อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามชุมนุม หลังพบพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง ยกเหตุ 10 ข้อเรียกร้อง นศ.มธ. จับตาชุมุนมใหญ่ 19 ก.ย.หากจาบจ้วงสถาบันฯ ฟ้องแน่
วันนี้ (24 ส.ค.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หลังจากได้ยื่นเรื่องนี้ให้อัยการสูงสุดพิจารณาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2563 ผ่านมา 25 วัน เมื่ออัยการสูงสุดไม่พิจารณา และไม่ตอบอะไรกลับมา จึงขอใช้สิทธิร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้อง 2 เรื่อง เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมในขณะนี้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีคำร้องดังกล่าว ไม่ให้มีการชุมนุมจนกว่าการพิจารณาคดีนี้จะแล้วเสร็จ โดยคำร้องทั้ง 2 เรื่อง มีเหตุมาจากการเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเรื่องการคุกคามผู้ชุมนุม
นายสนธิญากล่าวว่า ข้อเรียกร้องการยุบสภานั้น ตนเห็นว่าสภาชุดนี้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จนถึงวันนี้มีวาระ 1 ปี 5 เดือน 1 วัน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเกือบ 39 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 51 ล้านคน คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 74.69% ส่วนการเรียกร้องให้ยุบสภาตนเห็นว่า สภาผิดอะไร และประชาชนเกือบ 39 ล้านคนที่เลือกมามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ สำหรับการเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตนก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 จากประชาชนเกือบ 17 ล้านคน การเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประชาชนกว่า 17 ล้านคนที่ลงประชามติรับรู้ด้วยหรือไม่
ส่วนในเรื่องการคุกคามผู้ชุมนุม ที่ผ่านมาการชุมนุมได้ลุกลามไปถึงเรื่องสถาบัน และการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมาที่ ตนได้ไปร้องที่สถานีตำรวจก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ว่าผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ก็พบว่าไม่ได้ขอ และหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ที่มีการจาบจ้วง ละเมิดถึงสถาบันฯ โดยเจาะจง แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ไม่ได้เป็นการชุมนุมตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ
“ฝากถึงน้องๆ นักเรียนที่มีการชุมนุมภายในโรงเรียน คณะครู หรืออาจารย์ จะต้องชัดเจน แจ้งให้เด็กๆได้ทราบว่าสิ่งใดถูกหรือไม่ถูก เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ราชการ มีนักเรียนอยู่จำนวนมาก ย่อมมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน การที่ไปชูมือ 3 นิ้ว เป็นเสรีภาพจริง แต่ในขณะเดียวการไปทำอะไรก็ตาม หรือส่งเสียง ก็ถือว่าไปเบียดบัง หรือไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของคนอื่นเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ถ้าการเริ่มต้นผิดกระบวนการของกฎหมาย การเปลี่ยนก็จะไม่ชอบธรรม“
เมื่อถามว่าการมายื่นเพื่อเป็นการปิดกั้นการนับชุมนุมครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นใช่หรือไม่ นายสนธิญากล่าวว่า ถ้าการจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ถ้ากระทำการเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อมีการชุมนุมแล้วบนเวทีมีกระบวนการจาบจ้วง หรือเรียกร้องพาดพิงไปถึงสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จำเป็นจะต้องร้องศาลรัฐธรรมนูญ