รายงาน
เช้าวันที่ 4 ก.ย. 63 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วย นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และนายสุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เดินทางไปยังจังหวัดลำปาง เพื่อรอรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์การเกษตร และคณะที่สนามบินลำปาง
ที่ห้องรับรองที่สนามบิน ร.อ.ธรรมนัสได้ปรึกษาเรื่องน้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารของกรมชลประทาน เนื่องจากชาวบ้านอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงขอเสนอให้สร้างฝายบ้านนาแก้วพร้อมระบบส่งน้ำและสร้างแก้มลิงที่บ้านสบตำ่ โดย ร.อ.ธรรมนัสได้เชิญให้นายสังศิตร่วมหารือด้วย
“เจ้าหน้าที่กรมชลรายงานว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนของกรมแล้ว และจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2567 หรืออีกราว 4 ปีข้างหน้า ผมได้ถามว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปีไหน เมื่อได้รับคำตอบว่ายังไม่แน่นอน ผมจึงเรียนท่านรัฐมนตรีว่าคำตอบแบบนี้ท่านจะไม่สามารถบอกกับพี่น้องเกษตรกรได้ ท่านจึงถามว่าแบบของโครงการจะเสร็จเมื่อไหร่ คำตอบคืออีกราว 2 ปี ผมจึงเสนอว่าต้องเร็วกว่านั้น เพราะความทุกข์ของประชาชนไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้น ท่านรัฐมนตรีจึงถามว่าคุณจะทำให้ผมเร็วที่สุดแค่ไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าจะพยายามให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ผมบอกว่าช้าไป ขอเป็น 2 อาทิตย์ก็แล้วกัน ในที่สุดเราได้ข้อยุติว่าแบบของโครงการจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 อาทิตย์และโครงการควรจะเริ่มต้นภายในปีนี้เลย ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะเป็นช่วงที่ลำน้ำโดยทั่วไปเริ่มแห้งแล้ว ผมขอแสดงความชื่นชมท่านรัฐมนตรีที่กล้าตัดสินใจแบบเฉียบขาดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและเกษตรกรเป็นที่ตั้ง” นายสังศิตกล่าว
หลังจากนั้นคณะของ ร.อ.ธรรมนัสได้ออกเดินทางไปพบปะกับพี่น้องประชาชนที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำของพี่น้องประชาชนในฤดูแล้ง
ร.อ.ธรรมนัสได้ประกาศต่อหน้าเกษตรกรจำนวนหลายร้อยคนว่า “พวกท่านไม่ต้องรอฝาย ไม่ต้องรอนำ้อีกต่อไปแล้ว เพราะผมขอประกาศว่าจะลงมือสร้างฝายภายในปีนี้เลย และผมจะร่วมมือกับท่านอาจารย์สังศิตช่วยกันผลักดันเรื่องน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มทึ่”
หลังจากนั้น ร.อ.ธรรมนัสได้รับฟังการสรุปของโครงการที่อยู่ในบริเวณลำน้ำวังที่จะเป็นจุดสำหรับการสร้างฝาย อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.กว่า 10 สมัยได้เสนอการแก้ปัญหาเรื่องน้ำต่อ ร.อ.ธรรมนัส ว่ารัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณราว 890,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งประเทศ เหมือนกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง และควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม และน้ำแล้งสำหรับพี่น้องประชาชนในภาคเหนือทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นายสังศิตได้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการแก้ปัญหานำ้ทั้งประเทศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถใช้งบประมาณเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และสามารถทำให้จบได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสได้ตอบกลับว่า “ผมจะสนับสนุนอาจารย์”
“สำหรับกลยุทธ์การแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำของพี่น้องจังหวัดลำปาง ผมมองว่าความยาวทั้งสองฝั่งของลำน้ำวังซึ่งไหลผ่านพื้นที่ของ จ.ลำปาง มีระยะทางประมาณ 200 กม.เศษ ควรใช้การก่อสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ที่มีความสูงระหว่าง 2-2.50 เมตร เป็นช่วงๆ ตามลักษณะภูมิประเทศตลอดลำน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำและยกระดับน้ำ ให้สามารถสูบน้ำขึ้นไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรมแบบพอเพียง และแบบผสมผสานได้ตลอดปี ด้วยการใช้ชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์แบบเทคนิคที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งท้องถิ่นสามารถซ่อมบำรุงได้เอง มีความทนทาน โดยไม่มีภาระต้องใช้จ่ายค่าพลังงานในระยะยาวอีกด้วย ผมคิดว่าเราสามารถเริ่มต้นจากการสร้างฝายในปีนี้ให้ได้แล้วเสร็จสัก 10 ตัว ทิ้งระยะห่างระหว่างฝายแต่ละตัวระหว่าง 1-3 กิโลเมตร ดังนั้นตลอดลำน้ำวังจากลำปางถึงจังหวัดตากควรสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ระหว่าง 70-100 ตัวถ้าทำตามแผนนี้พื้นที่ตลอดลำน้ำวังจะอุดมสมบูรณ์มาก เพราะเกษตรกรจะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี พี่น้องเกษตรกรจะหายทุกข์หายจนได้อย่างแน่นอน
การได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือกันระหว่างท่านธรรมนัสกับผมอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องการหาแหล่งนำ้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และทั่วประเทศ จะช่วยให้การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่ามันเป็นการผสมผสานกันระหว่างผมที่มีความรู้ใหม่ ความคิดใหม่เพื่อพี่น้องคนจน (social innovation) กับท่านธรรมนัสที่มีอำนาจบริหาร (power) และมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ สำหรับผมแล้วการมีความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่นั้น การแก้ปัญหาเรื่องนำ้ของผมทำได้ด้วยการโน้มน้าวจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาช เปลี่ยนแปลงหลักคิดเรื่องน้ำแบบดั้งเดิมที่รอคอยการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะอนุมัติโครงการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่เมื่อไหร่ และที่ไหน ซึ่งในทางปรัชญาแล้วถือว่าพวกเขาเป็นฝายที่ถูกกระทำ (passive) มาเป็นฝ่ายที่ลงมือคิดและลงมือสร้างแหล่งนำ้ด้วยตนเอง ซึ่งในทางปรัชญาถือว่าพวกเขาได้กลายเป็นผู้ที่กระทำการ (active) กระบวนการทำงานแบบนี้ต้องใช้เวลาและความเยือกเย็นมากๆ ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เก่าให้กลายเป็นสถานการณ์ใหม่ หรือเป็นความจริงใหม่ แต่สำหรับผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในมือ การวินิจฉัยและเลือกที่จะยอมรับชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่งซึ่งในสังคมนั้นมีชุดความรู้อยู่หลายชุด จะช่วยทำให้ชุดความรู้หนึ่งที่ถูกเลือกกลายเป็นความจริง (truth) ของสังคมขึ้นมาทันที เพราะชุดความรู้นั้นมีอำนาจที่ถูกกฎหมาย (authority) และมีความชอบธรรม (legitimacy) รองรับอยู่นั่นเอง เรามาคอยดูกันว่าแนวความคิดข้างต้นของผมจะเป็นจริงไหม” นายสังศิตกล่าว