MGR Online - คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คดี“บอส กระทิงแดง” ประชุมนัดแรก ชี้เป็นการตรวจสอบการทำสำนวน การใช้ดุลพินิจไม่เห็นแย้งกับพนักงานอัยการ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย้ำไม่ส่งผลต่อคดี เพราะถือว่าสิ้นสุดแล้ว ยันโปร่งใส ไม่มีฟอกขาว หากพบผิดเสนอ ผบ.ตร.ฟันอาญา-วินัย ทันที
วันนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทำคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ประชุมนัดแรกเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ต่อมา พล.ต.อ.ศตวรรษ พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ และ พล.ต.ท.สมชาย ร่วมกันแถลงภายหลังประชุมว่า คณะกรรมการจะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1. การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2. การสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของอัยการ 3. การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งในสำนวนของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยได้มีการแบ่งหน้าที่ทำงานให้คณะกรรมการแต่ละส่วนรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะรายละเอียดข้อเท็จจริง และบุคคลหรือพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่แรก โดยจะมีการประชุมทุกวันในเวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาในรายละเอียด หลังจากนี้จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในส่วนของตำรวจเข้ามาสอบถามในคณะกรรมการทุกท่าน โดยจะพิจารณาการดำเนินการของตำรวจที่รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการว่าได้ดำเนินการถูกต้อง ตามระเบียบหรือไม่
ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก หลังพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และทางตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง ส่วนการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมานั้น เป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ทางตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุลพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่ใช้อำนาจ ผบ.ตร.ในการลงนามไม่เห็นแย้งกับพนักงานอัยการ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว
พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากการตรวจสอบพบว่า มีการกระทำความผิดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การกระทำความผิดที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำความผิดด้านวินัย ซึ่ง ผบ.ตร.ได้สั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ให้ตรวจสอบแล้วเสนอว่าใครกระทำความผิดบ้าง ด้านอาญาก็ให้ส่งทาง ป.ป.ช. ส่วนทางวินัยก็ให้ลงทัณฑ์ทันที ซึ่งเมื่อปี 2559 สมัยตนเองเป็นรอง ผบช.น. เคยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้วพบว่าได้กระทำผิดละเว้นการปฏิบัติในบางขั้นตอนซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช.แล้ว และ ป.ป.ช.ได้มีมติออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำความผิดวินัย และได้ส่งกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ลงโทษกักขัง ภาคทัณฑ์ไปแล้วหลายราย และยุติเรื่องในบางรายที่ได้เกษียณอายุไปแล้ว
พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวถึงพยานใหม่ 2 ปากว่า พนักงานสอบสวนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากพนักงานอัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำการสอบสวนตามที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักกับพยาน 2 ปากนี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมาคดีร้อยละ 97 ที่ถูกส่งมาจากพนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่เห็นแย้ง
ด้าน พล.ต.ท.สมชายกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่ลงนามเห็นแย้งสำนวนคดีดังกล่าวด้วยตนเอง เนื่องจากตามขั้นตอนกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ให้ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. หรือผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ลงนามในความเห็นแย้ง ซึ่งโดยปกติ ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่ละคนเป็นผู้พิจารณาคดีแบ่งกันไปตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละส่วน
พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวในประเด็นนี้ว่า เมื่อมีการแบ่งมอบหน้าที่ตั้งแต่ต้น การลงนามเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง ผบ.ตร.จะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากแต่ละวันมีคดีที่ถามความเห็นมาประมาณ 700 คดี การลงความเห็นตาม ป.วิฯ อาญา มาตรา 140 เป็นเรื่องทางเทคนิค ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญของกองคดีเฉพาะด้านทำ ทุกอย่างจะดำเนินไปตามกลไกตามปกติ ผบ.ตร. จะไม่มีการสั่งเพิ่มเติมใดๆ และขั้นตอนการทำสำนวน จะทำตั้งแต่รอง สว.ขึ้นมาตามลำดับชั้น เป็นงานทางเทคนิคเท่านั้น ไม่ใช่งานสอบสวน
“ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่เป็นการฟอกขาวการไม่แย้งคำสั่งของอัยการของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้สังคมเข้าใจว่าคณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะประชุมทุกวัน และแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ” ผู้ช่วย ผบ.ตร.ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ทางอัยการสูงสุดก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการสั่งคดีเช่นเดียวกัน หากพบว่าเป็นการสั่งคดีมิชอบหรือไม่รอบคอบพอ คดีจะเปลี่ยนหรือไม่ พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงขอดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก หากมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องทางตำรวจคงต้องดำเนินการ แต่ตามหลักตอนนี้ก็พิจารณาในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น ดำเนินการตามระเบียบถูกต้องหรือไม่
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งของ ผบ.ตร.จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1. พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ประธานกรรมการ 2. พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รองประธานกรรมการ 3. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. กรรมการ 4. พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ กรรมการ 5. ผบช.น. หรือ รอง ผบช.น. ที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ 6. ผบก.น.5 หรือ รอง ผบก.น.5 ที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ 7. พ.ต.อ.อมร ศรีทุนะโยธิน รอง ผบก.ภ.จว.สระบุรี กรรมการ 8. พ.ต.อ.ดนุ กล่ำสุ่ม รอง ผบก.สำนักงานกฎหมายและคดี กรรมการและเลขานุการ 9. พ.ต.ท.เจริญศักดิ์ ลีสนธิไชย รอง ผกก.กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ 10. พ.ต.ท.วิมลทิพย์ บุรี สว.ฝ่ายอำนวยการ1 บก.อก.บช.น. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ