ประชุม กมธ.กฎหมาย อัยการ-ตร.ยกคณะแจงสภาฯ ตามนัด เหตุไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดง กมธ.รุมซักยิบผลตรวจยาเสพติดล่องหน ด้านอดีต ผกก.ทองหล่อ ยันผลยาเสพติดอยู่ในสำนวน สัปดาห์หน้าเรียกพยานชุดใหญ่ชี้แจง
วันนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือ การเชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงกรณีการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มบำรุงกำลังชื่อดัง ที่ขับรถชนตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิตปี2555 แต่ปรากฏว่านายเนตรไม่ได้เดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ. โดยมีนายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 มาชี้แจงแทน ขณะที่ฝ่ายตำรวจที่มาชี้แจงต่อ กมธ.ได้แก่ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.สภ.สมุทรปราการ อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ เข้าชี้แจง ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนที่มาปักหลักรอทำข่าวแน่นห้องประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มต้นการประชุม กมธ.หลายคนพากันซักถามข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ มากมาย เช่น นายรังสิมันต์ โรม กมธ.จากพรรคก้าวไกล สอบถามถึงกรณีผลตรวจร่างกายนายวรยุทธจากทางโรงพยาบาลที่พบมีสารโคเคนในร่างกาย แสดงว่านายวรยุทธขับรถระหว่างเสพสารเสพติด แต่เหตุใดจึงไม่มีเรื่องดังกล่าวอยู่ในสำนวนการสอบสวนของตำรวจที่ส่งให้อัยการ และกรณีนายสุเวช หอมอุบล พ่อบ้านของนายวรยุทธ ที่ออกมารับผิดแทนว่าเป็นผู้ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ได้มีการดำเนินคดีอย่างไร และแสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนให้มีแพะล่วงหน้าใช่หรือไม่ ขณะที่นายคมเดช ไชยศิวามงคล กมธ.พรรคเพื่อไทย สอบถามว่า เหตุใดตำรวจจึงกลับคำเรื่องความเร็วรถเฟอร์รารีของนายวรยุทธ จาก 177 กม./ชม. แต่ 6 ปีต่อมา เปลี่ยนเป็น 80 กม./ชม. ทั้งที่รถราคา 32 ล้านบาท ถ้าขับด้วยความเร็ว 80 กม./ชม.จะเบรกได้ทันที แต่เหตุใดกลับมีรอยลากยาวไป 160 เมตร แสดงว่า มีการบิดเบือนเรื่องความเร็วจริงหรือไม่ และคณะกรรมาธิการกฎหมายและการยุติธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจอะไรสั่งการให้อัยการพิจารณาประเด็นที่นายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่เดิมอัยการไม่มีการรับคำร้องขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ
ขณะที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามว่า เหตุใดตำรวจจึงไม่แย้งคำสั่งอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว และขอให้ กมธ.ใช้อำนาจเรียกคณะ กมธ.กฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาให้ข้อมูลต่อ กมธ.ว่า เหตุใดจึงส่งหลักฐานให้อัยการดำเนินการรับคำร้องขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ ทั้งที่ กมธ.ชุดดังกล่าวไม่มีอำนาจในการสอบหาพยานหลักฐานใดๆ และนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ กมธ.พรรคเพื่อไทย ซักถามถึงกรณีที่อัยการจึงเปลี่ยนแปลงการสั่งคดีจากที่เคยสั่งฟ้องนายวรยุทธมาเป็นสั่งไม่ฟ้อง
ด้าน พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.สภ.สมุทรปราการ อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ ชี้แจงว่า เรื่องรายงานการตรวจสารแปลกปลอมในร่างกายนายวรยุทธอยู่ในสำนวนตำรวจที่ส่งให้อัยการครบถ้วน แต่เหตุที่ไม่มีการสั่งฟ้องในข้อหานี้ เพราะเป็นดุลพินิจของคณะพนักงานสอบสวนหลายคน รายละเอียดเหล่านี้ขอไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ สตช.ตั้งขึ้น ส่วนเรื่องนายสุเวช หอมอุบล พ่อบ้านที่ออกมารับผิดแทนนายวรยุทธนั้น ได้ดำเนินดคีแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จไปแล้วซึ่งศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว ข้อสงสัยที่ว่ามีการเตี๊ยมกันให้นายสุเวชเป็นแพะนั้น คงไม่ใช่ จากการสอบสวนนายสุเวชให้การไม่ได้เลย ไม่น่าจะใช่การเตี๊ยมให้รับผิดแทน ส่วนที่นายสุเวชยอมรับผิดแทนเนื่องจากเป็นพ่อบ้านที่คอยติดตามนายวรยุทธ มีหน้าที่ขับรถตามนายวรยุทธ แต่ที่ออกมารับผิดแทน เพราะเป็นหนี้บุญคุณพ่อของผู้ต้องหา ทั้งนี้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรอหมายเข้าไปตรวจค้นบ้านในวันเกิดเหตุนั้น เห็นสมุดบันทึกเข้าออกภายในบ้านดังกล่าวที่อยู่บนป้อมยาม พบว่ามีการบันทึกว่านายวรยุทธขับรถออกจากบ้านไปตอน 05.00 น.และกลับเข้ามาในเวลาไม่นานหลังเกิดเหตุ จึงสันนิษฐานนายวรยุทธเป็นผู้ต้องหา ไม่ใช่นายสุเวชที่ไม่มีบันทึกการเข้าออก ซึ่งนายสุเวชก็ยอมรับต่อมาว่าไม่ใช่คนขับรถคันดังกล่าว แต่เป็นนายวรยุทธเป็นผู้ขับขี่ ระหว่างเข้าไปตรวจค้นบ้านนายวรยุทธพบรถคันก่อเหตุมีร่องรอยความเสียหาย ซึ่งคนในบ้านยอมรับว่า นายวรยุทธเป็นคนขับ จึงนำตัวนายวรยุทธไปสอบสวน พร้อมขอให้เปิดเสื้อดูรอยบาดแผลว่ามีการขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดจริงหรือไม่ เนื่องจากแอร์แบ็กในรถแตก
นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ชี้แจงว่า สำนวนคดีนายวรยุทธมีทั้งหมด 4 แฟ้ม 5 ข้อหา แต่อัยการ 7 คนที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่เคยเห็นสำนวนทั้งหมดมาก่อนเพราะไม่ได้ดูคดีนี้ตั้งแต่แรก ขณะนี้อัยการทั้ง 7 คนอยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด จึงขอเลื่อนการตอบคำถามต่างๆ เป็นสัปดาห์หน้าต่อ กมธ.จะชี้แจงทุกคำถาม ทุกคำถามต้องมีคำตอบ และยืนยันว่าไม่มีใครแทรกแซงการทำงานได้ เราไม่ได้สอบเพื่อปกป้องคนสั่งหรือคนผิด แต่สอบเพื่อชี้แจงต่อประชาชนให้ได้ ไม่ต้องห่วงจะปกป้องใคร
พล.ต.ท.ชนสิษฐ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คดีนี้แม้แต่ตนและ ผบ.ตร.ก็ยังสงสัย ทำไมไม่สั่งฟ้อง วันนี้หน่วยงานต่างๆ ตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนถึง 3 ชุด จึงขอเวลาในการสอบสวนข้อมูลทั้งหมดก่อน แล้วจะมาชี้แจงต่อ กมธ.ในสัปดาห์หน้าพร้อมกับอัยการ
จากนั้นในช่วงท้ายของการประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยกการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่เข้าร่วมสังเกตการประชุมด้วย เสนอต่อที่ประชุมว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวอยากให้ กมธ.3 คณะ คือ กมธ.กฎหมาย กมธ.ศาล องค์กรอิสระ อัยการ และกมธ.ตำรวจ มาร่วมกันพิจารณาพร้อมกันในวันพุธที่ 5 ส.ค. เพื่อจะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงในคราวเดียว โดยที่ประชุม กมธ.กฎหมาย เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยนายรังสิมันต์เสนอให้ทั้ง 3 กมธ.พิจารณาเรื่องนี้ทั้งวันในวันที่ 5 ส.ค. ตั้งเวลา 09.30 น.เป็นต้นไป โดยให้ กมธ.เรียกเอกสารบันทึกการประชุมของ กมธ.กฎหมาย ยุค สนช. พร้อมเรียก พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตประธาน กมธ.กฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความนายวรยุทธ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด นายฤชา ไกรฤกษ์ รองอธิบดีอัยการ พ.ต.ท.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตนายตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีดังกล่าว นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพะจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ที่ยืนยันรถนายวรยุทธใช้ความเร็ว 80 กม./ชม. ตลอดจนคณะกรรมการ 3 คณะที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาชี้แจงต่อ กมธ.3 ชุดในวันที่ 5 ส.ค.ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ