่ ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านแดนสามัคคี ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นางสาวภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา นายชรินทร์ ภู่ชัย นายอำเภอเขาวง นายกิฬา ศรีวรขันธ์ นายก อบต.คุ้มเก่า กำนันตำบลคุ้มเก่า ผู้ใหญ่บ้านร่วมหารือ การสร้างฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริฯ ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง
นายจีระพันธ์ ไชยขันธ์ ปลัด อบต.คุ้มเก่า ชี้แจงให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่าพื้นที่นาข้าวที่เห็นน้ำเต็มทุ่ง รอบฝายลำพะยัง เนื่องจากฝนตกติดต่อกัน 2 วัน ก่อนที่คณะฯเดินทางมาถึง ก่อนหน้านี้ แห้งแล้งไม่มีน้ำเลย
น้ำที่ไหลล้นฝาย จะไหลไปตามลำน้ำยัง ไม่มีกักการเก็บน้ำ ถึงฤดูแล้งก็จะขาดน้ำ ขาดน้ำปลูกพืชผลอื่นเพื่อเสริมรายได้
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวเสริมถึงแนวทางแก้ปัญหาว่า แนวทางที่ใช้ได้ผลมาแล้วหลายพื้นที่ คือ การสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ หรือเรียกว่า’ฝายดิน’ ก็ได้ เพราะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์เพียง 1 ส่วน ใช้ดิน 20 ผสมกัน ปูนจะช่วยให้การเกาะยึดของดินแน่น คงทนและจะเป็นฝายที่เนื้อเดียวกับดินธรรมชาติ “ฝายแกนซอยซีเมนต์หรือฝายดินนี้ จะชะลอช่วยลดความแรงการไหลของน้ำกักเก็บน้ำทั้งไว้บนผิวดินและใต้ดิน เมื่อหมดฤดูฝน ในฤดูแล้ง น้ำที่ถูกกักเก็บไว้ด้วยแกนซอยซีเมนต์ บริเวณพื้นที่รอบจะซึมขึ้นผิวดินทำให้มีน้ำใช่พอเพียงตลอดฤดูแล้ง”
ด้านงบประมาณ นายสังศิต ให้ข้อแนะนำว่า มี 3 แนวทาง คือ 1. ใช้งบประมาณปกติของท้องถิ่น 2. เสนอของบ 4 แสนล้านบาท (สู้โควิด19) ของรัฐบาล และ 3. ให้ทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและสำเนาเรียนประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพื่อผลักดันอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ฝายลำพะยัง เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริ โดยเมื่อวันที 25 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร สภาพภูมิประเทศลำพะยังที่บ้านกุดตอแก่น และที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างฝายลำพะยังตอนบน (ห้วยวังคำ) บ้านดงหมู ตำบลคุ้มเก่า บ้านนาวี ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ดังกล่าว ให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี 2560
นายสังคิด กล่าวว่า การมีฝายช่วยให้พี่น้องเกษตรกรจำนวนหนึ่งมีโอกาสในชีวิต มีอาชีพและมีรายได้ดีขึ้น แต่น้ำก็กลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำที่ไม่ต้องการปล่อยน้ำเพราะอยากเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่วนเกษตรกรที่อยู่ท้ายนำ้เพราะขาดแคลนน้ำก็เรียกร้องขอให้ปล่อยน้ำให้พวกเขาได้ประโยชน์บ้าง ท่านนายกอบต.และชาวบ้านจำนวนมากบอกกับพวกเราว่าไม่ต้องการฝาย เพราะเกรงว่าจะมีการตัดต้นไม้ใหญ่ และไม่ต้องการให้มีการขุดลอกคลองส่งนำ้ ผมคิดว่าข้อกังวลใจของพี่น้องเกษตรกรเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการทำงานของข้าราชการในอดีต
"ผมจึงเสนอว่าแนวทางการทำงานของเราจะต้องทำให้ประชาชนได้ทั้งประโยชน์และได้ความสุข หากประชาชนได้ประโยชน์แต่ไม่มีความสุข เราจะไม่ทำ และถ้าพวกเขามีความสุขแต่ไม่ได้ประโยชน์ เราก็จะไม่ทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการสร้างฝายดินจะต้องไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ของชาวบ้านแม้แต่ต้นเดียว"
นอกจากนี้เราจะไม่มีการขุดลอกดินในลำน้ำ ที่ผมกล้าตัดสินใจเช่นนี้เพราะเมื่อวานที่เราไปเห็นฝายกักเก็บน้ำที่สกลนครที่ชาวบ้านทำกันเองซึ่งอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ยับเยิน” ยังสามารถกักเก็บน้ำได้ตั้งเยอะ ฉะนั้นการสร้างฝายดินสูงสัก 1 เมตรทุกระยะ 1-5 กม.ต่อตัวตลอดลำน้ำระยะทางราว 30 กิโลเมตร พี่น้องเกษตรกรจะมีปริมาณน้ำที่อยู่บนดินและใต้ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรตลอดปีเป็นจำนวนหลายสิบล้านลบ.ม. ภายหลังจากที่ผมอธิบายแล้ว พี่น้องเกษตรกรดูจะสบายใจขึ้น หลังจากนั้นเราได้ลงไปดูแปลงเกษตรแบบผสมผสานและเป็นออแกนิกของกลุ่มชาวบ้าน ผมรู้สึกชื่นชมที่ชาวบ้านมีการทำการเกษตรแบบที่เป็นของส่วนรวม เพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินสามารถมีที่ทำกินได้ เราจากกันด้วยความรู้สึกที่ดีและเราสัญญาว่าจะกลับไปติดตามและแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้พี่น้องเกษตรกรภายในเดือนสิงหาคมนี้ นี่เป็นคำมันสัญญาว่าเราจะไม่ทิ้งกัน
ก่อนเดินทางไป อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ มีนายสุภัทรชัย หันจรัส ประธานเครือข่ายเกษตรยั่งยืนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นเรื่องขอความอนุเคราะห์สนับสนุนโครงการก่อสร้างบ่อบาดาลน้ำตื้น พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามแนวทางพระราชดำริ จากนั้น คณะเดินทางไป อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ โดยมีประชาชนรอพบอยู่ที่ปากอุโมงค์ หนึ่งในนั้น คืออดีตแกนนำสมัชชาคนจนที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับความยากจนของชาวไร่ ชาวนาเป็นที่รู้จักกันดีคือคุณบำรุง คะโยธา กรรมการลุ่มน้ำชี กัลยานิมิตร รอร่วมเสนอความคิดการบริหารจัดการน้ำ บริเวณลุ่มน้ำยังกับนายสังศิต พิริยะรังสรรค์
ด้านนายบำรุง คะโยธา ได้เสนอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเสนอ ตั้ง’สภาบริหารจัดการน้ำของประชาชน’ เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตน’ ซึ่งนายสังศิต เห็นเช่นเดียวกัน และ รับที่ประสานกับ ชลประทาน เขต 7 จังหวัดมุกดาหาร และเขต 6 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นี้ “ในวันที่ 27-28 สิงหาคมนี้ เราจะกลับไปประชุมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อหารือกันแก้ปัญหาหนองหารที่สกลนคร และวันรุ่งขึ้นเราจะไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่กาฬสินธุ์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกรอบ”