“ศรีสุวรรณ” ชี้พิรุธ 9 ข้อ “บอส อยู่วิทยา” หลุดคดีขับรถชนตำรวจตาย คณะกรรมการตรวจสอบของอัยการ-ตำรวจต้องทำให้กระจ่าง ระบุคดีสำคัญต้องยึดระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดฯ 2547 อย่างเคร่งครัด เหตุใดรอง อสส.สั่งคดีแทน อสส.ได้
วันนี้ (28 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น กรณีที่เกิดขึ้นมีข้อพิรุธและข้อสงสัยที่สังคมไทยต้องการคำตอบจากอัยการและตำรวจถึง 9 ประเด็น ดังนี้
1) ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดการสั่งคดีอาญาที่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดเท่านั้น เหตุใดรองอัยการสูงสุดจึงสั่งแทนได้
2) การระบุมีพยานใหม่ 2 รายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เพิ่งมาโผล่เป็นพลเมืองดีเมื่อเวลาผ่านไป 7 ปีมาแล้ว ซึ่งพยานในลักษณะนี้ในทางคดีไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้ มีพิรุธ แต่ทำไมอัยการจึงให้น้ำหนักกับพยาน 2 รายดังกล่าว
3) การที่ผู้ตรวจสอบความเร็วให้การในครั้งแรกว่า บอสขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม.เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ความเร็วของรถลดลงเหลือเพียง 76 กม./ชม. ซึ่งอัยการก็เชื่อตามนั้นได้อย่างไร เมื่อประจักษ์พยานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือ จุดที่จักรยานยนต์ผู้ตายไปตกอยู่ห่างจากจุดที่ชนถึง 163.6 เมตร หากความเร็วรถยนต์ 76 กม./ชม.จะลากยาวขนาดนั้นได้อย่างไร
4) ข้อมูลการพบสารแปลกปลอมในร่างกายของนายบอส ตามที่ สน.ทองหล่อ ประสานมาให้ รพ.รามาธิบดีตรวจสอบพบ 1. สาร Alprazolam (อัลปนาโซแลม) 2. สาร Benzoylecgonine (เบนซอยเลกโกไนน์) 3. สาร Cocaethylene (โคเคเอทีลีน) และ 4. สาร Caffeine (กาเฟอีน) ทำไมจึงไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ที่ส่งไปยังอัยการเลย เช่นนี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่
5) การร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ สนช.ซึ่งมิได้มีหน้าที่ใดๆ ในทางคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเลยนั้น อัยการให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีข้อพิรุธมากมาย
6) การปล่อยให้บอสหลบหนีไปต่างประเทศหลังจากประกันตัวออกไป โดยไม่มีการติดตามและระมัดระวังอย่างเพียงพอ และไม่สามารถนำตัวมามอบให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ จนนำไปสู่การขอเลื่อนคดีถึง 7 ครั้ง การกระทำเช่นนี้ในทางคดีเรียกว่าเป็นการประวิงคดี อัยการไม่รู้เชียวหรือ
7) การตั้งข้อหาให้นายดาบตำรวจที่เสียชีวิตว่าเป็นจำเลยร่วมในคดี ทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียหายในคดีซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่สังคมรับรู้ร่วมกัน เป็นเทคนิคทางคดีที่เด็กอมมือก็รู้ แต่อัยการไม่รู้เชียวหรือ
8) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่ามีมูลความผิดตำรวจ 7 นาย ฐานเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในข้อกล่าวหาหลายๆ ข้อ ซึ่งล้วนมีน้ำหนักในทางคดีมาก เหตุใดอัยการจึงไม่ให้น้ำหนักต่อรายงานของ ป.ป.ช.ดังกล่าว
9) คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจกันของสาธารณชน เป็นคดีใหญ่ ในการสั่งคดีนั้นต้องคำนึงถึงระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 โดยเคร่งครัดให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ตามข้อ 5 ณ เวลานี้ท่านอัยการได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือ
“วันนี้คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ 7 คนจะประชุมกัน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของฝ่ายตำรวจก็จะต้องหาข้อสรุปกันภายใน 15 วันนั้น ก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่การทำลายเสาหลักแห่งความยุติธรรมไปเสียสิ้น ถ้าเสาหลักล้ม หน่วยงานของพวกท่านก็จะมีปัญหาตามไปด้วย” นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด