เฉลยแล้ว! ป้าย “ล้มเจ้า” ในม็อบ “ปิยบุตร” ยืมปาก “พิธา” อธิบาย “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ” ขณะ “หมอวรงค์” ตอกย้ำ มีนักการเมืองหนุนหลังเชื่อมต่างชาติ ด้าน “สาธิต” นักธุรกิจอินเดียรักในหลวงสุดทน ขอถก “บิ๊กแดง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ก.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ “พรรคก้าวไกล - Move Forward Party”
โดยแชร์ กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนญัตติด่วนขอให้สภาเปิดรับฟังความเห็นนักศึกษาประชาชน 23 ก.ค. 63
สาระสำคัญระบุว่า “สุดท้ายผมไม่แน่ใจว่าถึงวันนี้ พวกเราและสังคมไทยทั้งหมดพร้อม หรือต้องการ ที่จะรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ หรือไม่ ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า นอกเหนือจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มเยาวชนนั้น ในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการแสดงออกในโลกออนไลน์ ยังมีเยาวชนและประชาชนอีกมากมาย ที่ได้แสดงออกถึงประเด็นอื่นๆ ที่เป็น Inconvenient Truth หรือ ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับสังคมไทย
ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ ถึงเวลาแล้วครับที่เราต้องยอมรับว่า ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจเหล่านั้น เป็นความรู้สึกแห่งยุคสมัย เป็นผลผลิตของปัญหาที่พวกเราล้วนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาและหมักหมมเอาไว้ให้ลูกหลาน
ถ้าพวกเราพร้อมและต้องการที่จะรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ ผมขอเชิญชวนให้ตั้งสติเสียใหม่ เปิดใจ ปรับมุมมอง แล้วลงมือหาทางออกของประเทศไปด้วยกัน
แต่ถ้าเราไม่พร้อม เราก็จะมองเห็นเพียงแค่ว่า ผู้เป็นอนาคตของชาติเหล่านั้น เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นนั้น ประเทศก็จะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตของประเทศด้วยมือของพวกเราเองแล้ว”
#ก้าวไกล #ประชุมสภา #ให้มันจบที่รุ่นเรา #เยาวชนปลดแอก
ก่อนหน้านี้ มีโพสต์เฟซบุ๊กของหลายคนตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สบายใจ เป็นห่วง และติงเตือน กรณีมีการชูป้าย หมิ่นสถาบันอยู่ในม็อบแทบทุกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครห้ามปราม จนตั้งข้อสงสัยว่า มีกลุ่ม “ล้มเจ้า” ผสมโรงอยู่ด้วย หรืออยู่เบื้องหลัง หรือไม่
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก โพสต์หัวข้อ “ม็อบมุ้งมิ้งตราเด็กสมบูรณ์”
เนื้อหาระบุว่า “สิ่งที่น่าสนใจ หลังจากเกิดม็อบนักศึกษาขึ้น แทนที่จะได้กระแสขานรับจากประชาชน แต่กลับตรงกันข้าม นั่นคือต่อต้านและไม่เห็นด้วย สะท้อนผ่านคำพูด “ม็อบมุ้งมิ้ง” ซึ่งเป็นคำที่กระแสสังคมขานรับ เพราะดูแล้วกลายเป็นเด็กๆ กำลังเล่นอะไรกันอยู่
เหตุผลที่น่าสนใจ และควรเป็นข้อคิดให้กับน้องๆ ที่คิดจะทำม็อบ นั่นคือ
1. เงื่อนไขของการชุมนุม ทุกการชุมนุมจะไปต่อได้หรือไม่ ต้องมีเงื่อนไขที่เป็นการทำร้ายชาติ และประชาชน โดยเกิดจากการกระทำของรัฐบาล
อาทิ ทุจริตคอร์รัปชันอย่างร้ายแรง เช่น โครงการรับจำนำข้าว ใช้อำนาจไม่ชอบ เช่น การออกกฎหมายล้างผิดให้คนผิด หรือมีการกดขี่ข่มเหงด้วยอำนาจเผด็จการ
ในครั้งนี้กลับไม่มีพฤติกรรมนี้จากรัฐบาล แต่เกิดจากเฟกนิวส์เสียมากกว่า
2. ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ เพราะแกนนำที่ขึ้นเวทีมีความชัดเจนว่า เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองบางพรรค สิ่งของที่มาสนับสนุนการชุมนุมก็มาจากพรรคการเมือง
แม้การปราศรัยบนเวที ก็เกี่ยวพันกับการยุบพรรค ซึ่งเป็นผลประโยชน์เฉพาะตนของพรรค จึงทำให้ประชาชนไม่เอาด้วย
3. การใช้วาจาหยาบคาย ก้าวร้าว ในที่ชุมนุมอาจมีความสะใจ แต่การถ่ายทอดผ่านโซเชียลในวงกว้าง ประชาชนเขารับไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้คำพูดไอ้สัส ไอ้เหี้ย
4. ความเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการไม่ชัดเจน ประชาชนส่วนใหญ่ยังสับสน ที่พยายามใช้วาทกรรมเผด็จการกับรัฐบาลปัจจุบัน
เพราะทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ล้วนมาจากการเลือกตั้งชุดเดียวกัน มาตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และมองไม่เห็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพตรงไหน
5. จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง นับเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของม็อบ ที่มีการแอบแฝงการล้มล้างสถาบัน โดยเอาประเด็นประชาธิปไตยมาบังหน้า
ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบ รวมทั้งผู้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ มามีส่วนกำหนดการชุมนุมของม็อบ
ทั้งๆ ที่ปัญหาทางการเมืองทั้งหมดเกิดจากนักการเมือง ต้องแก้ที่นักการเมือง แต่ไปตีโจทย์เรื่องการล้มล้าง จึงยิ่งทำให้ประชาชนหมดศรัทธา
6. การปรากฏตัวของโจชัว หว่อง ทำให้สังคมไทยแคลงใจ เกรงกลัว “ฮ่องกง โมเดล” ซึ่งเป็นม็อบที่ต้องการให้เกิดความรุนแรง และเรียกร้องต่างชาติเข้ามาแทรกแซง
ยิ่งทำให้เชื่อว่า ม็อบมุ้งมิ้งไม่บริสุทธิ์ นอกจากมีนักการเมืองคุมอยู่ข้างหลัง ยังเชื่อว่าเชื่อมโยงกับต่างชาติด้วย เข้าข่ายชักศึกเข้าบ้าน
7. พ่อแม่ลุงป้าน้าอา เรียนหนังสือมามากกว่า ประสบการณ์มากกว่า เป็นสิ่งที่นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ต้องตระหนัก พลังขับเคลื่อนของน้องๆ รุ่นนี้ เทียบกับตุลา 2516 ไม่ได้
เพราะเกือบ 50 ปีที่แล้ว คนไทยเรียนมหาวิทยาลัยน้อยมาก พลังนักศึกษาจึงชี้นำสังคมได้ แต่ปัจจุบัน รุ่นพ่อแม่ลุงป้าน้าอา ส่วนใหญ่เรียนหนังสือ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมทั้งปริญญาโท และเอกเต็มเมือง
จึงทำให้รุ่นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาปัจจุบันนี้ มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า การชี้นำสังคมของคนรุ่นใหม่จึงมีข้อจำกัด
สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นข้อจำกัดของ “ม็อบมุ้งมิ้ง” และที่สำคัญ แกนนำม็อบบางคนมีภาพลักษณ์อันธพาลเกเร เป็นเครื่องมือนักการเมือง แถมมีภาพลักษณ์อุดมสมบูรณ์ วันหนึ่งสังคมอาจเรียกว่า “ม็อบมุ้งมิ้งตราเด็กสมบูรณ์”
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน กรณี นายสาธิต เซกัล นักธุรกิจชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 70 ปี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เตรียมเดินทางมาพบ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เวลา 13.00 น. ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ พร้อมมวลชนที่สนับสนุน เพื่อหารือเรื่องการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเบื้องต้นทางสำนักงานเลขานุการ กองทัพบก ได้มอบหมายให้หัวหน้าแผนกกองประชาสัมพันธ์ให้การต้อนรับและรับมอบหนังสือร้องเรียน บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก
ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กแดง” ผู้บัญชาการทหารบก อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะให้ส่งตัวแทนเข้าพบ หรือให้ยื่นหนังสือผ่านผู้แทนสำนักงานเลขานุการ กองทัพบก เนื่องจากมีมวลชนเดินทางมาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง แม้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่ห้ามเรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป แต่ก็ถือว่ายังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค อีกทั้งกังวลว่า จะกลายเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ กรณี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ฉีกรูป พล.อ.อภิรัชต์ ในระหว่างขึ้นอภิปรายตอบโต้กรณี พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร นายทหารประจำกรมยุทธการทหารบก โพสต์เฟซบุ๊ก เรียก “ม็อบมุ้งมิ้ง” บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการแจ้งความเอาผิดแต่อย่างใด (จากไทยโพสต์ออนไลน์)
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลไทย สังคมไทย ฟังเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือไม่ และแม้แต่กลุ่มคนที่ต่อต้านการแสดงออก “ล้มเจ้า” ก็ยังเชื่อมั่นในพลังบริสุทธิ์ของคนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจ และไม่มีนักการเมือง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชี้นำ หนุนหลัง หลอกใช้เป็นเหยื่อ ด้วยข้ออ้างเรียกร้องเอาประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ประชาชน รวมถึงข้ออ้างอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น สิ่งที่ต้องแยกแยะให้ชัดเจน ก็คือ การชุมนุมของเยาวชน นักศึกษา เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ทุกคนสนับสนุนในการแสดงออก
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ การแอบแฝงแสดงออกถึงการหมิ่นสถาบันที่คนไทยเคารพรัก ซึ่งเชื่อว่า นักศึกษา และผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็น อันนี้คือ สิ่งที่คนรับไม่ได้
กระนั้น, ดูเหมือนการอภิปรายของ “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะยอมรับว่า นี่คือ ประเด็นอื่น ที่สังคมไทยจะต้องเปิดใจรับฟังด้วย และหาทางออกร่วมกัน เพราะเป็น Inconvenient Truth หรือ ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับสังคมไทย
เท่ากับ “ยอมรับ” ว่า รู้เห็นการเรียกร้องประเด็นนี้? และยังถือหางด้วย ส่วนคนไทยจะเห็นเป็นอย่างไร จะพิจารณาอย่างไร เมื่อมีม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีนักการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา บางกลุ่ม ต้องการให้เรื่องนี้มีทางออก และจบที่รุ่นเขา ก็อยู่ที่คนไทยจะยอมรับได้หรือไม่ เป็นสำคัญ!