อดีตเลขา กมธ.ตำรวจฯ สนช. แจงช่วยคดี “บอส” ตาม รธน.เปิดช่องช่วยคนเดือดร้อน ไร้หน้าที่ชี้ผิดถูก ป้องอัยการต้องพิสูจน์ก่อนส่งศาล เชื่อผลวิทยาศาสตร์มากกว่าพยาน ฉะสื่อจินตนาการทำเดือดร้อน สวน“ศานิตย์” สับสนปัดตีตก ขออย่าโยง“วงษ์สุวรรณ”
วันนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย (กมธ.) กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงกรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.ในคดีขับรถยนต์ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ โดยประมาทถึงแก่ความตาย ว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 59 นายธนิต บัวเขียว ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้มายื่นขอความเป็นธรรม ในประเด็นว่า คำสั่งของรองอัยการสูงสุด ที่ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม โดยไม่นำเอาข้อเท็จจริงในส่วนของคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญและรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาสั่งคดี นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงใช้ช่องทางมาร้องต่อ กมธ.ขอให้สอบถามข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเร็วรถในขณะเกิดเหตุ ทาง กมธ.เห็นว่าจึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สนช. เพื่อตรวจสอบตามระเบียบ
ต่อมาศูนย์ดังกล่าวได้รับเรื่องและพิจารณาเห็นว่าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กมธ.กฎหมายฯ และไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะ กมธ.ชุดอื่น จึงส่งเรื่องกลับมาให้พิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ ทาง กมธ.จึงมีมติรับเรื่องไปสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คน คือ อดีตรองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ พยาน 2 ปาก และพยานแวดล้อม 2 ปาก จากนั้นได้ทำหนังสือถึงอธิบการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจ้อมเกล้า พระนครเหนือ ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสภาพความเสียหายและคำนวณความเร็วของรถ โดยได้ส่ง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มาทำการตรวจสอบ และส่งผลการตรวตสอบกลับมายัง กมธ. จากนั้นได้รวบรวมผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งไปยังอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
“ยืนยันว่า การดำเนินการของ กมธ.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 ม.13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เรามีหน้าที่เพียงสอบหาไม่ใช่สอบสวน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการมีความเห็นอย่างไร นายธานี กล่าวว่า ตามอำนาจของ กมธ.ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูก เพราะเราไม่ใช่อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต.ที่จะวินิจฉัยได้ เรามีหน้าที่แค่เสนอผลการศึกษา คำชี้แจงของผู้มาชี้แจง การศึกษาเรื่องการคำนวณความเร็วรถของผู้เชี่ยวชาญ โดยนำเสนอไปยังหน่วยงานทีเกี่ยวข้องให้พิจารณาเท่านั้น
เมื่อถามว่า ผลการศึกษาเรื่องความเร็วไม่ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช่หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า เรื่องนี้แบบออกเป็นสองประเด็น คือ เมื่อคนในองค์กรถึงแก่กรรมก็ต้องเร่งดำเนินการ และได้มีการสอบเพิ่มเติมหลังจากมีการร้องกับ สนช. ทางอัยการสูงสุดได้สั่งให้สอบเรื่องความเร็วว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เจ้าพนักงานจึงไปทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาระดับนายพลจากความเร็วเดิม 177 กม.ต่อ ชม. ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเป็นจริง คือ 76 กม.ต่อ ชม. ก่อนที่จะมาชี้แจงอีกครั้งกับ กมธ. ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดร.สายประสิทธิ์ ที่น่าเชื่อถือเพราะเป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นสมาชิกเอเชี่ยน เอ็นแคป และในรายงานของ กมธ.ที่เสนอไปให้อัยการ คือ 79 กม.ต่อ ชม.
ถามว่าเหตุใดไม่นำข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่งยืนยันว่า ความเร็วรถเกิน 100 กม.ต่อ ชม. มาตรวจสอบ นายธานี กล่าวว่า เพราะ ไม่มีคนยื่นคำร้องมา แต่ทาง กมธ.ได้เชิญสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ยศ พ.ต.ท. ซึ่งทำคดีมาจำนวนมาก มาให้ความเห็นด้วย ก็ยืนยันว่า จากสภาพความเสียหาย ความเร็วไม่น่าจะเกิน 80 กม.ต่อ ชม.
“วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือที่สุด พยานบุคคลยังกลับไปกลับมา ถ้าสงสัยสื่อก็ต้องไปหาความรู้ หาแหล่งอ้างอิงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้กับประชาชนว่าวิธีการสืบหาข้อเท็จจริง โดยที่ว่าเราไม่ได้ว่าจินตนาการ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่การกระทำความผิดไม่เลือกวัย ไม่เลือกความจน ความรวย ทุกคนมีโอกาสทำความผิดกันหมด แต่ข้อเท็จจริงถ้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วศาลจะเชื่อถือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าบุคคล” นายธานี กล่าว
เมื่อถามถึงพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวทั้งที่คดีดังกล่าวผ่านมา 7 ปี นายธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พยานท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง จึงไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเห็นว่าเรื่องเริ่มบานปลายไปกันใหญ่ จึงได้ออกมาเป็นพยานให้ ขอร้องอย่าจินตนาการแบบนี้ อย่านำเปลือกหรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติมาอ้าง ซึ่งอีก 7 วันทางอัยการก็จะรวบรวมหลักฐาน พยาน เพื่อชี้แจง แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยตรวจสอบว่ามีเหตุผลหรือไม่
“อัยการและตำรวจมีหน้าพิจารณามูลเหตุว่าเพียงพอฟ้องหรือไม่ และอัยการเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามอำเภอใจ หรืออัยการก็ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ หรือไม่ใช่พนักงานส่งอาหารที่มาอย่างไรก็ส่งไปอย่างนั้น เขามีดุลพินิจในการวินิจฉัย ถ้าใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจก็จะติดตัวเขาไปจนตาย ตรงนี้ฝากสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนบ้าง ขอให้สื่อใจเย็นและให้สติปัญญากับประชาชน อย่าเร่งเร้า ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานรนรานไปหมด”
นายธานี ยืนยันว่า คณะ กมธ.มีหน้าที่ตรวจสอบแต่ไม่มีอำนาจในการสั่งหรือก้าวก่าย และพนักงานอัยการจะนำผลการศึกษาของกมธ.ไปใช้สั่งสำนวนไม่ได้ แต่หากอัยการสงสัยก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนในประเด็นนั้นๆ เพิ่มเติม และไม่มีการตัดสินชี้ถูกชี้ผิด
ถามต่อว่าทำไมกมธ.ถึงเรียกพยาน 2 ปาก ซึ่งอัยการตีตกพยานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว นายธานี กล่าวว่า มีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของนายวรยุทธ ว่า การไม่ฟังพยาน 2 ปากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายและไม่เป็นธรรม
ถามอีกว่า นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตัวของตระกูลอยู่วิทยา และอดีต ส.ว. เคยร่วมทำงานกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ใน กมธ.การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ปี 51 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ กมธ.กฏหมาย สนช. ปี 57 ซึ่ง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร เป็นประธาน นายธานี กล่าวว่า เท่าที่ทราบ นายธนิต คือ ทนายความที่รับมอบอำนาจให้มายื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว ส่วนจะเป็นตัวแทนนายสมัครหรือไม่ ไม่ทราบ ตั้งแต่ตนเป็น กมธ.ยืนยันไม่เคยเจอนายสมัคร
นอกจากนี้ นายธานี ยังระบุอีกว่า กรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีต ผบช.น. และ อดีต สนช. ออกมาเปิดเผยว่าในชั้น กมธ.ได้ตีตกเรื่องนี้ไปแล้ว นั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ สนช.มีงานเยอะ พล.ต.ท.ศานิตย์ จึงอาจสับสนได้ และย้ำว่า กมธ.ไม่เคยชี้ขาด พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการทำความเห็นให้อัยการส่งสำนวนไปยังตำรวจเพื่อทบทวนอีกครั้ง
นายธานี ยอมรับว่า ผลการศึกษาเรื่องความเร็วของ กมธ. ตรงข้ามกับหลักฐานเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นที่สงสัยของตน และ กมธ.เช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้มาร้องเรียนหลังเจ้าพนักงานทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชา และตัวผู้เชี่ยวชาญที่มาศึกษาก็มีความรู้ความสามารถทำคดีมาหลายคดี มีต้นทุนทางสังคม
ส่วนสภาพของรถที่หลายคนสันนิษฐานว่ายับเยินมากกว่าความเร็วที่ 76 กม.ต่อ ชม. นายธานี ชี้แจงว่า จากรายงานให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องมวลของรถเฟอร์รารีที่หนัก และรถมอเตอร์ไซค์มีมวลรถที่เบา ส่วนหากวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าวแล้วทำไมนายวรยุทธถึงมองไม่เห็น ลากร่างผู้เสียชีวิตถึง 200 เมตรนั้น อาจมีรถกระบะมาบัง จึงมองไม่เห็นคนที่ถูกชน และมีการสันนิษฐานเป็นสองประเด็น คือ รถเบรกแล้วแต่ไม่มีรอย เพราะด้วยประสิทธิภาพของรถหรู หรือมีความเป็นไปได้ว่าไม่เบรก ส่วนเรื่องยาเสพติดในตัวนายวรยุทธ ไม่มีการร้องเรื่องนี้เข้ามา ดังนั้น กมธ.จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ
เมื่อถามย้ำว่า มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องมาที่ สนช. และจากบันทึกของตำรวจนายวรยุทธ ได้มีการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้ตายไปแล้ว อีกทั้งญาติก็ไม่ได้ร้องว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา ถามว่าจะให้สอบประเด็นอะไร เท่าที่ดูข่าวเขาก็ได้รับค่าเสียหายไปแล้วจริงและไม่ติดใจ ที่สำคัญ ทางญาติก็ไม่ได้นั่งรถไปกับผู้เสียชีวิตและเห็นเหตุการณ์ หากไม่เรียกมาจะถือว่า กมธ.ผิด อย่าอคติกับ กมธ.ว่า ช่วย นายวรยุทธ เพราะไม่รู้จะช่วยไปทำไม ยืนยันว่ากมธ.ให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย
“ผมอยากจะเตือนสติสังคมว่าไปย้อนดูว่ามีกี่สื่อ กี่ฉบับที่เมื่อศาลพิพากษาแล้ว หรือยกฟ้อง แล้วมีคนตกเป็นจำเลยตามที่สื่อเสนอ แล้วสื่อไปขอโทษด้วยจิตวิญญาณของวิชาชีพ เขาเสียหายขนาดไหน อยากจะเตือนสติไว้บ้างว่าเราเองขายข่าวได้เป็นประเด็น แต่ต้องมีสติ ให้สังคมได้พัฒนา หยิบเอาประเด็นมาเป็นจินตนาการแบบนั้นแบบนี้ เมื่อเขาพิสูจน์ได้ ก็เงียบไป ไม่เห็นมีสื่อไหนถือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา ขอเถอะ ขอให้มีสติให้สังคมพัฒนาขึ้น ปฏิรูปสื่อสักที” นายธานี กล่าว
ถามทิ้งทายว่าเรื่องนี้มีการโยงไปถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการจินตนาการใช่หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า คงอย่างนั้น อย่าไปผูกโยงว่าคนตระกูลนี้ผิดไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ ก็อย่าเหมารวม เพราะมันไม่เป็นธรรม
คำต่อคำ : ธานี อ่อนละเอียด อดีตเลขานุการ กมธ.การกฎหมายฯ
กราบเรียนท่านสื่อมวลชนทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขออภัยว่ามาแถลงข่าวช้า เพราะหยุดราชการหลายวัน แต่หลักฐานต่างๆ อยู่ที่ทำงาน เรื่องเยอะ ตั้งแต่สมัยเป็น สนช. จำไม่ค่อยได้แล้ว ก็เลยต้องมาดูเรื่องราวเก่าๆ ก่อนว่าเรื่องราวมันเป็นประการใด
ผมขออนุญาตในภาพรวมก่อน ในช่วงท้ายๆ หากพี่น้องสื่อมวลชนมีประเด็นซักถามประการใด เอาไว้ตอนท้าย ก็อยากเรียนต่อท่านสื่อมวลชนในประเด็นเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ต่อคณะกรรมการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเรื่องนี้เขาโดนดำเนินคดี และจะส่งไปพนักงานอัยการสั่งฟ้องบางข้อหา ไม่ฟ้องบางข้อหา แล้วก็ปรากฏว่าเขาก็ร้องขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานอัยการสูงสุด เขากล่าวอ้างว่ามันมีประเด็นซึ่งมีประจักษ์พยาน อดีตผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่อง มีความรู้ความสามารถในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความเร็วของรถ สามารถจะตรวจพิสูจน์ได้ ปรากฏว่ารองอัยการสูงสุดในขณะนั้นก็ไม่ได้นำมาพิจารณา เขาคิดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็เลยใช้ช่องทางในการที่จะมาร้องขอต่อกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ โดยมาร้องเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 59 เขามอบอำนาจให้นายธนิต บัวเขียว เป็นผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ
คณะกรรมาธิการฯ เอง โดยระเบียบของ สนช. ก็ได้ส่งไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน ศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนนี้เป็นศูนย์ซึ่งจะพิจารณาว่าเรื่องที่ร้องเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการไหน เกี่ยวพันเกินกว่า 1 คณะหรือไม่ ถ้า 2 คณะ ก็ต้องมอบหมายให้ 2 คณะมาร่วมพิจารณา แต่ปรากฏว่าเขาพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมฯ มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา สอบถามข้อเท็จจริง ก็ได้ส่งเรื่องให้ยังกรรมาธิการเพื่อพิจารณา
คณะกรรมาธิการฯ ก็ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมาธิการฯ รับเรื่องแล้วเห็นว่าเรื่องร้องเรียนนี้มีตัวตน เข้าองค์ประกอบของการร้องเรียน ไม่เป็นบัตรสนเท่ห์ ขณะที่บัตรสนเท่ห์นั้น ข้อบังคับก็ยังยกเว้นไว้ว่า ถ้าหากบัตรสนเท่ห์นั้น บางคนเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง หลายๆ เรื่องเราก็รับไว้เพราะข้อบังคับเขาบอกว่า ถ้าหากเรื่องร้องเรียนนั้นมีสาระ มีรายละเอียดเพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เรายังรับเรื่องไว้เองได้เลย
เรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งเขามีร้องเป็นตัวตน และมีรายละเอียดว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็เลยมาร้อง จนกระทั่งวันที่ 13 พฤษภาคม กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาแล้วมีมติให้รับเป็นเรื่องร้องเรียนของกรรมาธิการฯ และให้ดำเนินการศึกษา สอบหาข้อเท็จจริง ผมเน้นเส้นใต้คำว่า "สอบหาข้อเท็จจริง" คณะกรรมาธิการฯ ไม่ใช่พนักงานสอบสวนในการสอบสวน แค่สอบหาข้อเท็จจริง และศึกษา รวบรวม ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ นี่คือบทบาทของกรรมาธิการฯ
คณะกรรมาธิการฯ พอรับเรื่อง ก็ดำเนินการเชิญบุคคลต่างๆ ซึ่งในหนังสือร้องเรียนเขาระบุมาว่ามีพยานบุคคลซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์นี้ 2 คน และพยานแวดล้อมอีก 2 คน และมีพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพยานแวดล้อม ซึ่งประจักษ์พยานเองไปเล่าเรื่องให้ฟังว่าตัวเองเห็นเหตุการณ์ แต่ไม่อยากยุ่ง เพราะเห็นว่าเรื่องมันใหญ่โต แล้วก็ไปเล่าให้คนฟัง ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เขาก็ได้ยินได้ฟังมา แต่นี่พอปรากฏว่าเรื่องมันบานปลายไป ก็มีการขอร้องให้เขามาเป็นพยาน ซึ่งทีแรกเขาไม่อยากยุ่ง ก็มาให้การเป็นพยาน
บุคคลที่เป็นพยานแวดล้อม ที่รับฟังมา ก็เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ขณะนี้ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ว่าก่อนที่จะเสียชีวิต ท่านก็ได้มาให้การต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจไว้ ยืนยันว่าเขามาเล่าให้ฟังจริง หลังจากเกิดเหตุ เขาดูทีวีอยู่ ทีนี้พอรวบรวมหลักฐานพอแล้ว ตามพยานหลักฐานทั้งหมด ก็ปรากฏว่ามันมีประเด็นซึ่งจะต้องหาคนที่มีความรู้ทางยุติธรรมที่เพียงพอ และเขาก็ร้องขอมาด้วย ก็ได้ทำหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญ เป็นนักวิชาการ โดยกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ท่านอธิการบดีช่วยส่งนักวิชาการท่านหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถทางเรื่องนี้โดยตรง และเคยทำงาน ไม่ใช่นักวิชาการอย่างเดียวแล้วไม่เคยปฏิบัติเลย ไม่เคยลงไปตรวจ ไม่เคยลงไป อย่างนี้ไม่ไหว มีไหม ถ้ามีส่งมาให้สัก 1 ท่าน ทั้งทฤษฎี ทั้งปฏิบัติด้วย
ท่านก็ได้ส่งรองศาสตราจารย์ 1 ท่าน ก็คือ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมประเมินและความปลอดภัยของยานยนต์ และท่านยังเป็น Member of ASEAN Ncap คือในประเทศไทยมีท่านเดียวที่ไปเป็นสมาชิก ในการประเมินความปลอดภัยระดับอาเซียน ที่ทำการอยู่ที่มาเลเซีย ท่านก็มาให้เหตุผล
ท่านทำรายงานเป็นเล่ม โดยหลักวิชาการ ออกมาเล่มหนาเบ้อเริ่มเลย ทำเป็นรายงานส่งมา โดยอธิการบดีทำหนังสือส่งมายังคณะกรรมาธิการฯ พอเรารวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากการสอบหาข้อเท็จจริง ท่านอย่าไปพิมพ์ผิดว่าเป็นสอบสวนนะครับ "เราไม่มีอำนาจสอบสวน เราสอบหาและศึกษาตามบทบาทของกรรมาธิการ" พอเราได้ข้อมูลข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว ก็รายงานให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณา
คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ก็มีความเห็นว่า ให้รวบรวมผลการศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ ให้เขาไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ท่านช่วยจดตรงนี้ ขีดเส้นใต้ว่า "ส่งให้ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่" สนช. ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส. ส.ว. ก็ดี ไม่มีอำนาจในการสั่งการก้าวล่วงไปถึงหน่วยงานต่างๆ แล้วในรายงานนั้นก็ยึดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการทุกคณะ ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย เรามีหน้าที่ในการศึกษา รวบรวม แค่นั้นเอง เราไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยผิด/ถูก เราไม่ใช่อัยการ เราไม่ใช่ตำรวจ เราไม่ได้เป็น ป.ป.ช. ที่จะมาวินิจฉัยว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก เรารวบรวม ศึกษา แล้วส่งไปให้เขาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของเขา แล้วถามว่าพนักงานอัยการเขาจะเชื่อตามสำนวน หรือว่ารายงานของเราได้ไหม แล้วเอาไปประกอบการสั่ง ไม่ได้ เพราะว่ารายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่นอกสำนวน ถ้าสมมุติว่าพนักงานอัยการเขามีความเห็นประการใด พนักงานอัยการเขาติดใจตรงไหน เขาต้องสั่งให้พนักงานตำรวจไปทำการสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานอัยการยังไม่มีสิทธิ์สั่งเลย ไม่มีสิทธิ์สอบเอง ก็สั่งให้ไปสอบประเด็นต่างๆ โดยให้พนักงานสอบสวนไปสอบมา แล้วก็ใช้ดุลพินิจในการสั่งการ
อันนี้อยากจะกราบเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่า เรา ในสมัยนั้น มีสภาเดียว คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ ส.ส. - ส.ว. เราก็ดำเนินการ ใครมาร้องเรียน เป็นพันๆ หมื่นๆ เรื่อง ช่องทางนี้เป็นช่องทางซึ่งให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ผู้ได้รับความทุกข์ ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม มาเป็นช่องทางที่เขาจะมาใช้ช่องทางนี้ในการที่จะบำบัดปัดเป่าความทุกข์ยากของเขา เราก็ดำเนินการไป แต่ถามเรามีอำนาจไหม เราไม่มีอำนาจ เรามีอำนาจเพียงพิจารณาศึกษาและส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการประการใด เขาต้องแจ้งผลมาให้เราทราบ แล้วเราก็ต้องแจ้งไปให้กับผู้ร้องทราบว่าผลของการพิจารณาต่างๆ ที่ส่งไปแล้ว ได้ผลประการใด ถ้าสมมุติว่าหน่วยงานนั้นไม่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างไร ถ้ามีคนร้องเรียนมาว่าเขาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบประการใด เราค่อยลงไปดูในบทบาทนั้น
ก็อยากจะย้อน เท้าความว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา เขาร้องมาว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากนพนักงาน รองอัยการสูงสุด ทั้งๆ ที่ตำรวจในชั้นต้นไปให้ความเห็นเรื่องความเร็วอย่างหนึ่ง พอรองอัยการสูงสุดท่านหนึ่งซึ่งเกษียณไปแล้ว ท่านก็บอกว่าให้ไปสอบเพิ่มเติมให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ขยายความว่าตกลงแล้วความเร็วเท่าไรกันแน่ และมีพยานเห็นเหตุการณ์ประการใดไหม และพยานนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน ท่านสั่งไป พอสั่งไปแล้วท่านก็เกษียณ ท่านใหม่มาก็ปรากฏว่าสั่งยุติเรื่องร้องเรียน แล้วก็สั่งไปเลย ทีนี้เขาบอกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เลยร้องมาที่นี่ เราก็สรุปเรื่องแล้วก็ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่
ก็อยากจะเรียนว่า กรรมาธิการฯ เมื่อ สนช.หมดไปแล้ว ก็เหลือแต่กรรมาธิการของวุฒิสภา และ ส.ส. เป็นช่องทางหนึ่งซึ่งอยากจะให้ประชาชนมาใช้ช่องทางนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ มาช่องทางนี้ไม่ต้องไปเสียค่าธรรมเนียมในการที่จะมาร้อง มาอะไร ร้องผิดคณะกรรมาธิการ ก็ยังมีศูนย์มาดูว่าคณะไหน ก็จะส่งไปคณะนั้น ถ้ามันเกี่ยวข้องหลายๆ คณะ ก็จะตั้งประธาน และจะตั้งให้มาร่วมพิจารณาศึกษา ก็อยากจะกราบเรียนต่อพ่อแม่พี่น้อง และสื่อมวลชนให้ได้ทราบในเบื้องต้นเท่านี้
คำต่อคำ : ธานี อ่อนละเอียด อดีตเลขานุการ กมธ.การกฎหมายฯ ถาม-ตอบสื่อมวลชน
+++ ถาม-ตอบ +++
ถาม- จุดที่เราทำความเห็นไป ของทาง สนช. เราส่งความเห็นไปว่าอย่างไร
ตอบ- ความเห็นเราจะไม่ชี้ผิดชี้ถูก อย่างที่ได้กราบเรียนไป เราจะรวบรวมว่าพยานบุคคลต่างๆ ที่เขากล่าวอ้างมานั้น ให้การว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยาน เขาเห็นเหตุการณ์อย่างไร เราก็เชิญมาประชุม แล้วเราก็บันทึกไว้ ส่วนรายงานเกี่ยวกับเรื่องผู้เชี่ยวชาญ ดร.สายประสิทธิ์ เขาส่งเป็นรายงานมา เราก็ส่งไป เพราะว่าต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเขาไปพิจารณาวินิจฉัยเอาเอง เราไม่ทำความเห็น เราส่งให้เขาไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ถาม- บทสรุปของผู้เชี่ยวชาญ ดร.สายประสิทธิ์ สรุปมาว่าความเร็วไม่ถึง 100 หรืออย่างไร ? ระบุรายละเอียดไว้ไหม ?
ตอบ- คือมันมี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือว่า พนักงานตำรวจ ก็ต้องยอมรับว่าพอคนในองค์กรถึงแก่กรรม ก็ต้องเร่งในการพิจารณาคดี แล้วพอมีการสอบเพิ่มเติมภายหลัง ก่อนที่จะมาร้องต่อ สนช. ทางอัยการสูงสุดก็ให้ไปสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงที่กระจ่างว่าตกลงความเร็วเป็นอย่างไรกันแน่ มอเตอร์ไซค์วิ่งด้วยความเร็วเท่าไร และรถยนต์วิ่งด้วยความเร็วเท่าไร ซึ่งทางทฤษฎีมันสามารถจะคำนวณได้ ก็คือหาจุด 2 จุด ซึ่งมันตายตัวจากกล้องวงจรปิด จุดแรก จุดที่สอง ผ่านพ้นไปเท่าไร ระยะทางหารด้วยเวลา แต่ละเฟรมใช้เวลาเท่าไร มันเป็นทฤษฎีทางฟิสิกส์ ทางกลศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์ มัน 1 บวก 1 เป็น 3 ไม่ได้ ทฤษฎีก็คือทฤษฎี เขาคำนวณมาแล้วปรากฏว่าพนักงานที่ทำการตรวจพิสูจน์ในเบื้องต้น ความเห็นว่า 177 นั้นคลาดเคลื่อน เขาก็ยืนยันมาว่ามันผิด เหลือประมาณ 76 ประมาณ 70 กว่า แล้ว ดร.สายประสิทธิ์ เองก็ไปใช้วิชาการถอดสมการมา ก็ออกมาประมาณ 79 ก็ทำรายงานเสนอไป ส่วนจะผิด/ถูกอย่างไร ก็ต้องให้หน่วยงานเขาไปพิจารณาเอาเอง
ถาม- ทางกรรมาธิการฯ ได้มีการสอบผู้เชี่ยวชาญคนเดียว หรือหลายคน ที่เอามาเทียบเคียงวิธีการคิดทางฟิสิกส์ไหม ข้อที่สอง ก็คือ ทำไมไม่เอาข้อมูลจากทางพิสูจน์หลักฐานกลางมาประกอบการพิจารณาด้วย ?
ตอบ- มีเชิญท่านหนึ่งมา เป็นพันตำรวจโทท่านหนึ่ง ก็คือท่านเป็นสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ตรวจสอบ เขาทำมาเป็นหลายพันคดี ซึ่งตรวจแล้วเขาก็ต้องไปขึ้นศาล เขามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ก็มาสอบด้วย เขาก็ยืนยันความเสียหาย สภาพรถต่างๆ เขายืนยันว่า ความเร็วไม่น่าจะเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่รายงานครั้งแรก
ถาม- เราตั้งข้อสังเกตไหมว่ารายงานครั้งแรกกับครั้งที่เราสอบ มันไม่ตรงกันแบบคนละด้านเลย ?
ตอบ- ผมก็สงสัยนะ ก็เลยต้องหาคนกลาง คนกลางประกอบไปด้วยคนที่น่าเชื่อถือ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญจริง ก็เลยแจ้งไปดู แล้วหน่วยงานต่างๆ รายไหน แล้วก็สอบถามไป ขอท่านอธิการบดีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่าขอให้ท่านส่งนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านนี้มาสัก 1 ท่าน เราก็ไม่รู้ว่าใคร แต่ว่าท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ เราก็เลยเชิญ มีหนังสือแจ้งไปที่อธิการบดี ท่านก็ได้ส่ง ดร.สายประสิทธิ์ มาร่วมในการให้ความเห็น แล้วก็ตั้งสมมติฐานตามทฤษฎีต่างๆ มีการสอบทานด้วย ตั้งสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างนี้ ผ่านจุดกล้อง รถคันแรก มอเตอร์ไซค์ รถคันที่สอง กระบะ รถคันที่สาม ก็คือรถเฟอร์รารี วิ่งไปด้วยความเร็วเท่าไร หาได้ แล้วจุดชนหาได้ไหม จุดชนหาได้ ก็คือคำนวณด้วยหลักวิชากลศาสตร์ ฟิสิกส์ แรงเสียดทาน คำนวณหาจุดชนได้ ก็ยังไม่เชื่อ ไปวัดจริงก็ตามนั้นเป๊ะเลย คลาดเคลื่อนกันแค่จุดเท่านั้นเอง ก็คือจุดชนสามารถคำนวณได้ วิทยาศาสตร์มันน่าเชื่อถือที่สุด พยานบุคคลยังกลับไปกลับมา วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือ ถ้าท่านสงสัย ผมก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ การอะไร ก็คือจะต้องไปหาความรู้อีกที ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์นะครับ เป็นประโยชน์ในการให้ความรู้แก่ประชาชนว่าวิธีการสอบหาข้อเท็จจริง โดยที่เราไม่ได้จินตนาการหรือมโนเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนู้น น่าจะเป็นอย่างนี้ การกระทำความผิดมันไม่เลือกวัย มันไม่เลือกความจน/ความรวย ทุกคนมีโอกาสทำความผิดกันหมด แต่ข้อเท็จจริงถ้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วศาลก็เชื่อถือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าพยานบุคคล
ถาม- มีการเชิญ พฐ.มาชี้แจงถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไหม ? คนที่เก็บข้อมูลมาเทียบเคียงกับอาจารย์ที่มาจากพระจอมเกล้า
ตอบ- คือจริงๆ แล้วคนที่เขาบอกว่า ทำรายงานไปครั้งแรก 177 เขาก็ไปทำรายงานใหม่ต่อหน้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงสูงสุดของเขา หน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน เขาบอกว่าเขาคำนวณผิดพลาดไป โดยเรื่องระยะทางมันผิดพลาด ทำให้การคำนวณผิดพลาด พอไปวัดจริงอะไรจริงแล้วมาคำนวณใหม่ มันไม่ใช่ตามที่เขาให้ข่าวไว้ทีแรก แต่ทีนี้สื่อก็พิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะมันไปปรากฏในสื่อแล้วก็กระหน่ำกันใหญ่
ถาม- หมายถึงว่าเขากลับคำให้การตอนไหน ตำรวจคนนั้น ?
ตอบ- ก่อนที่จะมาชี้แจงกับกรรมาธิการฯ คือเขาสั่งสอบเพิ่ม ทางอัยการเขาสงสัยว่าตกลงมันอย่างไรกันแน่ ความเร็ว ไปทำ มีเวลาแล้วนี่ เพราะท่านก็ยอมรับแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระแสสังคมติดตามเยอะและเร่งเร้า บีบคั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็อยากจะขออนุญาตว่า สื่อเองต้องใจเย็นนิดหนึ่ง และให้สติปัญญาแก่ประชาชน ไปเร่งเร้ามาก ทำให้เขาทำงานลนลานกันไปหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพอสื่อตาม เขาก็รีบทำ พอรองอัยการสูงสุดท่านสั่งให้สอบเพิ่ม ก็ไปคำนวณ แล้วคำนวณไม่ใช่คำนวณโดยพลการนะ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดมาร่วมพิจารณาด้วย เขาไปวัดจริงอะไรจริง แล้วเขาก็คำนวณใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับ ดร.สายประสิทธิ์ error กันประมาณ 3-4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่านั้นเอง
ถาม- ตอนที่คำนวณใหม่ คือเมื่อไร ?
ตอบ- ตอนที่สั่งสอบเพิ่มครับ
ถาม- ก็เท่ากับว่า 7 ปีหลังจากนั้น ?
ตอบ- ไปจินตนาการอย่างนี้ 7 ปี พยานเพิ่งโผล่ คือผมขอร้องนะว่า ทุกอย่าง อย่าเอาข้อเท็จจริงที่มันยังไม่ยุติมาจินตนาการ มาพิพากษาว่าอันนู้นเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างนั้น ผมขอร้องเรื่องหนึ่งว่าเหลืออีก 7 วัน ทางอัยการเขาก็จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วก็ชี้แจง พอชี้แจง มีเหตุมีผลไหม สื่อก็ค่อยไปตรวจสอบดู แต่ถ้าสมมุติเรามาจินตนาการว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ คือมันไม่ได้อยู่ในข้อเท็จจริง อย่างเช่นคดี 2 คดี เหตุเกิดเหมือนกันเลย เรื่องหนึ่งพิพากษาจำคุก อีกเรื่องหนึ่งยกฟ้อง เพราะว่าข้อเท็จจริงรายละเอียดมันไม่เหมือนกัน อันนี้ให้ข้อเท็จจริงมันปรากฏ รายละเอียดปรากฏก่อน แล้วเขาให้เหตุผลสมเหตุสมผลไหม
พนักงานอัยการทำหน้าที่อะไร ออกแบบมาในการตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ ก่อนถึงศาล มีหน้าที่ในการพิจารณา ใช้ดุลพินิจว่าคดีมีมูลพอที่จะฟ้องหรือไม่ประการใด การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ ก็ไม่ได้ใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ แต่ในขณะเดียวกัน อัยการก็ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ หรือ Grab Food พนักงานส่งอาหาร ส่งไปให้สายพานกระบวนการยุติธรรม โยนเข้าไปในสายพานให้ไปโดนโม่ โดนแป้งก่อน เดี๋ยวตัดสิน 3 ศาล มันไม่ใช่ พนักงานอัยการเขาต้องมีดุลพินิจในการที่จะสั่งการวินิจฉัย แต่การวินิจฉัยนั้นก็ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยโดยอำเภอใจ ตรงนี้ฝากสื่อมวลชนให้ความรู้แก่ประชาชนบ้าง ว่าใจเย็นๆ นิด ให้องค์กรต่างๆ เขาได้ทำงานก่อน คือมันเป็นประเด็น แล้วออกข่าวทุกวันๆ มันจะไปกันใหญ่ ใจเย็นๆ รอ 7 วัน เดี๋ยวทางอัยการเขาชี้แจงมา ก็จะต้องมีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ถ้าสมมุติว่าเขาใช้ดุลพินิจไปตามอำเภอใจ ก่อนเซ็นเขาเป็นนาย เขาเซ็นไปแล้วมันติดตัวไปจนตาย เขาทำด้วยเหตุด้วยผลไหม เขาสามารถจะโดนดำเนินคดีได้ แต่เขาใช้ดุลพินิจไป จะส่งผลประการใด สื่อมวลชนค่อยไปวิพากษ์วิจารณ์ตรงนั้นเอาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาดำเนินการมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ประการใด
ผมอยากจะฝากสื่อมวลชนนิดว่า คือมีเรื่องมีราวเกิดขึ้นมา มันเป็นกระแส ยิ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทำกระพือกันไป บางคนผิด/ถูกยังไม่รู้เลย โดนสื่อ โดนโซเชียลพิพากษาไปเสียแล้ว ผมก็พยายามไปหาว่าที่สุดแล้วที่โดนพิพากษาโดยสื่อกระหน่ำ ความผิด ความถูก ได้พิสูจน์ด้วยการโหวต ความผิด ความถูก ต้องพิจารณาตามเหตุผลและตรรกะของข้อกฎหมาย ไม่ใช่มานั่งโหวตผิดโหวตถูก ย้อนอดีตไปดูในโลกดึกดำบรรพ์ เขาเข้ามาแล้วก็โหวตใครผิด ใครถูก อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าคดีข่มขืน ส่งเข้าไปแล้ว ญาติของฝ่ายผู้ถูกข่มขืนมีเยอะกว่า โหวตผิด อะไรเกิดขึ้น ? มันหมดสมัยแล้ว พัฒนาการมาขนาดนี้แล้ว สื่อก็ตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็จริง แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์วินิจฉัยตามอำเภอใจ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นพนักงานไปรษณีย์ที่จะมาอย่างไร ไปอย่างนั้น เขาก็มีอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และวินิจฉัยชี้ขาด
ถาม- ประเด็นที่ กมธ.ศึกษาเฉพาะเรื่องของความเร็วเท่านั้น หรือมีประเด็นอื่นอีกไหม ?
ตอบ- ก็มีที่เขาร้องมา คือทางพนักงานอัยการ เขาบอกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ฟังเลย ไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม และเรื่องความเร็วนั้น หาข้อยุติให้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร เราก็ได้เชิญมาประชุมเพื่อจะสอบหาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมันค่อนข้างจะยุติ แต่ว่าผิด/ถูก เราชี้ไม่ได้ เพราะว่ามันเกินอำนาจ เรามีหน้าที่ แต่เราไม่มีอำนาจ บทบาทของสภานิติบัญญัติฯ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายฝ่ายบริหาร เพียงแต่ส่งให้เขาไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ถาม- มติของเราวันนั้นเป็นอย่างไร ?
ตอบ- มติให้รวบรวมผลการศึกษาสอบหาข้อเท็จจริง ส่งให้หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเขา พนักงานอัยการเขาจะเอาสำนวนของเรา ผลการศึกษาของเรา ไปสั่งสำนวนเลยไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่พนักงานสอบสวน ผมถึงเน้นย้ำว่า เป็นแค่สอบหาข้อเท็จจริง เขาเห็นประการใด เขาต้องไปสั่งให้... ถ้าเขาสงสัยจริง เขาก็ไปส่งให้ทางพนักงานสอบสวนเรียกไปสอบประเด็นนั้นประเด็นนี้ เรากำลังพิจารณา เขาจะหยิบเอาอันนี้ไปสั่งการไม่ได้
ถาม- มีกระแสข่าวว่า เราลงมติไปประมาณว่าคุณบอสไม่ผิด
ตอบ- ไม่มีครับ คือตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่กับสภาฯ มา 9 ปี เกือบ 10 ปี ตั้งแต่เป็น ส.ว.มา เป็น สนช.มา เราจะยึดหลักนี้มาตลอดว่า เราเป็นนิติบัญญัติ เราไม่ได้มีหน้าที่ในการตัดสินคดี ไม่ได้มีหน้าที่ในการชี้ผิด ชี้ถูก เรามีหน้าที่ในการศึกษา สอบสวน และรวบรวมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ยืนยันได้เลยครับ สบายใจได้
ถาม- ขออนุญาตถามถึงพยาน 2 ท่าน ที่กรรมาธิการฯ เชิญสอบประจักษ์พยาน ทางกรรมาธิการฯ ทราบไหมว่าพยานทั้งสองปากนั้น เดิมทีในชั้นอัยการมีการตีตกไปแล้วเมื่อปี 2555 คือไม่สามารถที่จะรับฟังได้ แต่ทำไมในชั้นกรรมาธิการฯ จึงได้นำมาประกอบและสอบใหม่ ?
ตอบ- คือเขากล่าวอ้างชื่อไป แล้วทางอัยการก่อนที่จะเกษียณ ท่านก็สั่งให้สอบ พอไปสอบมาแล้ว อัยการท่านใหม่เข้ามาก็บอกให้ยุติ เขาบอกว่าที่ยุติตรงนี้ ไม่ฟังเลย มันไม่ชอบ เขากล่าวอ้างมานะ มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาถึงมาร้องขอความชอบธรรมที่กรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ ก็เลยเรียกมาสอบ ส่วนอัยการเชื่อหรือไม่ ก็เป็นบทบาทหน้าที่ของท่านอัยการเขา เราไม่มีสิทธิ์
ถาม- สอบไปตามหน้าที่ ?
ตอบ- ครับ
ถาม- ล่าสุดมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าทีมทนายของคุณบอสเคยเป็นที่ปรึกษาของกรรมาธิการฯ ใน สนช.ด้วย
ตอบ- ไม่มีนะครับ ผมยังไม่รู้จักเลย นาย ? ไม่มีนะ คนที่มาร้อง รับมอบอำนาจมา
ถาม- ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ มีชื่อของคุณสมัคร
ตอบ- ตั้งแต่ผมเข้ามาเป็น สนช. กรรมาธิการฯ เมื่อปี 57 จนกระทั่งถึงปี 62 ประชุมกรรมาธิการฯ ผมยังไม่เคยเห็นหน้าคุณสมัครอะไรเลย ไม่มีครับ ยืนยัน แต่ว่าจะเป็นหรือเปล่า ผมไม่ทราบนะ แต่ว่าไม่เคยเข้ามาประชุม และเรื่องนี้เขาไม่เคยมาก้าวก่าย และทนายที่รับมอบมา อยู่สำนักงานไหน ผมยังไม่เคยเห็นหน้าเลย ชื่อนายอะไร ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว ชื่อนายธนิต บัวเขียว อยู่ที่ไหนผมยังไม่รู้เลย แต่ว่าเขามีหลักฐาน มอบอำนาจมาถูกต้องตามองค์ประกอบของการร้องเรียนมา เราก็รับ
ถาม- ยืนยันว่าคุณสมัครไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ?
ตอบ- ไม่มีครับ ยืนยันได้ว่าตั้งแต่ผมเป็น สนช.มา ไม่เคยเห็นแกเข้ามาร่วมประชุมหรือมาเกี่ยวข้องในกรรมาธิการเลย ไม่เคยเห็นหน้า แล้วคุณธนิต นี่ก็ไม่เคยเห็นหน้านะ เห็นตอนที่เข้ามายื่นและตอนสอบเอง จนป่านนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าเขาอยู่ที่ไหน เป็นทนายอยู่ที่ไหนไม่รู้ ท่านช่วยหาทีสิ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากกรรมาธิการฯ ที่เราจะไปสอบประวัติเขา เราเห็นว่าคำร้องมันถูกต้อง มันชอบ ไม่ขัดต่อระเบียบ เราก็รับเรื่องไว้พิจารณา
ถาม- ท่านศานิตย์ มหถาวร เคยให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.ได้ตีตกเรื่องของคุณบอสไป ไม่ใช่หรือ ?
ตอบ- มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ ท่านศานิตย์อาจจะเข้าใจผิด และก็ต้องยอมรับสมัยนั้น สนช.งานเยอะนะ วันหนึ่งไม่รู้กี่ห้องเลย แต่ผมเป็นเลขาฯ คณะนี้ผมอยู่ตลอด ก็ต้องรับผิดชอบงานของทั้งหมด แต่เรื่องนี้มันก็เป็นไปตามกระบวนการ และเราไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด ถ้าวินิจฉัยว่าใครผิด ใครถูก ผมว่าต้องระดมหลายๆ ท่านมาให้ความเห็น แต่เราไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด เราแค่รวบรวมแล้วส่ง พอรวบรวมแล้วส่ง น้ำหนักในการที่จะมาถกแถลงมันก็น้อยลง
ถาม- ตอนที่ส่ง คือส่งในนาม กมธ. หรือว่าผ่านประธานสภาฯ ?
ตอบ- ส่งไปในนามของกรรมาธิการฯ แจ้งไป ส่วนเขาจะไปดำเนินการอย่างไร เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถาม- ปกติแล้วเรามีการรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์จากคนที่เป็นผู้ต้องหาไหม ?
ตอบ- มีครับ เยอะแยะไปหมด หลายๆ บทบาท บางทีเขาก็มีเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องที่ยังรับเรื่องไว้เลย เพราะว่ามันไม่ลงชื่อ เหมือนบัตรสนเท่ห์ แต่เขามีคำพิพากษา คำตัดสินของศาล เราสอบทานได้ไหม ได้ เราก็มีข้อมูลรายละเอียดว่าทุจริตอย่างนั้นอย่างนี้ มีรายละเอียดพอสมควร ซึ่งข้อบังคับบอกว่า ถึงแม้จะเป็นบัตรสนเท่ห์ แต่มีรายละเอียดเพียงพอและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราสามารถรับเรื่องได้ เราก็รับมาพิจารณา แล้วก็ทำความเห็น
ถาม- ตอนสรุปรายงานไป ทางกรรมาธิการฯ ได้ทำข้อเสนอแนะไปทางอัยการไหมว่า แนะนำให้ส่งเรื่องไปที่ตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้ทบทวน ?
ตอบ- ไม่มีครับ
ถาม- ไม่มีข้อเสนอ ?
ตอบ- ไม่มีครับ เขียนไปเพียงว่า มีมติให้รวบรวมผลการสอบสวน ศึกษา ให้แก่อัยการสูงสุด อธิบดี ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพราะไม่มีสิทธิ์สั่ง
ถาม- แต่เรายอมรับใช่ไหมว่า หลักฐานก็ดี หรือสิ่งต่างๆ ที่เราได้มา มันตรงข้ามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อปี 2555
ตอบ- ในประเด็นเรื่องความเร็วนะคะ เราก็สงสัย ผมก็สงสัย เพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญ เราถึงได้ว่า มันน่าจะมีคนกลางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผมเองผมก็ไม่รู้ เขาถอดสมการทฤษฎีโน้นทฤษฎีนี้ แล้วก็เฟรม เขารู้กันทั้งนั้น เฟรม มันคล้ายๆ ไฮสปีด เป็นช็อตๆ ก็ถอดสมการออกมา แล้วคำนวณมา แล้วตั้งสมมติฐานว่าจุดชนอยู่ตรงไหน ก่อนที่จะไปวัด เขาใช้สูตรคำนวณมาว่า รถคันนี้วิ่งด้วยความเร็วเท่านี้ รถมอเตอร์ไซค์วิ่งด้วยความเร็วเท่านี้ 30 คันนี้ไม่เกิน 80 วิ่งด้วยความเร็วเท่านี้ คำนวณหาจุดชนได้ไหม ผมถามไปนะ เขาบอกหาได้ เขาก็บอกว่าห่างจุดอ้างอิงไปประมาณ 180 เมตร ผมไปตรวจ วัด ตรงเลยครับ ตรงกับจุดชน ซึ่งเรื่องวิทยาศาสตร์มันตายตัว และมันมีความน่าเชื่อถือ แล้วผมก็ถามว่า มันเป็นไปได้ไหม รถวิ่ง 170 กว่า เขาบอกว่าถ้าวิ่ง 177 แล้วก็ซ้าย 30 ขวา 170 นี่ฟิ้ว หายไปแล้ว คงชนกันไม่ทัน เขาให้ความเห็นอย่างนั้นนะครับ จริง/เท็จ ผมไม่รู้ แล้วเชื่อถือได้ หรือเชื่อไม่ได้ ไม่รู้ ท่านต้องไปถามท่านอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ผมไม่มีความรู้ อย่างประเด็นที่พวกท่านสงสัย ผมก็สงสัย ผมก็ถามไป ท่านก็ตอบมาเป็นเรื่องเป็นราว
คืออย่างไรก็แล้วแต่ ผิด/ถูก ก็ต้องไปสอบสวนกระบวนการ และใช้หลักวิทยาศาสตร์ เราอย่าเพิ่งไปจินตนาการแล้วไปลงโทษเขา คือทุกคนมีโอกาส แต่ไม่ทุกคนได้มีโอกาสแสวงหาข้อเท็จจริง ก็อยากจะฝากให้สื่อให้ความรู้แก่ประชาชนว่า ถึงแม้คดีนี้เป็นคดีที่ให้ความสนใจมาก ท่านให้ความรู้ในเรื่องการขับขี่รถอย่างไร และวิธีการคำนวณหาความเร็วอย่างไร ผมว่าเป็นประโยชน์มากนะครับ ก็ฝากประเด็นนี้ให้ท่านสื่อมวลชนพิจารณาด้วย
ถาม- การศึกษาของกรรมาธิการฯ นอกจากจะพิจารณาถึงการให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้องแล้ว ได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายด้วยหรือเปล่า ?
ตอบ- คือผู้เสียหายเขาไม่ได้ร้องเข้ามาที่กรรมาธิการฯ และในหนังสือเขาก็แจ้งมาแล้ว ทางบันทึกของตำรวจนะ ผิด/ถูกไม่รู้ แต่ว่าทางฝ่ายนายวรยุทธเขามีการชดเชยและได้มีการเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายผู้ตายไปแล้ว
ถาม- แสดงว่าเราฟังความข้างเดียวใช่ไหม ตอนพิจารณา เราไม่ได้ฟังจากผู้ที่เสียชีวิตหรือญาติผู้เสียชีวิตเลยใช่ไหม
ตอบ- เราจะไปเรียกใครมาล่ะครับ
ถาม- ญาติของเขายังอยู่
ตอบ- ญาติเขาเองก็ไม่ได้ร้องมาว่าเขาไม่ได้รับเงินนะ นั่นประเด็นหนึ่ง ประเด็นที่สอง ญาติเขาก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ เราจะไปสอบประเด็นอะไร ? แล้วเท่าที่ดู เขาบอกเขาได้รับค่าเสียหายไปจริง และเขาไม่ติดใจ เราก็ไม่รู้ว่าจะเรียกสอบในประเด็นไหนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น เขานั่งรถไปกับคนตาย นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกมาถือว่ากรรมาธิการฯ ผิดแน่ นี่เราไม่รู้จะเรียกสอบประเด็นไหน ค่าเสียหาย ? มันก็ยุติไปแล้ว แล้วในนั้นเขาก็มี ที่ส่งมาให้ว่า เขามีประจำวัน มีบันทึก เขามีการขอบคุณด้วยนะ เราก็ไม่รู้จะสอบอะไร อย่าอคติกับกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่รู้จะช่วยไปทำไม แต่ถ้าใครเดือดร้อนมา ท่านเองมีญาติ ญาติท่านเดือดร้อนมา ก็มาที่กรรมาธิการฯ ได้ เข้าช่องทางปกติ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย
ถาม- ตอนที่เจ้าพนักงานที่ตรวจจับความเร็ว ที่ออกมาให้ความเห็นกับทางกรรมาธิการฯ อีกรอบหนึ่ง ซึ่งตรงกับที่เขาให้ความเห็นรอบที่สองต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ที่บอกว่าจาก 170 กว่า เหลือ 70 กว่า ทางกรรมาธิการฯ มีกระบวนการตรวจสอบหรือป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซง เพราะตอนนี้ก็มีกระแสข่าวออกมาเยอะเหมือนกันว่า การเปลี่ยนความเร็วจาก 170 กว่า เป็น 70 กว่า มีการเข้ามาแทรกแซง
ตอบ- ผมก็สงสัยตรงนี้ไงว่าตกลงมันเป็นอย่างไรกันแน่ ทางกรรมาธิการฯ ต้องให้สิ้นกระแสความ ก็จะใครจะเป็นข้อยุติ ก็คือต้องหาผู้เชี่ยวชาญ ที่เป็นกลาง มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้
ถาม- แต่หมายถึงว่า ถ้ามันผิดคาดขนาดนั้น ทางกรรมาธิการฯ ได้ศึกษา หรือให้ผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาต่อไหมว่า error ที่เกิดขึ้นเยอะขนาดนั้น ประมาณเกือบ 2-3 เท่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือถ้ามันไม่ได้เกิด error มันมีการแทรกแซงหรือไม่ ตามที่มีข่าวลือในช่วงนั้น
ตอบ- เขารับมาอย่างนั้นว่า เขาวัดระยะทางผิดพลาด ทำให้การคำนวณ มันเร็วนะ ระยะทาง หารด้วยเวลา มันแป๊บเดียว มันทำให้ผิดพลาดกันได้เยอะ ทีนี้มันมีการไปวัดใหม่ ทางเราเองไม่ได้ยึดการวัดของเขา เราให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางอัยการ ไปตรวจทาน สอบทานเองโดยตรง ก็ได้ผลประการใด อันนี้ทางวิชาการ ผมเชื่อว่าท่านไปขอความรู้จากท่านได้ ท่านจะได้ชี้แจงให้สังคมกระจ่างเสียหน่อย อย่าเพิ่งพิพากษากัน ใจเย็นๆ ผมดูว่าเรื่องนี้ให้บทเรียนกับสังคมได้เยอะ
ถาม- มีการตั้งข้อสังเกตว่าผลจากการสอบข้อเท็จจริงแล้วส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เหมือนประวิงเวลา
ตอบ- มันคนละส่วนกันนะ เรื่องประวิงผมก็ไม่ค่อยชอบนะ ไปเสนอข่าวในลักษณะนั้นว่ามายื่นที่กรรมาธิการฯ เป็นการประวิง ขั้นตอนของการดำเนินคดีของอัยการก็ว่ากันไปตามระยะเวลากรอบของกฎหมายไป ส่วนที่มายื่นที่กรรมาธิการฯ เราไม่ได้สนใจว่าคดีไปถึงไหน แต่รู้ว่าคดียังไม่ถึงศาล เราก็ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ของเรา เขาก็ไม่มานั่งรอเรา ถามว่าได้ไหม ได้ ทางพนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องมารอผลสอบหรอก เขาดำเนินการไปตามปกติของเขาก็ได้ เราทำรายงานเสร็จเราก็ส่งไป ส่งไปทันหรือไม่ทัน มันนอกเหนืออำนาจเราแล้ว
ถาม- ที่ท่านบอกว่ามีผู้เชี่ยวชาญมาวัดความเร็วอีกรอบหนึ่ง แต่อันนี้มันสิ้นกระแสความไปในฐานะที่สงสัยว่าความเร็วจริงๆ ควรจะเป็นเท่าไร แต่ความสงสัยอีกอันที่้เกิดขึ้นตอนนั้นคือ ทำไม error มันเยอะได้ถึงขนาดนี้ อาจจะส่งผลถึงความไม่เป็นธรรมต่อคดีของคุณบอสด้วย เรื่องนี้ทางกรรมาธิการฯ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบไหมว่าเกิดขึ้นอะไร ถึง error ได้เยอะขนาดนั้น
ตอบ- ประเด็นนี้เขาทำรายงานมาว่าเขาทำหลักวิชาการมาอย่างนี้ ส่วนแตกต่างกับของเดิม ซึ่งของเดิมเขาบอกวัดผิดพลาด เราก็คงไม่ไปจับผิดใคร ก็ให้ทาง สตช.ก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาไปดำเนินการเอาเอง แล้วทางตำรวจก็ตั้งกรรมการภายใน 15 วัน ก็รอให้ทาง สตช.เขาดำเนินการเสียก่อน อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสิน และอีกเรื่องหนึ่ง ผมอยากจะเตือนว่าหน่วยงานต่างๆ พอมีเรื่องมีราวขึ้นมา คนในองค์กรเป็นผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียก็ดี อะไรก็ดี หน่วยงานนั้นควรจะต้องใช้ความระมัดระวังในการที่จะสืบหาข้อเท็จจริงที่เป็นจริง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่าไปทำงานรวดเร็วตามสื่อกดดัน ผมอยากเตือนสติสังคมหน่อยว่า ผมก็อยากจะเห็นว่า ไม่ย้อนดูในอดีตว่ามีกี่ฉบับ หรือมีกี่สื่อ ที่ศาลพิพากษาไปแล้วยกฟ้อง แต่เขาเป็นจำเลยที่สื่อ ที่โซเชียลมีเดียว ไปขอโทษเขา ด้วยจิตวิญญาณของวิชาชีพ เขาเสียหายไปขนาดไหน อยากจะเตือนสติบ้างนะว่าเราขายข่าวได้ มันเป็นประเด็น แต่เราต้องมีสติให้สังคมได้พัฒนา ท่านดูข่าวต่างประเทศสิ เขาเสนอข่าว เขาจะมีระยะห่าง เขาไม่ได้ไปวิพากษ์วิจารณ์กันโขมงโฉงเฉงเหมือนอย่างนี้ หยิบเอาบางประเด็นมาแล้วก็มาจินตนาการต่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นจำเลยไปแล้ว แล้วก่อนเขาจะพิสูจน์ได้ แล้วก็เงียบไป ก็ไม่เห็นมีใครถือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาเลย เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ว่าท่านนะ แต่ว่าขอเถอะ มีสติ ทำให้สังคมพัฒนาขึ้น ปฏิรูปสื่อเสียที
ถาม- ถามเพื่อให้เคลียร์ จะได้ไม่เป็นพื้นที่ให้คนไปจินตนาการต่อครับ คือตรงที่มัน error แล้วเราไม่ได้ให้นักวิชาการไปศึกษาว่าทำไมถึงเกิดอันนี้ขึ้นมา แต่กลายเป็นว่าเราศึกษามามันก็ตรงกับที่เขารายงานรอบสอง ท่านกังวลไหมว่า ถ้ามันเกิดการแทรกแซงของตรงนั้นขึ้นมาจริงๆ เราจะกลายเป็นตรายางโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
ตอบ- คือประเด็นหนึ่ง อาจารย์ท่านมีต้นทุนทางสังคม เขาเป็นนักวิชาการ เขามีความรู้ เขาเป็น Member of Ncap เป็น Member ASEAN Ncap ซึ่งที่ทำการใหญ่อยู่ที่มาเลเซีย เป็นคนเดียวในประเทศไทยที่ไปเป็น member เขามีทุนทางสังคมและเขามีความรู้ความสามารถ ผมไม่ได้เอานักวิชาการที่เก่งทฤษฎีนะ ผมต้องการนักวิชาการและเป็นนักปฏิบัติด้วย เขาทำหลายๆ คดี คดีสำคัญๆ คลี่คลายมาเยอะแยะ ท่านลองไปดูผลงานสิ ท่านทำคดีอะไรมาบ้าง ทีนี้พอท่านให้ความเห็นแล้ว ผมยังไม่มีเรื่องร้องเรียนมาว่าคนแรกเขาให้ความเห็นผิดพลาดอย่างนั้น เขาก็มายอมรับแล้วว่ามันผิดพลาดในเรื่องระยะทางที่วัด error ซึ่ง error มันเกิดขึ้นได้ แต่ว่าเขาออกมายอมรับแล้ว แล้วก็มาเจือสมกับทางอาจารย์ เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปเอาชนะคะคาน เอาเป็นเอาตาย เราไม่มีอำนาจ ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของเขา เขาเองก็ต้องไปดำเนินการต่อในบทบาทของ สตช.
ถาม- อาจารย์ท่านนั้นได้อธิบายไหมว่าถ้ารถคันนั้นวิ่งมาด้วยความเร็วแค่ 70 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำไมสภาพรถถึงเหมือนชนกันค่อนข้างแรง
ตอบ- มันมีมวลนะ เท่าที่ผมจำไม่ผิด มวลรถของเฟอร์รารีมันหนัก มอเตอร์ไซค์มันเบา ปึ้งเดียว ที่เบามันกระเด็น แล้วรถยนต์มันอยู่ทางด้านขวา ก็ล้มมาทางขวา แล้วก็ไปชนกับเกาะกลางแล้วพลิกไปทางซ้าย ที่มันไถลไปไกลมันอยู่ที่ปัจจัยคือ มวลรถ 2 คันเข้ามาหากัน แรงปะทะ ผมก็ไม่มีความรู้นะ อย่ามาถามเลย ถึงแม้ผมจะจบสายวิทย์มา แต่ความรู้ทางด้านนี้โดยตรงผมไม่ทราบ
ถาม- ลากร่างของดาบวิเชียรไปด้วยนะ ไปอีก 200 เมตร
ตอบ- ตรงนั้นเขาไม่รู้ครับ ผู้เชี่ยวชาญเขาไม่รู้ เขาคำนวณจากรายงานและข้อมูลจากสภาพ มันมีอยู่จุดหนึ่งคือเรื่องรอยเบรก รอยเบรกมันไม่มี เขาก็ให้ความเห็นว่ามันเกิดได้ 2 ประเด็น คือ ช่วงนั้นอาจจะไม่มีเบรก หรือมีเบรก แต่ด้วยประสิทธิภาพของรถ อาจจะเบรกแล้วไม่มีรอยเบรก มันก็เป็นการย้อนกลับมาว่าท่านอาจจะไม่เห็น
ถาม- ขับ 80 ไม่เห็น ?
ตอบ- มันมีรถกระบะบัง ซ้าย กลาง ขวา รถผ่านกล้อง ซ้ายสุด ในสุดก็คือมอเตอร์ไซค์ กลางก็คือรถกระบะ เลนที่สามก็คือรถเฟอร์รารี
ถาม- ขออนุญาตย้อนกลับไปที่การสอบหาข้อเท็จจริง กรรมาธิการฯ สอบเฉพาะพยานที่ทางทนายความเขาร้องขออย่างเดียวไหม กับผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่าเป็นตัวกลาง มีการสอบอีกฝั่งหนึ่งที่มาแย้งข้อมูลกันบ้างไหม ในช่วงนั้น ?
ตอบ- ก็นี่ไง ถึงบอกว่าสอบอะไร ? อย่างที่เมื่อกี้ผมตอบ
ถาม- ความเร็ว 177 ที่มีแย้งจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และอีกเรื่องคือเรื่องของยาเสพติด
ตอบ- ตรงนั้นมันนอกจากที่ร้องมา ส่วนยาเสพติด จะมียาเสพติดหรือไม่มียาเสพติด ก็ต้องไปว่ากล่าวในสำนวนกันเอาเอง มันไม่ได้เป็นเรื่องของกรรมาธิการฯ
ถาม- ก็คือสอบที่เกี่ยวข้อง เฉพาะที่เขาร้องมา
ตอบ- ครับ ส่วนอัยการเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แล้วเขาจะเอาสำนวนไปใช้ ก็ไม่ได้ ถ้าเขาเห็นเขาต้องส่งไปให้ตำรวจไปสอบสวนมา แล้วเขาก็ต้องใช้ดุลพินิจอีกที
ถาม- หลังจากที่เราส่งรายงานให้กับอัยการไปแล้ว ตามหลักอัยการต้องไปสอบใหม่หรือเปล่า หรืออ้างอิงจากรายงานกรรมาธิการฯ ได้เลย ?
ตอบ- ไม่ได้ครับ เอาสำนวนรายงานของกรรมาธิการไปสั่ง มันเป็นเรื่องนอกสำนวนครับ อัยการถ้าหากสงสัย เขาไม่มีอำนาจในการสอบสวน เขามีอำนาจในการสั่งให้สอบเพิ่ม พนักงานสอบสวนต้องไปสอบเพิ่มประเด็นนั้นประเด็นนี้ แล้วส่งรายงานการสอบสวนมาให้อัยการพิจารณา อัยการพิจารณาแล้วมีความเห็นประการใด ท่านรออีก 7 วัน
ถาม- ตอนนี้มีความพยายามโยงว่าเป็นเรื่องของการเมืองด้วย เพราะว่ามีน้องของบิ๊กป้อม
ตอบ- ถึงให้ช่วยกันดูว่าบางทีอย่าไปจินตนาการกันมาก มันเป็นงานปกติที่ร้องกันมาในกรรมาธิการ แล้วก็อย่าไปขยายผลเป็นเครื่องมือ อย่าไปหวั่นไหวต่อสื่อ อย่าไปหวั่นไหวต่อสังคม Rule of Law มันต้องยึด กฎหมายคือกฎหมาย อย่าไปบอกว่าเขาเลือกตั้งมาตั้งหลายล้านคน มันต้องมีผลต่อการตัดสิน มันไม่ได้ มันขัดต่อหลัก Rule of Law ท่านก็อย่าไปจินตนาการ เตือนไว้ว่า สื่อก็อย่าไปกดดัน ให้ความรู้กับประชาชน ผมจะไปกราบงามๆ เลยถ้าสื่อช่วยกันให้ความรู้และช่วยกันตรวจสอบ แต่อย่าเพิ่งไปหยิบตรงโน้นหน่อย ตรงนี้หน่อย แล้วก็เอามาวินิจฉัยเอง แล้วก็อาจจะไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ เอาไปขยายผล มันไม่ถูกต้อง
ถาม- ถ้าอย่างนั้นความพยายามที่จะโยงไปถึงน้องชายคุณประวิตร แสดงว่าเป็นการจินตนาการไปเองใช่ไหม ?
ตอบ- ก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะถ้ามองในมุมหนึ่ง ประธานมีอำนาจอะไร อย่างดีก็แค่งดออกเสียง มันเป็นเรื่องของกรรมาธิการฯ ที่จะไปดำเนินการ แล้วท่านแย้งได้ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร เพียงแต่รวบรวมข้อเท็จจริงในการสอบหาและส่งอัยการ มันจะไปก้าวล่วงอัยการเขาได้อย่างไร ทีนี้ก็เอาไปผูกโยงผิดไปหมดเลย ถ้าเขาทำงานไม่เป็นไปตามหน้าที่ ท่านก็พยายามอย่าไปเหมารวม ไปเหมารวมหมดมันก็ไม่เป็นธรรม แล้วก็กลายเป็นเข้าทาง โดนโทษประหารไปแล้ว กว่าจะตัดสินยกฟ้องมา จำเลยเดือดร้อนขนาดไหน ครอบครัวเดือดร้อน มันเป็นไปตามกระแสไม่ได้
ถาม- การดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดของกรรมาธิการฯ สามารถเปิดเผยรายงานการประชุมต่างๆ ต่อสาธารณชนได้ไหม ?
ตอบ- มันมีข้อบังคับอยู่แล้วในรายงานนี้ คือรัฐธรรมนูญใหม่เขาให้เปิดเผย ท่านสามารถเข้าไปดูได้ แล้วจริงๆ เรื่องนี้ท่านลองไปย้อนดูสิ ตั้งแต่เราเสนอไปเมื่อปี 59 สื่อก็ลงนะ ลองไปย้อนดูสื่อสิ สื่อลงเยอะแยะว่ากรรมาธิการได้มีการศึกษาและส่งให้อัยการสูงสุดแล้ว สื่อก็วิพากษ์วิจารณ์ช่วงนั้นแล้ว ไม่ใช่จู่ๆ มาโผล่ปี 62 แปดปี มันไม่ใช่นะ ท่านอาจจะต่อไม่ติด หรือว่าท่านอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเก่า ท่านลองไปดูสิ ปี 59 เราทำไป 6 ธันวาคม พอหลังจากนั้นมาก็มีการเปิดเผย หลายๆ ท่านมาให้ความเห็น สื่อก็ให้ความเห็นหลายๆ อย่าง หลายๆ ท่านด้วย ท่านลองไปย้อนดูข่าว แต่พอเรื่องนี้เกิดขึ้นมาปั๊บ มันก็เลยเป็นประเด็น ท่านก็ลองให้สังคมมีสติ มีความรู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอะไรเกิดขึ้น ตัวบทกฎหมายควรจะปรับปรุงประเด็นไหนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ท่านเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์บ้าง เช่น พนักงานอัยการ เราควรจะปรับปรุงในประเด็นไหนบ้าง สตช.ควรจะปรับปรุงในประเด็นไหน แต่การที่ไปหยิบโน่นมาหยิบตรงนั้นมาแล้วมาพิพากษา เดี๋ยวก็จะเป็นประเด็นการเมือง กลายเป็นเครื่องมือ ก็ขออนุญาตนะ ช่วยกันหน่อย
ถาม- สื่อถามก็เพราะต้องการความกระจ่าง เพราะมันถูกหยิบยกเป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว เราก็เลยมาถามเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
ตอบ- เข้าใจครับ ขอบคุณท่านมาก เพราะผมจะได้มีโอกาสชี้แจง และอย่าไปเหมารวมเอา กรรมาธิการฯ นั้นบทบาทมีแต่หน้าที่ ไม่มีอำนาจ หน้าที่ในการสอบหาข้อเท็จจริง จะไปสั่งการก็จะโดนถอดถอนเสียเอง